พระเครื่อง

พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยมวัดสะพานสูงสูงค่านิยม'เกือบ๑๐ล้านบาท!'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยมวัดสะพานสูงสูงด้วยพุทธคุณสูงด้วยค่านิยม'เกือบ๑๐ล้านบาท!' : เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยมวัดสะพานสูงสูงค่านิยม'เกือบ๑๐ล้านบาท!'

            พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี จัดเป็นหนึ่งในห้าสุดยอดพระปิดตาของเมืองไทย หรือ "พระปิดตาเนื้อผงคลุกรักชุดเบญจภาคี" นอกจากนี้แล้ว "ตะกรุดมหาโสรฬมงคล" ก็เป็นที่สุดแห่งความนิยมที่นัก สะสมพระเครื่องใฝ่ฝัน ชนิดที่เรียกว่า "ของแท้ๆ หายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร"

             มวลสาสที่ใช้สร้างพระปิดตานั้นเป็นมวลสารที่หลวงปู่เอี่ยมเก็บมาระหว่างเดินธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ นั้น ท่านได้รวบรวมว่านไว้จำนวนมาก และว่านเหล่านี้ได้ถูกนำมาบดผสมกับผงสร้างเป็น "พระปิดตา" อันลือชื่อ รูปแบบพิมพ์พระหลวงปู่เอี่ยมท่านสร้างพระปิดตาขึ้นเอง

             ลักษณะขนาดทรงพิมพ์แบ่งเป็นพิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และพิมพ์เล็ก ส่วนมากด้านข้างจะมีตะเข็บ ซึ่งมักจะปริหรือแตกกะเทาะด้วยกาลเวลา เนื้อผงคลุกรักนี้เมื่อสร้างและพิมพ์เป็นองค์พระแล้ว ยังทาด้วยรักสีดำหรือรักน้ำเกลี้ยงผสมชาดแดงไว้ด้วยทั้งหน้าและหลัง ดังนั้นผิวจะมีเม็ดแดงๆ อยู่ทั่วไป บางองค์มีปิดทองไว้ด้วย

             ท่านยังเข้าใจผิดว่าพระปิดตามหลวงปู่เอี่ยม มีจำนวนมากมายหลายรุ่น ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เนื่องจากท่านเป็นพระที่มีวาจาสิทธิ์และกระแสจิตแก่กล้ายิ่ง ดังนั้นการจะสร้างพระปิดตาและเครื่องรางจึงไม่มีพิธีรีตองอะไร ท่านใช้วิธีทำไปปลุกเสกไปแจกไปทีละเล็กน้อย จึงไม่ได้สร้างไว้เป็นรุ่นๆ คราวละมากๆ อย่างที่หลายท่านเข้าใจ

             พุทธคุณเมตตามหานิยม โชคลาภแคล้วคลาดคงกระพันชาตรี กันฟ้าผ่า กันคุณไสย์ภูตผีปีศาจ พระปิดตาและตะกรุดของหลวงปุ่เอี่ยม วัดสะพานสูง นั้นถือว่าเป็นสุดยอดวัตถุมงคล

             ปัจจุบันค่านิยมพระปิดตามหลวงปู่เอี่ยม อยู่ที่หลักล้านบาท เคยมีข่าวพระองค์ที่สวย เนื้อจัด ดูง่าย เป็นมาตรฐาน มีการเช่าหากันในราคาเกือบ ๑๐ ล้าน เป็นรองแค่พระปิดตา หลวงพ่อแก้ววัดเครือวัลย์ แต่พุทธคุณไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ส่วนของปลอมนั้นปัจจุบันมีเยอะมาก เรียกว่าบางองค์ปลอมฝีมือค่อนข้างดี

             เมื่อไม่ได้พระปิดตาของ หลวงปู่เอี่ยม นักนิยมสะสมพระเครื่องก็มุ่งไปที่ พระปิดตาหลวงปู่กลิ่น ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสรูปถัดมา ขณะเดียวกันก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่หาพระปิดตาหลวงปู่กลิ่นไม่ได้ ก็มุ่งไปที่ พระปิดตาหลวงพ่อทองสุข เจ้าอาวาสวัดสะพานสูง อีกรูปหนึ่ง โดยมีความเชื่อว่า พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยม พระปิดตาหลวงปู่กลิ่น และพระปิดตาหลวงพ่อทองสุข วัดสะพานสูง พุทธคุณสุดยอดด้านเมตตามหานิยมเหมือนๆ กัน

             หลวงปู่เอี่ยมท่านขึ้นชื่อทางวิปัสสนาธุระ หรือกัมมัฏฐาน กิตติศัพท์ท่านลือเลื่องไปทั่วทั้งพระปิดตาและตะกรุด ก่อนจะละสังขารในปลาย พ.ศ.๒๔๓๙ ท่านได้สั่งบรรดาศิษย์ไว้ว่า ถ้าผู้ใดมีเรื่องเดือดร้อนให้นึกถึงนามของท่าน และออกชื่อท่าน ความเดือดร้อนก็จะถูกขจัดปัดเป่าไป ซึ่งสานุศิษย์ทั้งหลายได้อาราธนานามของท่านเป็นเกราะคุ้มภัยรอดพ้นอันตรายต่างๆ จนกล่าวขานกันสืบมาจนถึงปัจจุบัน

             ขอบคุณรูปภาพจากนายสุขธรรม ปานศรี หรือที่คนในวงการรถยนต์รู้จักในชื่อ "เฮียกุ่ย" เจ้าของ "WWW.SOONPRARATCHADA.COM


มีอะไรให้เอ๋ยนาม "หลวงปู่เอี่ยม"

             หลวงปู่เอี่ยม ปฐมนาม อดีตเจ้าอาวาสวัดสะพานสูง เกิดปีฉลู พ.ศ.๒๓๕๙ เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๑ อายุท่านได้ ๒๒ ปี ได้อุปสมบทที่วัดบ่อ ต.ปากเกร็ด อ.ปากเกร็ด อุปสมบท ได้ประมาณ ๑ เดือน ท่านก็ย้ายไปประจำพรรษาอยู่ที่วัดกัลยาณมิตร ธนบุรี ซึ่งในขณะนั้น พระพิมลธรรมพร เป็นเจ้าอาวาส โดยได้ศึกษาพระปริยัติธรรม และแปลพระธรรมบทอยู่ที่วัดนี้อยู่ได้ถึง ๗ พรรษา

             เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๘ ย้ายไปอยู่วัดประยุรวงศาวาสได้ ๓ พรรษา ถึง พ.ศ.๒๓๘๙๑ นายแขก สมุห์บัญชี ได้นิมนต์หลวงปู่เอี่ยม ไปจำพรรษาเจริญพระกัมมัฏฐานเป็นเริ่มแรก และได้ศึกษาอยู่ ๕ พรรษา ถึงปี ๒๓๙๖ ญาติโยมพร้อมด้วยชาวบ้านภูมิลำเนาเดิมในคลองแหลมใหญ่ (ซึ่งปัจจุบันนี้ คือคลองพระอุดม) อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ได้เดินทางมา อาราธนานิมนต์หลวงปู่เอี่ยมกลับไปปกครองวัดสะพานสูง

             หลวงปู่เอี่ยม เป็นผู้มีอาคมฉมัง วาจาสิทธิ์ มักน้อยและสันโดษ ท่านเป็นต้นแบบในการพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองจนถึงปัจจุบันนี้ ท่านได้สร้างถาวรวัตถุที่ได้เห็นกันอยู่ในทุกวันนี้คือ พระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ พระเจดีย์ จึงเป็นที่มาของการสร้างพระปิดตา และตะกรุดโทนมหาโสฬสมงคลอันลือลั่นนั่นเอง ด้วยเหตุนี้เองทำให้หลวงปู่เอี่ยม ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ทั้งชาวบ้านและเจ้านายผู้ใหญ่ในพระนครนับถือท่านมาก

             ก่อนที่หลวงปู่เอี่ยมจะมรณภาพด้วยโรคชรา นายหรุ่น แจ้งมา ซึ่งเป็นลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดคอยอยู่ปรนนิบัติท่านหลวงปู่เอี่ยม ได้ขอร้องท่านว่า "ท่านอาจารย์มีอาการเต็มที่แล้ว ถ้าท่านมีอะไรก็กรุณาได้สั่ง และให้ศิษย์เป็นครั้งสุดท้าย" ซึ่งท่านหลวงปู่เอี่ยมก็ตอบว่า "ถ้ามีเหตุทุกข์เกิดขึ้นให้ระลึกถึงท่านและเอ่ยชื่อท่านก็แล้วกัน" หลวงปู่เอี่ยมท่านมรณภาพ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๙ รวมอายุได้ ๘๐ ปี บวชได้ ๕๙ พรรษา

             อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้วัดสะพานสูง มีชื่อว่า วัดสว่างอารมณ์ มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า ในสมัยนั้นสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ท่านได้เสด็จไปตรวจการคณะสงฆ์ได้เสด็จขึ้นที่วัดสว่างอารมณ์นี้ ได้ทอดพระเนตรสะพานสูงข้ามคลองวัด (คลองพระอุดมปัจจุบันนี้) ซึ่งชาวบ้านมักจะเรียกวัดสว่างอารมณ์นี้ว่า วัดสะพานสูง ทำให้วัดนี้มีชื่อเรียกกัน ๒ ชื่อ ฉะนั้น สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเห็นว่า สะพานสูงนี้ก็เป็นนิมิตดีประจำวัดประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งชาวบ้านก็นิยมเรียกกันติดปากว่า วัดสะพานสูง จึงประทานเปลี่ยนชื่อวัดสว่างอารมณ์ มาเป็น "วัดสะพานสูง" จนตราบเท่าทุกวันนี้


พิมพ์ชะลูด พิมพ์ตะพาบ

             อ.ราม วัชรประดิษฐ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์พุทธศิลป์ และเจ้าของ "www.aj-ram.com " อธิบายให้ฟังว่า เดิมคนรุ่นเก่านิยมเรียกพิมพ์จุฬาใหญ่และพิมพ์จุฬาเล็ก ต่อมาวงการพระเครื่องได้เปลี่ยนมาเรียกว่าพิมพ์ชลูด พิมพ์ตะพาบ และ พิมพ์พนม

             ลักษณะจะเป็นปิดตาแบบลอยตัว เนื้อผงคลุกรัก มีพบเป็นครึ่งซีกบ้างแต่น้อย อาจแบ่งเป็นหมวดหมู่ได้ ๒ พิมพ์ ได้แก่ พิมพ์ชะลูด และพิมพ์ตะพาบ โดยมองไปที่ขนาดและรูปพิมพ์พระนั่นเอง ส่วนขนาดและเนื้อหานั้นมีเล็กใหญ่และสีสันวรรณะแตกต่างกันไปบ้างเล็กน้อย เนื่องด้วยทำด้วยวิธีโบราณ

             พระปิดตารุ่นแรกนั้นสันนิษฐานว่าท่านทำขึ้นเพื่อสร้างพระอุโบสถ พิมพ์ที่เราเรียกว่า "ชะลูด" จะมีความงดงามและจัดเป็นพิมพ์นิยม สูงเล็กและเพรียวกว่าพิมพ์ตะพาบ จุดสำคัญให้สังเกตที่พระหัตถ์หรือมือที่ยกปิดตา ถ้าใช้กล้องส่องดูจะเห็นรอยนิ้ว พิมพ์ชะลูดจะยกข้อพระกรขึ้นสูงกว่าพิมพ์ตะพาบ ข้อศอกขององค์พระจะเป็นลำศอกเว้าเข้าหาบั้นเอว พระอุทร (ท้อง) พลุ้ย และมีสะดือ พระเพลา (หน้าตัก) นั่งแบบขัดสมาธิราบ เท้าขวาทับเท้าซ้ายในลักษณะเฉียงขึ้นด้านบนเล็กน้อย ไม่เป็นเส้นขนานเหมือนของลูกศิษย์ท่าน อย่างเช่น หลวงปู่กลิ่น และหลวงปู่สุก ส่วนด้านหลังจะโค้งมนดูเผินๆ เหมือนตุ๊กตา ปราศจากลวดลายใดๆ

             ส่วน "พิมพ์ตะพาบ" องค์จะล่ำสันเทอะทะใหญ่คล้ายตะพาบน้ำ ศอกชิดกับพระเพลา เข่าวางกว้างกว่าพิมพ์ชะลูด ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือพระปิดตาของท่านเป็นพิมพ์ประกบหน้าหลังรวม ๒ ชิ้น จึงจะปรากฏตะเข็บด้านข้างให้เห็นเกือบทุกองค์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ