พระเครื่อง

‘สันติภาพ ณ พุทธภูมิ’ในทัศนะหัวหน้าพระธรรมทูตอินเดีย-เนปาล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

‘สันติภาพ ณ พุทธภูมิ’ในทัศนะหัวหน้าพระธรรมทูตอินเดีย-เนปาล : ท่องไปในแดนธรรม เรื่อง/ภาพ สำราญ สมพงษ์ นิสิตปริญญาโทสันติศึกษา มจร.

          การเดินทางไปแสวงบุญสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดีย ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรปริญญาโทสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ขณะนี้เปิดการเรียนการสอนเป็นรุ่นที่ ๒ แล้ว และระหว่างวันที่ ๑๐-๑๙ มีนาคมที่ผ่านมา พระมหาหรรษา ธัมมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดี มจร.ฝ่ายวิชาการ ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา ได้นำนิสิตรุ่นที่ ๒  จำนวน ๓๑ รูป/คน เดินทางไปแสวงบุญภายใต้โครงการจาริกแสวงบุญแดนพุทธภูมิตามรอยสันติภาพ ทั้งนี้เพื่อถอดบทเรียนค้นหารหัสไขพุทธสันติวิธีนำไปปรับใช้บริหารจัดการความขัดแย้งของสังคม

          พระมหาหรรษาได้กล่าวถึงเป้าหมายที่นำนิสิตสันติศึกษาตามรอยนักสันติภาพโลกแดนพุทธภูมิครั้งนี้ว่า การเดินทางมาของนิสิตจากแดนสุวรรณภูมิมาสู่แดนพุทธภูมิได้กราบไหว้สังเวชนียสถานซึ่งเป็นแดนพุทธภูมิซึ่งเป็นส่วนภายนอกแล้ว ยังมีเป้าหมายให้นิสิตสันติศึกษาได้เข้าถึงพุทธภูมิภายในอันได้แก่สันติภูมิคือเกิดสันติภายในสัมผัสความเป็นผู้รู้ ตื่น และเบิกบาน  เท่ากับว่านิสิตได้เข้าถึงภูมิทั้ง ๓ ภูมิคือสุวรรณภูมิ พุทธภูมิ และสันติภูมิ

          การแสวงบุญสังเวชนียสถาน ๔ ตำบลที่ประเทศอินเดียนั้นส่วนใหญ่แล้วจะเริ่มต้นที่เจดีย์พุทธคยาตำบลอุรุเวลาเสนานิคมเมืองราชคฤห์ ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการเดินทาง ได้ทำกิจกรรมคือไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเช้าเย็นนั่งสมาธิเจริญจิตภาวนาฟังบรรยายธรรมที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่สัมพันธ์กับเนื้อหาหลักสูตรสันติศึกษาการแก้ปัญหาความขัดแย้งจากพระธรรมทูตและพระมหาหรรษา โดยเนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับหลักธรรมที่มีองค์ประกอบ ๓ ส่วนและแยกย่อยออกเป็น ๓ ส่วน ทำให้สามารถถอดรหัสเป็นโมเดล "สามเหลี่ยมเชิงซ้อน" บริหารจัดการความขัดแย้งดังนี้

          จุดแรกที่เจดีย์พุทธคยากิจกรรมที่ผู้แสวงบุญกระทำคือเดินเวียนเทียนพร้อมสวดอิติปิโสรอบเจดีย์ ๓ รอบ เป็นการรำลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัย แม้บรรยากาศรอบเจดีย์พุทธคยามีเสียงจากการสวดมนต์ที่ต่างคนต่างสวด แต่ก็ไม่มีความขัดแย้งกันสามารถเข้าถึงพุทธภูมิเกิดสันติภูมิภายในได้ตามอัตภาพ เนื่องจากมีจุดมุ่งหมายเหมือนกันคือเข้าถึงพุทธภูมิภายในใจ และที่เจดีย์พุทธคยาแห่งนี้ที่มีสิ่งสำคัญ ๓ ประการคือต้นโพธิ์ แท่นวัชรอาสน์ และหลวงพ่อพุทธเมตตาเป็นสื่อ

          ที่เมืองราชคฤห์แห่งนี้คณะนิสิตได้ทราบยุทธศาสตร์ ๓ ประการในการประกาศพระพุทธศาสนา นั่นก็คือ โอวาทปาฏิโมกข์ ประกอบด้วยอุดมการณ์ ๔ หลักการ ๓ และวิธีการ ๓ ซึ่งก็คือสามเหลี่ยมเชิงซ้อนกันอยู่จึงเป็นวิธีการ ๖ ที่พระพุทธเจ้าประทานในวันมาฆบูชาที่เวฬุวนารามสวนไผ่  

          จุดที่ ๒ คือ ธัมเมกสถูปที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันเมืองสารนาถ หรือเมืองพาราณสีแคว้นกาสี สถานที่แสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแก่ปัจญวัคคีย์ทั้ง ๕ ซึ่งมีเนื้อหาประกอบด้วยทาง ๓ ทาง คือกามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถานุโยคและมัชฌิมาปฏิปทาง ก็คือสามเหลี่ยมแห่งมรรคแปดคือศีล สมาธิ และปัญญานั่นเอง

          จุดที่ ๓ เมืองกุสินาราสังเวชนียสถานปรินิพพาน ได้ทราบสาเหตุที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานที่แห่งนี้ ๓ ประการคือ ๑. ทรงประสงค์แสดงมหาสุทัสสนสูตรความสำคัญของเมืองแห่งนี้ ๒.โปรดสาวกรูปสุดท้าย และ ๓.ทรงเห็นว่าโทณพราหมณ์จะสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งในการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุได้

          จุดที่ ๔ สวนลุมพินีประเทศเนปาล ซึ่งเป็นที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ โดยยูเนสโกสร้างคบเพลิงไฟสันติภาพและจุดตั้งแต่ ค.ศ.1986 เป็นต้นมา เพื่อเป็นการยกย่องมนุษย์คนหนึ่งที่เกิดมาทำประโยชน์ให้บุคคลอื่นตลอดพระชนม์ชีพ และได้ทราบองค์ประกอบของการเกิดบุคคลอัจฉริยะ ๓ ประการคือ ๑.สิ่งแวดล้อมดีอายุคนอยู่ในช่วง ๑๐๐ ปี ๒.ภูมิศาสตร์ดี และ ๓.พันธุ์ดีคือผู้ที่ปรารถนาเป็นพุทธมารดามาเกิด ซึ่งเป็นข้อคิดสำหรับผู้เป็นแม่คือควรเลี้ยงลูกให้เติบโตให้เป็นคนทำประโยชน์กับคนอื่น ส่วนจุดที่ ๕ คือวัดเชตวันมหาวิหารเมืองสาวัตถี


ลมหายใจแห่งสันติภาพ

          ขณะที่พักอยู่ที่เจดีย์พุทธคยาตำบลอุรุเวลาเสนานิคมเมืองราชคฤห์นั้น คณะนิสิตปริญญาโทสันติศึกษา มจร.ได้มีโอกาสเข้ากราบรับความรู้เกี่ยวกับหลักของนักสันติภาพจากพระเทพโพธิวิเทศ เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล โดยท่านได้เตือนสติว่า "โง่อย่างปราชญ์ดีกว่าฉลาดอย่างโจร โง่ๆ แล้วโตเร็วก็โง่ไป สันติภาพโง่ๆ เป็นผู้นำได้ต้องฟังผู้ตาม คนอยากฟังคน คนอยากฟังกัน นี่คือการสร้างสันติภาพ หากไม่ฟังกันจะไปสู่สันติภาพได้ยาก"

          ทำไมถึงต้องมาเรียนพระพุทธศาสนา เพราะเรามีเชื้อพระอรหันต์ มีดีเอ็นเอพระอรหันต์ เพราะพระพุทธเจ้าตั้งบิดามารดาเป็นพระอรหันต์ของลูก แล้วนำลูกไปมอบไว้ในใบเกิดว่านับถือศาสนาพุทธแล้วสะสมสัมมาทิฐิ ถึงจะเป็นชาวพุทธหยุดๆ ยืนๆ เพราะยังมีกังขาคติ ๓ คือ
 
          ๑.พุทธกังขาคติ สงสัยพุทธเจ้า เกิดมาแล้วเดินได้ ๗ ก้าวจริงหรือ? แค่นี้ก็พบทางตันแล้ว บุคคลที่เชื่อมั่นผู้นำนั่นคือ นักสันติภาพ ใครแสวงหาสันติธรรมจะเข้าถึงวิมุตติ

          ๒.ธรรมกังขาคติ สงสัยในคำสอนของพระศาสดา จึงขอให้เราปฏิบัติเถอะจะหายสงสัยในธรรมะที่ตรัสรู้มา คือ นำธรรมะไปจัดการ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าเราไม่สามารถดูแลสิ่งเหล่านี้ก็ยากจะไปถึงสันติภาพ โลกจะสับสนวุ่นวายอย่างไร แต่ถ้าสามารถจัดการได้ ท่านจะเป็นใหญ่คือมีสันติภาพ ธรรมะต้องนำไปใช้ถ้าไม่นำไปใช้ก็จะเป็นคน "เป็นคนใช้ไม่ได้" ต้องฝึกวิธีการใช้ "ลมหายใจ" ไม่มีศาสดาใดเป็นห่วงเราขนาดสอนให้เราหายใจเข้าและหายใจออกเป็น คนบางคนหายใจไม่เป็นแล้วจะไปทำอะไรเป็น พระพุทธเจ้าจึงต้องสอนสติปัฏฐานสูตรฝึกให้หายใจเป็น ใครจะเป็นนักสันติภาพต้องฝึกหายใจและรับลมหายใจ มาครั้งนี้มารับลมพระอริยสาวกเจ้า จึงเรียกว่าเป็นคนมี "ลับลมคมใน"
 
          ที่วางใจคือ หน้า เอาหัวใจมาไว้ที่หน้า จึงเป็นเป็นบุคคล "ที่หน้าไว้วางใจ" ดังนั้นจึงอย่าให้ความเบื่อขึ้นหน้า เพราะ "มันหน้าเบื่อ" โดยต้องมีหลักธรรม อย่าเสียหลักทำตัวทำร้ายกัน เพราะอะไรเพราะมันน่าเบื่อทำให้ไม่เกิดสันติภาพ แม้แต่คนนอนเตียงเดียวกัน ถ้าเบื่อกันเป็นอย่างไร ดังนั้นอย่าเบื่อหน่ายเข้าหาธรรม
 
          คนอินเดียเข้าถึงธรรมง่ายกว่าประเทศอื่นๆ เพราะคนอินเดียรู้จักการแสดงการยอมรับกัน เคารพกัน ยกย่องกัน อินเดียยกมือได้ทุกอย่างที่ให้คุณทั้ง น้ำ ดวง และวัว ถือเป็นเทพเจ้า ดังนั้นถ้าเป็นนักสันติภาพแล้วต้องรู้จักการยอมรับกัน ถ้าหาสิ่งที่เคารพไม่ได้ก็จะเกิดสันติภาพไม่ได้
 
          ๓.สังฆกังขาคติ สงสัยในพระสงฆ์ เราต้องมีพรรคพวก สิ่งสำคัญคือ พวก เพราะพรรคสามารถยุบได้ สรุปเรามีความสงสัยจึงไม่สนใจศึกษาจริงจัง
 

คนไทยรู้จักแต่ไม่รู้ใจคนอินเดีย 

          พร้อมกันนี้คณะนิสิตปริญญาโทสันติศึกษา มจร.ยังได้เข้าพบนายชลิต มานิตยกุล เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐอินเดีย ที่สำนักงานชั่วคราวเมืองนิวเดลี และได้รับคำชี้แจงไขข้อข้องใจต่างๆ โดยเฉพาะด้านการคมนาคมที่สุขุมลุ่มลึกว่า เนื่องจากรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่นเป็นคนละพรรคกัน ประกอบกับเมืองพุทธคยาเป็นรัฐที่ยากจนมากที่สุด

          อย่างไรก็ตามนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียคนปัจจุบันเล็งเห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาปากท้อง และมีแผนพัฒนาระบบคมนาคมเชื่อมโยงแต่ละหัวเมือง เชื่อว่าจะดีขึ้นตามลำดับ จึงส่งผลให้ได้รับคะแนนนิยมสูงอยู่ในขณะนี้

          "คนไทยไม่รู้จักใครเลย พยายามจะไปข่มคนอื่นด้วย เรารู้จักแต่ไม่รู้ใจคนอินเดีย บางคนบอกว่าอินเดียเหมือนไทยถึงจะมา ถ้าเช่นนั้นก็อยู่แต่ไทย คนอินเดียไปเที่ยวไทยเป็นล้านคน ช่วงนี้ตกลงมาเพราะคนไทยขัดขากันเอง ไทยมีทัศนคติต่ออินเดียลบถึง 70% แต่นั่นหมายถึง 30 ปีที่แล้ว เพราะ "เรารู้จักแต่ไม่รู้ใจ" คนอินเดีย ดังนั้นเราต้องรู้ใจคนอินเดีย และสิ่งที่ต้องการจากพระธรรมทูตไทยในประเทศอินเดียคือเอกภาพในการทำงานเผยแพร่พระพุทธศาสนา" 
             
          ทั้งนี้หลักสูตรกปริญญาโทสันติศึกษา มจร กำลังเปิดรับสมัครรุ่นที่ 3 หากสนใจสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ www.ps.mcu.ac.th หรือหมายเลขโทรศัพท์ ๐๘๑ ๔๕๗ ๖๒๒๖
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ