Lifestyle

แก้ไขวัยเตาะแตะขาดสารอาหาร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผู้ปกครองไม่ค่อยมีเวลาเตรียมอาหารให้ลูกเอง ส่งผลต่อคุณภาพอาหารของเด็ก

         สองปัญหาน่าเป็นห่วงในเด็กเล็กวัยเตาะแตะอายุ 1-3 ปี คือการขาดวิตามินแร่ธาตุ และการเจริญเติบโตไม่สมดุล อาจส่งผลให้มีโอกาสเติบโตไม่สมวัย ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งที่มีผลโดยตรงต่อภาวะโภชนาการเด็กวัยนี้เรียกว่า “ความไม่มั่นคงทางอาหาร” ซึ่งหมายถึง ครอบครัวมีอาหารไม่เพียงพอ อาหารที่กินอาจไม่ปลอดภัย หรือเป็นอาหารไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ ผู้เลี้ยงดูก็จะใช้วิธีจำกัดอาหารของสมาชิกครอบครัวหรือบังคับการกินอาหารที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ ด้วยเหตุนี้จึงอาจนำไปสู่การบริโภคอาหารที่มีคุณค่าโภชนาการด้อยลง

แก้ไขวัยเตาะแตะขาดสารอาหาร

แก้ไขวัยเตาะแตะขาดสารอาหาร

ดร.อุรุวรรณ แย้มบริสุทธิ์

        ประเด็นดังกล่าว ดร.อุรุวรรณ แย้มบริสุทธิ์ นักวิชาการหน่วยมนุษยโภชนาการ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รวบรวมงานวิจัยที่เคยมีในต่างประเทศมาสรุป เรื่อง “ความไม่มั่นคงทางอาหารและโรคอ้วนในเด็ก” ตีพิมพ์ในวารสารสาธารณสุขศาสตร์ ปีที่ 48 ฉบับที่ 1 (ม.ค-เม.ย.61) กล่าวโดยสรุปว่า แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสังคมในปัจจุบันที่ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว พ่อแม่ทำงานนอกบ้านทั้งคู่ และในครอบครัวที่ยากจน ผู้ปกครองอาจไม่สามารถจัดหาอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสำหรับเด็ก รวมทั้งวิธีการเลี้ยงดูซึ่งผู้ปกครองไม่ค่อยมีเวลาเตรียมอาหารให้ลูกเอง ส่งผลต่อคุณภาพอาหารของเด็ก เช่น เด็กอาจได้รับมื้ออาหารต่อวันลดลง กินผัก-ผลไม้สดน้อยมาก หรือในอีกทางหนึ่ง เด็กอาจได้รับอาหารทอด-อาหารรสหวานมากขึ้น จึงมีโอกาสสูงมากที่จะทำให้เด็กได้รับพลังงานมากเกินและอาจทำให้เกิดการขาดวิตามินแร่ธาตุในช่วงวัยนี้

แก้ไขวัยเตาะแตะขาดสารอาหาร

         “แนวทางแรกที่สำคัญมาก คือ แม่ต้องมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง เกี่ยวกับวิธีจัดอาหารมื้อหลัก คือ อาหารห้าหมู่วันละ 3 มื้อ และอาหารว่างวันละ 2 มื้อ เพื่อให้ลูกได้รับพลังงานและสารอาหารต่างๆ อย่างเพียงพอ ผัก ผลไม้สดต้องมีให้ลูกกินทุกวัน พร้อมด้วยการสร้างนิสัยการดื่มนมให้ลูกตั้งแต่เล็ก ตัวอย่างความรู้โภชนาการที่คุณแม่คุณพ่อหรือผู้ดูแลเด็กวัยเตาะแตะต้องรู้ให้ชัดเจน เช่น ผัก-ผลไม้สด เป็นแหล่งรวมวิตามินแร่ธาตุจำเป็นต่อการเจริญเติบโต อาทิ วิตามินเอ มีในตับ ฟักทอง ผักใบเขียวและผักที่มีสีเหลือง-ส้ม ช่วยบำรุงเนื้อเยื่อร่างกายและประสาทตา ธาตุเหล็ก ได้จากเนื้อสัตว์ ตับ ไข่แดงและผักใบเขียวเช่นกัน เป็นส่วนประกอบสำคัญของเม็ดเลือดแดง นำพาออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย วิตามินบี 12 ช่วยกระตุ้นระบบประสาทและสมอง มีมากใน ไข่ และเนื้อสัตว์ เช่น ปลา ไก่ วิตามินบี 6 อยู่ในเนื้อสัตว์ ปลา ถั่ว มันฝรั่ง กล้วย มีส่วนช่วยควบคุมการทำงานของสมองและเนื้อเยื่อ โฟเลต ได้จาก ผักใบเขียวต่างๆ เห็ด ถั่วเมล็ดแห้ง และตับ ซึ่งมีส่วนช่วยการสร้าง ส่วนประกอบของเซลล์และเม็ดเลือดแดง ป้องกันอาการซีด ยังมีสารอาหาร ดีเอชเอและโอเมก้า 3 ที่ได้จากปลาทะเล สารอาหารกลุ่มนี้มีส่วนช่วยพัฒนาสมองและระบบประสาทสัมผัสซึ่งกำลังเติบโตมากในช่วงวัยนี้ ดังนั้น แต่ละมื้อแต่ละวันจึงต้องให้ลูกกินอาหารที่มาจากแหล่งต่างๆ ที่หลากหลายเพื่อให้ได้สารอาหารครบ” ดร.อุรุวรรณ กล่าว

แก้ไขวัยเตาะแตะขาดสารอาหาร

          อีกแนวทางหนึ่งคือ "นักวิชาการหน่วยมนุษยโภชนาการ" เผยว่า ต้องให้ลูกกินนมเป็นอาหารเสริม เพราะโดยธรรมชาติแล้ว นมเป็นแหล่งรวมสารอาหารที่เด็กวัยเตาะแตะต้องการ อาทิ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน B2 วิตามิน A แคลเซียมและฟอสฟอรัส วัยเตาะแตะจึงควรกินนมสดรสจืดเป็นประจำทุกวัน วันละ 2-3 แก้ว เสริมกับอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบ 5 หมู่  ซึ่งในช่วงวัยนี้ แม้นมจะลดบทบาทมาเป็นอาหารเสริม เด็กที่ยังกินนมแม่อยู่ก็ควรให้นมแม่ต่อไป ส่วนเด็กที่ไม่ได้กินอาหารที่ครบถ้วนสมดุลทุกมื้อทุกวัน นมเสริมสารอาหารสำหรับเด็กเล็ก ที่มีการเสริมวิตามินและเกลือแร่โดยเฉพาะกลุ่มที่มักจะมีปัญหาขาดแคลนในวัยนี้ เช่น วิตามินดี และธาตุเหล็ก ก็เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับเด็กวัยเตาะแตะที่มีปัญหาเติบโตช้า และช่วยลดโอกาสในการขาดสารอาหารที่จำเป็นได้

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ