พระเครื่อง

นายวสันต์เบนซ์ทองหล่อผู้สร้างตำนาน'พระสมเด็จแลกรถเบนซ์'

16 พ.ค. 2558

นายวสันต์ เบนซ์ทองหล่อผู้สร้างตำนาน'พระสมเด็จแลกรถเบนซ์' : พระเครื่องสรณะคนดัง เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

             "รับแลกพระสมเด็จกับรถเบนซ์"

             ถือเป็นอีกหนึ่งแผนการตลาดขายรถเบนซ์ ของนายวสันต์ โพธิพิมพานนท์ หรือ วสันต์ เบนซ์ทองหล่อ ประธานเบนซ์ทองหล่อกรุ๊ป ที่ประสบความสำเร็จและยังอยู่ในความทรงจำของคนวงการพระมาเกือบ ๒ ทศวรรษแล้ว

             อย่างไรก็ตามก่อนหน้าโชว์รูมเบนซ์ทองหล่อ (สุขุมวิท ๕๕) ได้เปินศูนย์ “รับตรวจเช็กคพระเครื่องฟรี” ให้ผู้สะสมพระเครื่อง

             โดย กูรู้ ฉ่อย ท่าพระจันทร์ (ผู้เชี่ยวชาญหลวงปู่ทวดอันดับ ๑) พร้อมกับแผนการตลาดที่ว่า “จะแลกเบนซ์ก็ได้ ถ้าจะขายก็ซื้อ"

             "ทุกวันนี้พระสมเด็จแท้ๆ พระเครื่องชุดเบญจภาคี รวมทั้งพระเครื่องยอดนิยมชุดอื่นๆ ยังคงสามารถแลกกับรถเบนซ์ได้อยู่ แต่ต้องเป็นพระแท้เท่านั้น" วสันต์ เบนซ์ทองหล่อ กล่าวยืนยัน พร้อมกับบอกด้วยว่า

             พระสมเด็จ หรือพระชุดเบญจภาคีองค์อื่นๆ แลกกับรถเบนซ์จริงๆ ได้ไม่กี่คัน ส่วนใหญ่ต้องเพิ่มเงิน เพราะสภาพของพระไม่สมบูรณ์ที่มีราคามากพอที่จะแลกับรถได้ ส่วนใหญ่ต้องเพิ่มเงินภายหลัง ขณะเดียวกันบางคนก็เอาพระมาขายเอาเงินสดกลับไป ตั้งแต่มีแผนการตลาดนี้ยังไม่มีใครนำพระชุดเบญจภาคีที่ขึ้นชื่อว่าสวยสมบูรณ์แลกรถเบนช์ไปได้ทั้งคัน หรือต้องให้ทั้งรถและเพิ่มทั้งเงินก็ยังไม่เคยมี

             "ผมเชื่อว่าคนที่มีพระชุดเบญจภาคีสวยๆ ที่มาราคา ๑๐ ล้านบาทขึ้นไป คงไม่มีใครมาแลกกับรถเบนซ์ เพราะเขามีเงินมากกว่านั้น มีมากพอที่จะซื้อด้วยเงินสด ที่สำคัญคือ พระชุดเบญจภาคีสวยๆ นับวันยิ่งจะหายาก ส่วนรถเบนซ์นั้นมีเงินเมื่อไรก็หาซื้อได้" วสันต์ เบนซ์ทองหล่อ กล่าว

             เมื่อถามถึงพระเครื่องที่แขวนติดตัวเป็นประจำ วสันต์ เบนซ์ทองหล่อ บอกว่า แม้จะขึ้นชื่อว่ามีพระชุดเบญจภาคีอยู่ในครอบครองหลายองค์ รวมทั้งเหรียญพระเกจิอาจายร์ชื่อดังในอดีตจำนวนมาก พระเตรื่องเหล่านี้จะนิมนต์ขึ้นคอเป็นบางครั้งเท่านั้น แต่ที่ขาดไม่ได้ คือ พระหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ จะป็นรุ่นไหนก็ได้ที่ 'พระ ครูวิสัยโสภณ' หรือ 'หลวงปู่ทิม ธัมมธโร' พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งวัดช้างให้ จ.ปัตตานี สร้างและปลุกเสก

             พระเครื่องเป็นสัญลักษณ์สร้างศรัทธาย้ำเตือนให้ทุกคนได้กระทำแต่ความดี ปาฏิหาริย์จากความศรัทธาเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องพิสูจน์อะไรมากนักว่า ทำดีย่อมได้ดี ทุกอย่างต้องเริ่มจากเหตุจึงจะมาเป็นผล เช่น อยากกินข้าวก็ต้องปลูกข้าว อยากเรียนจบปริญญาตรีก็ต้องตั้งใจเรียน พระเครื่องจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ทุกคนได้รู้จักกระทำความดี ส่วนบางคนไม่รู้จักการทำดีกลับขอพรจากพระเครื่องขอให้โชคดีร่ำรวยเงินทอง ถ้าเป็นเหตุในลักษณะเช่นนี้คงจะเห็นผลในเชิงปฏิบัติได้ยาก แต่อย่างน้อยก็เป็นการสร้างศรัทธาให้เขาส่วนหนึ่งแล้ว

             ส่วนโครงการอบรมวิปัสสนากรรมฐานของทางบริษัทฟรีนั้น วสันต์ เบนซ์ทองหล่อ ให้เหตุผลไว้อย่างน่าติดว่า “ผมจัดอบรมวิปัสสนาแล้วทำให้สบายใจ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยเหลือสังคมได้เรียนรู้ให้รู้จักการทำบุญ คนที่ใจร้อนเมื่อผ่านโครงการนี้จะทำให้จิตใจเย็นลง ทำให้คนเรามีสติ ซึ่งถือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เพราะการโวยวายอารมณ์ร้อนใครอยู่ด้วยก็เป็นทุกข์ ส่วนคนที่มีสติก็จะรู้ด้วยตัวเองตลอดเวลาว่ากำลังทำอะไร แต่มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ทำอะไรแล้วไม่รู้ตัวนั่นก็เป็นคนที่ขาดสติ การมาเข้าฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐาน จึงเป็นการฝึกให้รู้จักการเดิน การกิน การนอนอย่างมีสติ"

             อย่างไรก็ตามในฐานะนักเรียนเก่าอำนวยศิลป์ นายวสันต์ บอกว่า ในวันอาทิตย์ที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๘ นี้สมาคมนักเรียนเก่าอำนวยศิลป์ขอเชิญร่วมงานมหกรรมงานประกวดพระเครื่อง พระบูชาและเหรียญคณาจารย์ ณ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร บี) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ถ.แจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ

นายวสันต์เบนซ์ทองหล่อผู้สร้างตำนาน\'พระสมเด็จแลกรถเบนซ์\'