พระเครื่อง

ปาฏิหาริย์!'สมเด็จเหม็นหลวงพ่ออุ้น'ของ'ทวี เฮงคราวิทย์'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปาฏิหาริย์!'สมเด็จเหม็นหลวงพ่ออุ้น'เรื่องเล่าจากประสบการณ์จริงของ'ทวี เฮงคราวิทย์' : พระเครื่องคนดัง เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

            “ผู้ใกล้ชิดหลวงพ่ออุ้น ต่างรู้กันดีว่า ท่านไม่ใช่พระธรรมดา หรือเป็นพระธรรมดาที่ยิ่งกว่าธรรมดา มีญาณสมาบัติสูง มีสมาธิจิตแก่กล้า หยั่งรู้อนาคต แม้กรวดหินแร่ธาตุต่างๆ ท่านหยิบผ่านมือแล้วมอบให้แก่ใครก็มีอานุภาพพุทธคุณอย่างน่าอัศจรรย์ โดยเฉพาะพระผงสมเด็จเหม็น”

            นี่เป็นคำบอกเล่าในพุทธคุณพระเครื่องของหลวงพ่ออุ้น สุขกาโม หรือ พระครูวินัยวัชรกิจ อดีตเจ้าอาวาสวัดตาลกง ต.มาบปลาเค้า อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี จาก “นายทวี เฮงคราวิทย์” เจ้าของร้าน “ทวีมิตร” อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี และรองประธานชมรมพระเครื่อง จ.เพชรบุรี

            นายทวี บอกว่า หลวงพ่ออุ้นเป็นพระที่มีอัธยาศัยไมตรีเปี่ยมด้วยเมตตาถือสัจจะบารมีเป็นที่ตั้ง ปฏิปทาศีลาวัตรงดงามบริสุทธิ์ เสมือนทองทั้งแท่ง ท่านใฝ่ใจในเรื่องที่เป็นวัฏสงสาร การเกิด แก่ เจ็บ ตาย บุญกรรมและสิ่งลี้ลับ ธรรมชาติ โดยเฉพาะเรื่องเวทมนตร์คาถาอาคมอักขระเลขยันต์เป็นพิเศษ

            นอกจากนี้แล้ว หลวงพ่ออุ้นยังเป็นพระนักพัฒนา พระนักปฏิบัติ เคร่งครัดพระธรรมวินัย มีบุคลิกลักษณะผิวพรรณผ่องใส อัธยาศัยเปี่ยมด้วยความเมตตากรุณา ใครไปหากราบไหว้ ท่านต้อนรับทุกคนไม่เลือกชั้นวรรณะด้วยไมตรีจิต สมเป็นสมณพุทธบุตรธรรมทายาท เนื้อนาบุญอย่างแท้จริง

            หลวงพ่ออุ้นมีความรู้ความสามารถในไสยเวทพุทธาคม วิปัสสนากัมมัฏฐาน มีญาณสมาบัติแก่กล้า การสร้างวัตถุมงคลขึ้นเป็นครั้งแรกของหลวงพ่ออุ้นคือ การสร้างพระผงสมเด็จเหม็น โดยเริ่มต้นการสร้างใน พ.ศ.๒๔๙๕ และสิ้นสุดลงในปลาย พ.ศ.๒๔๙๗ โดยหลวงพ่ออุ้นร่วมกับพระสงฆ์ภายในวัดตาลกงช่วยกัน หลังจากสร้างพระผงสมเด็จเหม็น มีการสร้างพระผงต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง เช่น พระผงสมเด็จ ๗ ชั้น เนื้อเหม็น พระสมเด็จ ๙ ชั้น เนื้อผสมแร่ พระสมเด็จขี่เสือเนื้อผง เป็นต้น นับรวมกันแล้ว มีพระผงอยู่ประมาณ ๓๐ พิมพ์ได้ ต่อมาได้สร้างวัตถุมงคลด้วยเนื้อแร่เขาพรหมชะแง้ อาทิ พระสมเด็จปรกโพธิ์ พระสมเด็จขี่เสือใหญ่ เสือเล็ก มีพุทธคุณครอบจักรวาลเหมือนดังเหล็กไหล

            นอกจากนี้ยังสร้างวัตถุมงคล พ.ศ.๒๕๔๐ สร้างเหรียญรูปไข่ มี ๔ เนื้อ คือ ทองคำ เงิน นวะ และเนื้ออัลปาก้า พ.ศ.๒๕๔๒ สร้างพระกริ่ง ๓ พิมพ์ คือ พระกริ่งตั๊กแตนใหญ่ พระกริ่งบาเก็ง พระกริ่งจีนสมาธิ และเหรียญหล่อ ๑ พิมพ์ คือ เหรียญหล่อสุริยประภา จันทรประภา พ.ศ.๒๕๔๔ สร้างพระเนื้อชินปรอท จำนวน ๒ พิมพ์ คือ ๑.เหรียญหล่อซุ้มขุนพลเล็ก ๒.พระสังกัจจายน์ ตำรับวิชาผสมปรอทแบบโบราณ รวมถึงจัดสร้างเครื่องรางต่างๆ มากมาย อาทิ ผ้ายันต์ ตะกรุด หนุมาน เป็นต้น

            “วัตถุมงคลของท่านที่จัดสร้างขึ้นเน้นพุทธคุณด้านคุ้มครองปลอดภัยและได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง นับได้ว่า เป็นพระนักปฏิบัติวิปัสสนาธุระ และสืบทอดพุทธาคมจากบูรพาจารย์ที่โด่งดังในอดีต มากด้วยครูอาจารย์ บริสุทธิ์ด้วยปฏิปทาศีลาวัตร เปี่ยมด้วยเมตตาบารมีธรรม เป็นเนื้อนาบุญของพุทธศาสนิกชนที่พึงเข้าใกล้กราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ” นายทวีกล่าว

            สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาและอยากสะสมพระเครื่องหลวงพ่ออุ้น วัดตาลกง เข้าชมข้อมูลได้ที่เฟซบุ๊ก “หลวงพ่ออุ้น วัดตาลกง” หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ โทร.๐-๓๒-๖-๑๒๗๑


๑๙-๒๐ ธ.ค.ประกวดพระท้องถิ่นเพชรบุรี

            จ.เพชรบุรี มีสุดยอดพระเกจิอาจารย์ที่โด่งดังมากมาย สืบเนื่องแต่ยุคก่อน พ.ศ.๒๕๐๐ เช่น หลวงพ่อมี วัดพระทรง หลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม หลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล หลวงพ่อกุน วัดพระนอน หลวงพ่อนาค วัดหัวหิน หลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง หลวงพ่อชิต วัดมหาธาตุ หลวงพ่อในกุฏิ วัดกุย หลวงพ่อทอง วัดดอนสะท้อน หลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง หลวงพ่อเปี่ยม วัดเกาะหลัก หลวงพ่อโศก วัดปากคลองบางครก หลวงพ่อชม วัดสิงห์ เป็นต้น

            ส่วนยอดพระเกจิหลัง พ.ศ.๒๕๐๐ ที่เป็นศิษย์สืบทอดวิชาโดยตรงจากรุ่นก่อน ที่โด่งดัง เช่น หลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ หลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ หลวงพ่อแผ่ว วัดโตนดหลวง หลวงพ่อทองสุข วัดบันไดทอง หลวงพ่อแฉ่ง วัดคงคาราม หลวงพ่อแล วัดพระทรง หลวงพ่อเพลิน วัดหนองไม้เหลือง หลวงพ่ออินทร์ วัดยาง หลวงพ่อสงฆ์ วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย หลวงพ่อจีด วัดถ้ำเขาพลู หลวงพ่ออุ้น วัดตาลกง หลวงพ่อยิด วัดหนองจอก หลวงพ่อท้วม วัดบางสะพาน เป็นต้น

            อย่างไรก็ตาม เพื่อนำรายได้ทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่ายสมทบทุนสร้างกุฏิทรงไทย วัดตาลกง และเพื่อเป็นการอนุรักษ์และเพิ่มพูนความรู้ในการชมพระเครื่องและวัตถุมงคลท้องถิ่นให้ถูกต้องตามหลักสากล ชมรมพระเครื่องจังหวัดเพชรบุรีร่วมกับวัดตาลกง ได้จัดการประกวดการอนุรักษ์ พระเครื่อง พระบูชา เหรียญคณาจารย์จังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดใกล้เคียง จัดโดยในวันอาทิตย์ที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๘ ณ วัดตาลกง ต.มาบปลาเค้า อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี จำนวน ๑๒ โต๊ะ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ