พระเครื่อง

พระหลวงพ่อพาน'ราคาแรง!เหรียญรุ่นแรกพ.ศ.๒๕๑๙แตะหลักแสน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พระหลวงพ่อพาน'ราคาแรง!เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.๒๕๑๙ ราคาแตะหลักแสน เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

           พระเครื่องและวัตถุมงคลของพระครูประวิตศีลาจาร หรือหลวงพ่อพาน สุขกาโม อดีตเจ้าอาวาสวัดเฉลิมราษฎร์ (โป่งกะสัง) ต.หาดขาม อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์เข้าสนามประกวดพระครั้งแรกที่สนามประกวดพระของตำรวจภูธร ภาค ๗ ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน จากนั้นก็เข้าสนามประกวดพระของคณะนักเรียนนายร้อย จปร.รุ่นที่ ๒๕ ณ ศูนย์นิทรรศการไบเทคและการประชุม บางนา และจะเข้าสนามประกวดพระของโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพรานอีกครั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๘

           ปัจจุบันนี้พระหลวงพ่อพานรุ่น ๑ เนื้อทองแดง ที่ติดรางวัลที่ ๑ อย่างกับสนามประกวดพระของตำรวจภูธร ภาค ๗ ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน มีคนจ.ประจวบคีรีขันธ์ มาขอเช่าทันที่ในราคา ๑๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนอีกรุ่นหนึ่งที่ขึ้นชื่อว่าแพง คือ ล็อกเกตที่ออกเมื่อปี ๒๕๓๗ มีราคาไม่ตำกว่า ๕-๖๐,๐๐๐ บาท ในขณะที่พระหลวงพ่อพานรุ่น ๒ ราคาประมาณ ๒๐,๐๐๐-๒๕,๐๐๐ บาท ส่วน รุ่น ๓ อยู่ที่ ๔,๐๐-๖,๐๐๐ บาท เหตุที่ราคาทั้ง ๓ รุ่น มีความแตกต่างกันมาก เพราะยังเล่นกันหฒุ่แคบๆ เท่านั้น

           เหรียญรุ่นแรก ๒๕๑๙ ด้านหลังมียันต์ที่น่าสนใจดังนี้

           ๑.อะ ในอุณาโลม อะ ตัวนี้ ย่อมาจาก คาถาหัวใจยอดพระนิพพาน ที่ว่า “อะ ระ หัง สุ คะ โต ภควา” หรือ “อะ ระ หัง สัม มา สัม พุท โธ” ส่วน อุณาโม หมายถึง ภูมิปัญญาของพระพุทธเจ้า
           
           ๒.คาถาหัวใจ พญาเต่าเรือนที่ว่า (ด้านล่างของตัว นะ อุณาโลม) “โม นา สัง สิ” ต้องการ คุ้มกันภัย ป้องกันเสนียดจัญไร ซึ่งเป็นคาถาตัวเดียวกับที่ลงหลังเหรียญทองคำ ทั้งนี้การลงยันต์ลงบนหลังพญาเต่าเรือนจะใช้วิธีเขียนควงกัน ๔ บท คือ ๑.นา สัง สิ โม ๒.สัง สิ โม นา ๓.สิ โม นา สัง และ ๔.โม นา สัง สิ

           อุปเท่ห์คาถาพญาเต่าเรือน มีมากมาย แล้วแต่จะใช้ไปในทางใด ทั้งในรูปแบบของคาถาอาคม หัวใจพระคาถา พญาเต่าเรือน โองการ พญาเต่าเรือน อักขระเลขยันต์ พญาเต่าเรือน ได้บันทึกไว้เป็นตำราปรากฏอยู่ในสมุดข่อย สมุดขาว สมุดดำ อายุนับร้อยปี โดยขั้นต้นให้ท่องนะโม ๓ จบ ก่อน

           ๓.ยันต์แถวกลาง มีคาถา ๒ บท ต่อเนื่องกัน คือ คาถาหัวใจ พญาเต่าเรือน ที่ว่า “โม นา สัง สิ” และ คาถาหัวใจพระรัตนตรัยที่ว่า “อิ สะ วา สุ” ใช้ด้านคุ้มกันภัย
           
           ๔.ยังแถวล่างสุดเป็น คาถาหัวใจยอดพระนิพพานที่ว่า “อะ ระ หัง” เป็นพระเนมิตกนามของพระพุทธเจ้า และเป็นบทพุทธคุณบทหนึ่งในจำนวน ๙ บทมีพุทธคุณ ป้องกันภัย เป็นคาถาระงับดับทุกย์โศกโรคภัย

           “พระหลวงพ่อพานเป็นพระที่แรงด้วยประสบการณ์ โดยเฉพาะคนในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และใกล้เคียง เมื่อพระมีราคาเป็นเรื่องธรรมดาพระหลวงพ่อพานมีปลอมทุกรุ่น โดยเฉพาะรุ่น ๑ ถึง รุ่น ๔ ทั้งเนื้อทองคำ และเนื้อเงิน แต่ฝีมือการทำปลอมยังห่างไกล” นี่คือความเห็นของ “ด.ต.วิรัตน์ อาจสัญจร” ผบ.หมู่งานจราจร สน.บางยี่ขัน กทม. ผู้สะสมจัดพิมพ์หนังสือพระหลวงพ่อพาน และกรรมการตัดสินพระเครื่องโต๊ะหลวงพ่อของสมาคมพระเครื่องพระบูชาไทย

           ด.ต.วิรัตน์ ยังบอกด้วยว่า หากวัดความนิยมพระหลวงพ่อพานจากผู้ส่งพระเข้าประกวดต้องถือว่ามีคนนิยมเล่นหากันมาก เพราะงานประกวดพระที่ผ่านมาทั้ง ๒ งาน มีคนส่งพระเข้าประกวดกว่า ๓๐๐ องค์ ไม่แพ้พระโต๊ะอื่นๆ ส่วนใหญ่จะเป็นคนจาก จ.ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี ส่วนในกรุงเทพฯ มีบ้างแต่ไม่มาก ซึ่งเป็นตามกลไกของการเล่นพระ คือ ตั้งได้รับความนิยมจากคนในพื้นที่ก่อน จากนั้นก็ขยายวงไปสู่จังหวัดใกล้เคียงก่อนที่เซียนจากส่วนกลางเข้ามาเล่นหา ทันที่เมื่อเซียนส่วนกลางเล่นหาสิ่งที่ตามมา คือ ราคาพระต้องแพงขึ้นทันที่เช่นกัน


แจกฟรี!หนังสือหลวงพ่อพาน


           หลวงพ่อพาน สุขกาโม อดีตเจ้าอาวาสวัดเฉลิมราษฎร์ หรือวัดโป่งกะสัง ต.หาดขาม อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้มาจำพรรษาที่วัดโป่งกะสังและเป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่ปี ๒๕๑๓ ขณะที่ยังเป็นสำนักสงฆ์ หลวงพ่อพานท่านเป็นพระปฏิบัติมีความมุ่งมั่นในการก่อร่างสร้างวัดโป่งกะสังที่ยังไม่มีอะไรเลย ให้เป็นวัดที่มีสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นมากมายจากบารมีของท่าน

           เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕ ขณะนั้นหลวงพ่อพาน ยังมีชีวิตอยู่ ชาวบ้านโป่งกะสังได้เหมารถบัสใหญ่ เพื่อไปนมัสการหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ แห่งวัดบ้านไร่ หลวงพ่อคูณได้เห็นเหรียญที่ห้อยคอของผู้ที่ไปนมัสการท่าน จึงได้ถามว่า “หลวงพ่ออะไร” ได้รับคำตอบว่า เป็นเหรียญของหลวงพ่อพาน วัดโป่งกะสัง หลวงพ่อคูณจึงกล่าวกับผู้ไปนมัสการว่า “พวกเองไม่ต้องมาหาข้าถึงที่นี่ด๊อก มันไกล พ่อพานมึงเก่งยิ่งกว่ากูอีก หรือแม้กระทั่งหลวงพ่อยิด วัดหนองจอก ยังต้องยอมท่าน และยังให้ลูกศิษย์ของตนเองไปเอาของดีจากท่าน”

           หลวงพ่อพาน สุขกาโม ท่านเกิดเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2454 ในสกุล พุ่มอำภา ดั้งเดิมท่านเป็นชาวบ้านกล้วย ตำบลบางเค็ม อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี และได้อุปสมบท ณ พ.ศ.2475 ณ วัดหนองไม้เหลือง อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี หลวงพ่อพานท่านเป็นพระศิษย์น้องกับหลวงพ่อเพลิน (พระครูนันทศีลาวัตร) วัดหนองไม้เหลือง อดีตพระเกจิชื่อดังของเมืองเพชรบุรี หลวงพ่อพานท่านย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดเฉลิมราษฎร์ บ้านโป่งกระสัง อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่ พ.ศ.2513 ตั้งแต่วัดยังเป็นสำนักสงฆ์เล็กๆและท่านก็ได้พัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้

           หลวงพ่อพาน มรณภาพเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2539 สิริรวมอายุได้ 84 ปี สรีระสังขารของท่านไม่เน่าเปื่อย ทางวัดได้เก็บรักษาไว้ในหีบไม้เพื่อให้ญาติโยมลูกศิษย์ได้กราบไหว้

           สำหรับผู้ที่สนใจประวัติและการจัดสร้างวัตถุมงคลของหลวงพ่อพาน เข้าไปแจ้งความประสงคขอรับฟรีได้ที่ เฟซบุ๊ค “ชมรมหลวงพ่อพาน วัดโป่งกะสัง”


ของดียังมีอยูที่วัด
 
           พระเนื้อผงรุ่นแรก สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔ ตามประวัติที่หลวงพ่อพานท่านได้เล่าให้นายอรรตภูมิ สร้อยทอง ซึ่งป็นเด็กวัดและบีบนวดท่านเป็นประจำ ฟังว่า พระผงรุ่น ๑ นี้ พอท่านได้เรียนวิชากับหลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวงแล้ว ท่านได้นำผงพุทธคุณไปให้อาจารย์ปลุกเสก แต่หลวงพ่อทองศุขกลับบอกว่า ไหนๆ ก็เรียนวิชาจบหมดแล้วก็มาปลุกเสกด้วยกันสิ ท่านจึงได้ปลุกเสกร่วมกับหลวงพ่อทองศุข

           รุ่นที่ ๒ เป็นพระสมเด็จเนื้อผงอีกเช่นกัน จัดสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ โดยได้นำผงพุทธคุณรุ่นแรกมาผสมด้วย สังเกตให้ดีมวลสารคล้ายกันมาก ๒ รุ่นนี้ โดยรุ่นนี้ได้ปลุกเสกร่วมกับศิษย์ผู้พี่ หลวงพ่อเพลิน ที่วัดหนองไม้เหลือง ต่อมา พ.ศ. ๒๕๒๓ ท่านได้ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดโป่งกะสัง และได้นำสมเด็จรุ่นนี้มาแจกที่วัดโป่งกะสัง ชาว อ.กุยบุรี จึงจัดรุ่นนี้เป็นรุ่นแรกของวัดโป่งกะสัง ส่วนเหรียญรุ่นแรกของท่านจัดสร้างเมื่อปี ๒๕๑๙ จำนวนไม่เกิน ๑ หมื่นเหรียญ เพราะบล็อกแตกเสียก่อน

           รุ่น ๓ สร้าง ๓ เนื้อ ประกอบด้วย เนื้อทองคำ ๘๒ เหรียญ เนื้อเงิน ๘๒ เหรียญ เนื้อทองแดงรมดำ ๖,๐๐๐ เหรียญ รุ่น ๔ เป็นเหรียญหล่อ ทองคำ ๘๔ เหรียญ เงิน ๕๐๐ นวะและทองเหลืองรวม ๕,๐๐๐ เหรียญ เหรียญหล่อนี้หลวงพ่อพานนำมาโรงหล่อที่พรานนกด้วยตนเอง โดยได้นำตะกรุด แผ่นทองแดงที่จารแล้วจำนวนมาก และเงินพตด้วง สตางค์รู

           อย่างไรก็ตามแม้ว่าพระหลวงพ่อพานจะขึ้นชื่อว่าแพง แต่มีพระเครื่องอีกหลายรุ่นทีทันท่านปลุกเสกยังเหลือให้เช่าบูชาที่วัด โดยเฉพาะเหรียญพระพุทธโคดม จัดเป็นเหรียญรุ่นสุดท้าย ของวัดโป่งกะสัง ยังคงมีตกค้างอยู่ที่วัด
 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ