Lifestyle

วัดวังคำ ถิ่นผู้ไทเขาวง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชวนเที่ยว : วัดวังคำ ถิ่นผู้ไทเขาวง : เรื่อง / ภาพ ... นพพร วิจิตร์วงษ์

 
                           เดี๋ยวนี้เดินทางไปเที่ยวที่ไหนต่อที่ไหน สถานที่หนึ่งที่มักบรรจุอยู่ในลิสต์ท่องเที่ยวของทัวร์ ก็คือวัด ด้วยความที่ไทยเราเป็นเมืองพุทธมาแต่ไหนแต่ไร เรื่องราวของคนผูกพันอยู่กับวัดเป็นส่วนใหญ่ ประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจในแต่ละท้องถิ่นมักหาดูหรือศึกษาได้จากวัด หนึ่งในวัดที่น่าสนใจไม่แพ้ที่ไหน เพราะแม้แต่คนกาฬสินธุ์เองยังแปลกใจ ก็คือ วัดวังคำ อยู่ที่บ้านนาทวี ต.สงเปลือย อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ และให้น่าแปลกใจสำหรับคนต่างถิ่นขึ้นไปอีก ก็คือ คนเขาวงส่วนใหญ่แล้วเป็นชาวผู้ไท ที่มีเรื่องราวเป็นมาน่าสนใจไม่น้อยกว่าผู้ไทเรณูนคร จ.นครพนมเลย  
 
                           ที่บอกว่า วัดวังคำ เป็นวัดที่คนกาฬสินธุ์แปลกใจ ก็เพราะว่า การสร้างสิมหรือโบสถ์หลังใหม่ของวัดแห่งนี้ เป็นเรื่องที่ทำกันเงียบๆ มาเปิดตัวอีกทีเมื่อคราวจ.กาฬสินธุ์ โดยนายภุชงค์ โพธิกุฏสัย ผู้ว่าราชการจังหวัด จัดโครงการ "มองมุมใหม่ในกาฬสินธุ์" มีนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา มาเป็นประธานเปิดงาน ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2557 ซึ่งก็จัดขึ้นที่วัดวังคำนี่แหละ ทำให้คนกาฬสินธุ์ที่เพิ่งเคยมาเห็นถึงกับอุทานในความสวยงามของสิมหลังใหม่ ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่ได้ทำพิธีฝังลูกนิมิต การก่อสร้างต่อเติมยังไม่แล้วเสร็จดี 
 
                           ที่น่าทึ่งก็เพราะสิมหลังใหม่มีหน้าตาคล้ายกับวัดเชียงทอง ในเมืองมรดกโลก หลวงพระบางยังไงยังงั้น ซึ่งพระครูสังวรสมาธิวัตร (จรัญ ขันติปาโล) เจ้าอาวาสวัดและเป็นผู้ก่อตั้ง ออกแบบสิมหลังใหม่ด้วย บอกว่า วัดนี้สร้างมาตั้งแต่ปี 2539 จากกุฏิเล็กๆ ศาลาหลังเล็กๆ ก็ต่อเติม ขยับขยายมาเรื่อยจนปัจจุบันมีเนื้อที่ราว 8 ไร่ รวมถึงก่อสร้างสิมใหม่ ซึ่งก็ได้แรงบันดาลใจมาจากวัดเชียงทอง แห่งนครหลวงพระบาง นับตั้งแต่ที่ได้ไปเห็นครั้งแรก ก็ใช้วิธีจดจำแล้วนำมาบอกกล่าว ให้ช่างทำออกมา ส่วนที่เลือกสร้างตามแบบศิลปะล้านช้าง โดยยึดวัดเชียงทองเป็นต้นแบบนั้น ก็เพราะความชอบส่วนตัว อีกทั้งวัดเชียงทองได้ชื่อว่าเป็นสถาปัตยกรรมล้านช้างที่งดงามที่สุด ประกอบกับ เขาวงเป็นถิ่นผู้ไทที่ผูกพันอยู่กับลาวที่มีศิลปะล้านช้างเป็นเอกลักษณ์ จึงลงตัวในรูปแบบที่เห็น 
 
                           หากเทียบชื่อวัด "วังคำ" กับ "เชียงทอง" ความหมายก็แทบจะเหมือนกัน ตัวสิมก็คล้ายคลึงกัน จนบางคนออกปากว่าเป็นรูปจำลองของวัดเชียงทองก็ไม่ผิดนัก หากในรายละเอียดนั้น แตกต่างกันออกไป โดยที่ด้านหน้าสิมวัดวังคำ มีตราสัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยได้รับพระราชทานเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม 2547 ช่วงกลางสันหลังคาทำเป็นฉัตร 5 ชั้น 9 ยอด บันไดทางขึ้นด้านหน้าวัดวังคำมีสิงห์สีทอง 2 ตัวประดับอยู่ ส่วนด้านหลังสิม ทำเป็นต้นโพธิ์ธรรมประดับกระจกสี รวมทั้งสิมวัดวังคำ ห้ามผู้หญิงเข้าไปด้านใน 
 
                           และที่แตกต่างอีกอย่างหนึ่งคือ พระประธานในสิมหลังใหม่มี 2 องค์ซ้อนกันอยู่ ซึ่งเจ้าอาวาสบอกว่า นำมาจากความเชื่อโบราณ เป็นปางสะดุ้งมาร กับปางสะดุ้งมารกลับ  
 
                           นอกจากสิมหลังใหม่ ที่ได้รับการกล่าวขานถึงความสวยงาม โดยเฉพาะในยามต้องแสงอาทิตย์ยามเย็น ประกายทองที่ลงรักเป็นลวดลายต่างๆ ดูสุกสว่างแล้ว ในบริเวณวัดยังมีส่วนอื่นๆ ที่น่าทึ่ง เพราะทันทีที่เข้าไปในบริเวณวัดก็สะดุดตากับ ธรรมาสน์สิงห์เทินบุษบก  เพราะความที่เคยไปเห็นธรรมาสน์สิงห์เทินบุษบกที่ได้ชื่อว่าสวยงามที่สุด อยู่ที่วัดสีนวลแสงสว่างอารมณ์ ที่อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี มา ก็ต้องออกปากว่า ที่นี่สวยงามไม่แพ้กัน แต่ต่างกันที่ลวดลายและความเก่าแก่ นอกจากนี้ พระธาตุเจดีย์ที่อยู่ใกล้ๆ กันก็ยังคล้ายกับรูปแบบพระธาตุลำปางหลวง 
 
                           ส่วนด้านในศาลาการเปรียญหลังใหญ่ยังได้พบกับบุษบกสวยงามอยู่กลางศาลา และ "หลวงปู่วังคำ" พระประธานตามศิลปะล้านช้าง ที่ดูสวยงาม
 
                           อีกส่วนที่น่าทึ่งของวัดนี้แต่ไม่ค่อยอยากเจอนัก และโชคดีที่ไม่ได้เจอ คือ รังต่อ ที่เคยเป็นข่าวว่า วัดนี้เลี้ยงต่อหัวเสือไว้หลายสิบรัง เพื่อเป็นยามเฝ้าวัดเพื่อป้องกันหัวขโมยทั้งหลาย ซึ่งในข่าวนั้นพระครูจรัญบอกไว้ว่า แต่เดิมมีโยมคนหนึ่งเข้ามาทำบุญเพื่อสืบชะตา โดยนำต่อหัวเสือมาถวายและปล่อยไว้ที่วัด 1 รัง ด้วยเชื่อว่าถ้านำต่อหัวเสือมาถวายวัดจะเป็นการต่ออายุให้ยืนยาวและหายจากโรคภัยไข้เจ็บได้ จากนั้นไม่นานมีชาวบ้านพากันนำต่อหัวเสือมาเลี้ยงในเขตวัดมากขึ้น ซึ่งทางวัดเห็นว่าต่อหัวเสือทำหน้าที่คอยเป็นยามช่วยปกป้องสิ่งของในวัดไม่ให้ถูกขโมยไป จึงได้ปล่อยไว้ให้ทำรังตามกุฏิ ชายคาศาลา และสถานที่เก็บรักษาของมีค่าต่างๆ ที่สำคัญนอกจากต่อหัวเสือจะทำหน้าที่เป็นยามเฝ้าสมบัติแล้ว ยังทำให้วัดแห่งนี้เป็นสถานที่อนุรักษ์พันธุ์ต่อหัวเสืออีกด้วย
 
                           สำหรับคนต่างถิ่นอย่างฉัน นอกจากจะทึ่งกับความสวยงาม และประวัติที่ดูธรรมดาแต่ไม่ธรรมดาของวัดแล้ว ยังต้องทึ่งกับสาวๆ ผู้ไท ที่มีทั้งสาวน้อย สาวใหญ่มาร่วมกันต้อนรับนักท่องเที่ยวเป็นกรณีพิเศษ จากปกติก็ใช้ชีวิตทำมาหากินไม่ได้ให้ความรู้สึกแตกต่างอะไร แต่ยามใดที่มีงานทำบุญ มีงานของชุมชน หรืออำเภอ พวกเขาเหล่านี้จะแต่งกายแบบผู้ไท มาร่วมงานกัน ชุดผู้ชายยังไม่สะดุดตาเท่าผู้หญิง เพราะนอกจากลวดลายผ้าซิ่นแล้ว ผ้าประดับมวยผมก็ล้วนแต่เป็นผ้าทอ แล้วยังเครื่องประดับเงินทั้งหลาย
 
                           ชาวผู้ไทที่เขาวง อยู่กันมานานจนเป็นถิ่นฐานบ้านเกิดของผู้ไทยุคใหม่ไปแล้ว นับตั้งแต่ที่มีการอพยพกวาดต้อนชาวผู้ไทจากลาวเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3 เนื่องจากเห็นว่าชาวผู้ไทเป็นหน่วยจัดหาเสบียงให้เวียดนามในช่วงที่เกิดข้อพิพาทกับไทย ช่วงที่กวาดต้อนเข้ามาใหม่ๆ ชาวผู้ไทอาศัยอยู่แถวเทือกเขาภูพาน แต่แล้วหัวหน้ากลุ่มผู้ไทก็มองว่าพื้นที่แคบไม่เหมาะที่จะทำมาหากินในระยะยาวได้ จึงได้อพยพลงจากเขามาอยู่บริเวณที่ราบหุบเขาระหว่างภูพานกับภูโหล่ย แถวป่าดงสงเปลือย ซึ่งมีหนองน้ำแล้วยังมีสิมอยู่กลางน้ำ ซึ่งกลางสิมนั้นผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่ามีพระพุทธรูป และยังมีรูปพระนารายณ์แกะสลักไว้ที่ไม้แก่นด้วย 
 
                           พอตั้งบ้านเรือนเสร็จชาวผู้ไทที่นี่ก็เลยเรียกชื่อหมู่บ้านตัวเองว่า บ้านกุดสิมนารายณ์ ต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นเมืองกุดสิมนารายณ์ก่อนจะถูกยุบเป็นอำเภอ และย้ายที่ทำการอำเภอไปตั้งอยู่ที่บ้านบัวขาว ซึ่งต่อมาในปี 2456 บ้านบัวขาวได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอกุดสิมนารายณ์และเปลี่ยนชื่อเป็นกุฉินารายณ์ ส่วนพื้นที่กุดสิมนารายณ์เดิม รวมถึงหมู่บ้านต่างๆ ที่อยู่บริเวณที่ราบเขาวง ก็ได้รับการยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอเขาวงในปี 2512 และอีก 5 ปีต่อมาก็ได้รับการยกฐานะเป็น อ.เขาวง ขึ้นอยู่กับ จ.กาฬสินธุ์ 
 
                           ทุกวันนี้ชาวผู้ไทเขาวงยังคงยึดมั่นในประเพณีสำคัญของตัว ตามฮีต 12 คอง 14 ของภาคอีสาน การแต่งกาย ภาษาพูด อาหารการกินก็ล้่วนแต่มีเอกลักษณ์ของชาวผู้ไท จนกระทั่งเป็นส่วนหนึ่งในคำขวัญของอำเภอเขาวง ที่ว่า "เขาวงดงอู่ข้าว สาวผู้ไทงาม น้ำตกพริ้ว ทิวเขาเรียงราย มากมายผ้าห่ม อุดมวัฒนธรรม อ่างวังคำน้ำใส ทฤษฎีใหม่น้ำพระทัยจากในหลวง"
 
                           และในค่ำคืนของการมองมุมใหม่ในกาฬสินธุ์ เลยได้เห็นสาวๆ ผู้ไทน้อยใหญ่ไม่เกี่ยงวัย แต่งกายสวยงาม มาร่วมกันฟ้อนรำอยู่ที่หน้าวัดวังคำ เหมือนบอกกล่าวให้รู้ว่า เรามาถึงถิ่นของชาวผู้ไทแล้วจริงๆ
 
 
 
 
 
-------------------------
 
(ชวนเที่ยว : วัดวังคำ ถิ่นผู้ไทเขาวง : เรื่อง / ภาพ ... นพพร วิจิตร์วงษ์)
 
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ