Lifestyle

พลิกนาร้างฟื้นข้าวโบราณ'ข้าวช่อขิง'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พลิกนาร้างฟื้นข้าวโบราณ'ข้าวช่อขิง'ผลิตภัณฑ์ทำเงินกลุ่มสตรีมุสลิมพรุชิง : สุพิชฌาย์ รัตนะ

         ข้าวดีมีคุณภาพครบวงจรที่นาทีนี้มาแรงแซงทุกโค้ง ต้องยกให้ “ข้าวช่อขิง” ข้าวพันธุ์โบราณท้องถิ่นของภาคใต้ตอนล่าง ผลผลิตที่ถูกปลุกกระแสการบริโภคนิยม โดยกลุ่มสตรีฟื้นฟูนาร้างบ้านพรุชิง ต.ท่าม่วง อ.เทพา จ.สงขลา ที่รวมตัวกันพลิกฟื้นนาร้างให้กลายเป็นนาข้าวโบราณพันธุ์ดี พันธุ์หายาก ที่ขึ้นแท่นเป็นพืชบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่อยู่คู่ผืนนาของ อ.เทพา จสงขลา
    
         ฮาลีส๊ะ หมันหมาด ประธานกลุ่มสตรีฟื้นฟูนาร้างบ้านพรุชิง ผู้กุมบังเหียนนำทัพสตรีมุสลิมไถหว่าน ดำนาปลูกข้าวจนเขียวขจี กว่า 300 ไร่ และที่สำคัญสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ชุมชน “ข้าวช่อขิง” ที่ไม่ใช่แค่มีรายได้เพิ่มแต่ช่วยขยับความปลื้มปริ่มให้ทุกคนภาคภูมิใจที่มีคำชื่นชมหลั่งไหลมาจากทุกสารทิศ
     
         ฮาลีส๊ะ เล่าให้ฟังว่า กว่าจะเป็นนาข้าวชาวบ้านต้องล้มลุกคลุกคลานอยู่หลายปีเพราะไม่ใช่แค่นาที่ร้าง แต่คนก็ร้างความรู้และร้างฝีมือในการทำนาไปนานเช่นกัน ทุกอย่างจึงต้องค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ เรียนรู้และที่สำคัญคือทำให้เห็น หลังจากที่มีโอกาสเข้าร่วมอบรมหาอาชีพสร้างรายได้เสริมที่เหมาะสมให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ลืมตาอ้าปากพ้นจากความยากจน หนึ่งในนั้นคือโครงการพลิกนาร้างของกองอำนวยการรักษาความมั่นภายในภาคที่ 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4สน.) ที่เดินหน้ารณรงค์ให้ชาวบ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอรอยต่อสงขลา ประกอบด้วย อำเภอจะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย หันมาใช้ประโยชน์จากผืนนาอีกครั้ง
    
         “กรีดยางได้ตังค์ก็เอาไปซื้อข้าว แล้วถ้าปลูกข้าวได้ด้วยก็น่าจะดีเพราะมีข้าวให้กินได้ทั้งปี” ข้อความจุดประกายความหวังที่มองหาอาชีพเสริมจึงเริ่มต้นขึ้น “ฮาลีส๊ะ” บอกว่า รวมกลุ่มกันครั้งแรกมีสมาชิกประมาณ 15 คนเมื่อปี 2551 เริ่มต้นทำนำประมาณ 10 ไร่ปัจจุบันมีนาข้าวเพิ่มเป็น 300 ไร่และสมาชิกเพิ่มเป็น 60 คน โดยการเรียนรู้ที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายเข้ามาช่วยเหลือทั้งให้องค์ความรู้ นวัตกรรมใหม่ๆ และช่องทางการตลาด โดยเฉพาะวิทยาลัยชุมชนสงขลาที่แนะนำให้ปลูกพันธุ์ข้าวโบราณ “ช่อขิง” ที่ได้ผลเกินคาดหวังเพราะวันนี้ไม่ได้เป็นแค่ข้าวบริโภคในครัวเรือนเท่านั้น แต่ยกระดับชั้นเป็นสินค้าของดีประจำอำเภอเทพาที่มีผู้บริโภคออเดอร์จับจองสินค้าแบบข้ามปี
    
         นอกจากนี้ยังมีสหกรณ์การเกษตรนิคมเทพาที่ช่วยเหลือรับซื้อข้าวเพื่อจำหน่ายต่อทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องการตลาด “ข้าวที่ไหนๆ ก็ปลูกได้เอาไว้กิน แต่ถ้าสามารถเพิ่มระดับการปลูกข้าวที่หายากคุณภาพดีจะทำให้มีผลพลอยได้คือรายได้เสริมจากการขายด้วยและในพื้นที่ของเทพาก็มีประวัติการปลูกข้าวพันธุ์ดีที่แต่เริ่มสูญพันธุ์จึงนำกลับมาทดลองปลูกและได้รับตอบรับที่ประสบความสำเร็จ
   
         บุงอห์ แห่เหล็บ สมาชิกกลุ่มสตรี บอกว่า ชาวนาที่นี่จะปลูกข้าวปีละ 1 ครั้งเนื่องจากต้องอาศัยน้ำในช่วงฤดูฝนเพราะระบบชลประทานยังเข้าไม่ทั่วถึงจะเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมของทุกปี พันธุ์ข้าว “ช่อขิง” จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะเบิกทางวิถีการทำนารอบใหม่เพราะเป็นพันธุ์ข้าวที่อึดทนได้ทั้งน้ำแล้งและน้ำหลาก "ข้าวช่อขิงที่นี่เป็นเกษตรอินทรัพย์ 100% สิ่งที่พิสูจน์ได้คือนาข้าวที่นี่มีไส้เดือนช่วยพรวนดิน แถมเก็บเกี่ยวและสีเองเพราะมีโรงสีข้าวประจำกลุ่มเพื่อให้ทุกขั้นตอนตรวจสอบได้ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์มีจำหน่ายทั้งข้าวเปลือก ข้าวสารและผลิตภัณฑ์รูปแบบขนาดต่างๆ เป็นทางเลือกก่อนส่งถึงมือผู้บริโภค ราคาเริ่มต้นถุงละ 50 บาท”
   
         สำหรับคุณสมบัติข้าวช่อขิงเป็นข้าวสีม่วงแดงคล้ายกับข้าวสังข์หยดของ จ.พัทลุง ความหอม ความนุ่มเหนียวและความอร่อยก็คล้ายกัน โดยมหาวิทยาลัยมหิดลตรวจสอบคุณค่าทางธาตุอาหารพบคุณสมบัติมีคุณค่าทางธาตุอาหารสูงกว่าข้าวหอมมะลิหลายเท่าตัว สนใจอุดหนุนผลิตภัณฑ์ ติดต่อที่ทำการกลุ่มสตรี เลขที่ 126 หมู่ 7 ต.ท่าม่วง อ.เทพา จ.สงขลา หรือโทร. 08-9296-1679 หรือ 09-3381-0174
                                           

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ