Lifestyle

มะนาว..ในตลาดอาเซียน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทำกินถิ่นอาเซียน : มะนาว..ในตลาดอาเซียน : โดย ... รศ.สมพร อิศวิลานนท์

 
                    ในช่วงนี้หากใครที่ต้องไปจ่ายตลาดทั้งในตลาดสดหรือในศูนย์การค้าจะเห็นป้ายบอกราคามะนาวหากเป็นผลใหญ่ก็จะตกผลละ 10 บาท หากย่อมลงมาหน่อยก็จะตกผลละ 8 บาท หรือหากเป็นผลเล็กลงมาก็จะมีราคาผลละประมาณ 4-5 บาท หน้าร้อนมะนาวจึงแพง และเป็นเช่นนี้มาทุกปี เราจะเรียกมะนาวที่เก็บเกี่ยวในช่วงนี้ว่ามะนาวนอกฤดู การมีอุปทานผลผลิตน้อยแต่อุปสงค์ค่อนข้างคงที่จึงเป็นแรงกดดันให้ระดับราคามะนาวปรับตัวสูงขึ้น
 
                    มะนาวเป็นพืชสวนซึ่งในอดีตเป็นไม้ที่ปลูกไว้ภายในรั้วบ้านในชนบท แล้วทยอยเก็บผลมาใช้เพื่อการปรุงรสอาหารของครัวเรือนมาอย่างยาวนาน ในปัจจุบันการบริโภคมะนาวพัฒนาไปสู่การเป็นเครื่องดื่มด้วยเช่นกัน ความต้องการที่มีมากขึ้นทำให้การเพาะปลูกมะนาวเปลี่ยนจากการเป็นพืชสวนครัว กลายมาเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง สามารถสร้างรายได้ดีให้เกษตรกร หากมีเทคนิคจำเพาะให้มะนาวเก็บเกี่ยวได้นอกฤดูในราวเดือนเมษายนของทุกปี เพราะช่วงนี้ราคามะนาวจะสูงมาก
 
                    มะนาวเป็นพืชพื้นเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือภายใต้ประชาคมอาเซียนในปัจจุบัน ผู้คนในภูมิภาคนี้รู้จักและใช้ประโยชน์จากมะนาวมาช้านาน อีกทั้งภูมิปัญญาพื้นบ้านแต่โบราณได้ใช้มะนาวเป็นสมุนไพรบำบัดโรค เช่น โรคเลือดออกตามไรฟันเพราะมีวิตามินซีสูง รวมถึงการแก้อาการเจ็บคอ
 
                    สำหรับในหลักวิชาการสมัยใหม่ได้อธิบายถึงคุณค่าด้านโภชนาการของมะนาวว่าอุดมไปด้วยกรดซิตริก กรดมาลิค และกรดเอสคอร์บิก ซึ่งเป็นกรดผลไม้กลุ่มหนึ่งช่วยในการกระตุ้นเซลล์ทำให้เซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพหลุดลอกช่วยขจัดรอยแผลเป็นให้จางลง อีกทั้งยังมีสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ รวมถึงธาตุอาหารอย่างเช่นฟอสฟอรัส แคลเซียม แมกนีเซียม เป็นต้น
 
                    ข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติรายงานว่าในปี 2556 การผลิตมะนาวในอาเซียนมีประมาณ 144,097 ตัน ในจำนวนนี้เป็นผลผลิตของไทยร้อยละ 91.72 ประเทศที่ต้องนำเข้ามะนาวมากที่สุดในอาเซียนได้แก่สิงคโปร์ โดยคิดเป็นร้อยละ 36.04 รองลงมาได้แก่มาเลเซีย ร้อยละ 34.19 ทั้งนี้เพราะในประเทศสิงคโปร์ไม่มีพื้นที่เพาะปลูกมะนาว
 
                    ส่วนในมาเลเซียและประเทศอื่นๆ ในอาเซียนการปลูกมะนาวยังไม่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรที่จะเพาะปลูกในเชิงพืชเศรษฐกิจ อีกทั้งพันธุ์มะนาวที่ใช้เพาะปลูกก็ไม่มีการปรับปรุงพัฒนาเหมือนในประเทศไทยที่มีความก้าวหน้าในการปรับปรุงพันธุ์อย่างมากในอาเซียน
 
                    แหล่งเพาะปลูกมะนาวของไทยจะอยู่ในภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาได้แก่ภาคเหนือ ผลผลิตมะนาวของไทยจะใช้เพื่อการบริโภคภายในประเทศกว่าร้อยละ 90 มีการส่งออกเป็นส่วนน้อย โดยมีการส่งออก 216 ตัน ในปี 2556 ในจำนวนนี้ส่งออกไปประเทศลาวมากที่สุดจำนวน 106.6 ตัน ส่วนการส่งออกไปยังประเทศอาเซียนอื่นๆไม่มีข้อมูลปรากฏ
 
                    มะนาวจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่นอกจากจะมีตลาดผู้บริโภคภายในประเทศรองรับแล้ว มะนาวกำลังจะก้าวเป็นสินค้าดาวเด่นของไทยในตลาดการค้าเสรีอาเซียนได้ในอนาคต เพราะประเทศภายในภูมิภาคอาเซียนต่างมีข้อจำกัดในการเพาะปลูกมะนาว
 
                    ดังนั้น หากเกษตรกรไทยได้เตรียมความพร้อมเพื่อการเข้าสู่ระบบการผลิตที่ดี ได้มาตรฐานความปลอดภัยแล้ว มะนาวไทยมีโอกาสเติบโตได้อีกมากในตลาดอาเซียน ครับ
 
 
 
-----------------------
 
(ทำกินถิ่นอาเซียน : มะนาว..ในตลาดอาเซียน : โดย ... รศ.สมพร อิศวิลานนท์)
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ