พระเครื่อง

หลวงพ่อแขนลายบนอะไรก็ได้ดังใจหวังที่วัดศาลาปูน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลวงพ่อแขนลายบนอะไรก็ได้ดังใจหวัง ที่วัดศาลาปูน : ท่องไปในแดนธรรม เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

หลวงพ่อแขนลายบนอะไรก็ได้ดังใจหวังที่วัดศาลาปูน

 

               วัดศาลาปูนวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ ๓๘ หมู่ ๔ ต.วาสุกรี อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นวัดโบราณตั้งอยู่ริมคลองเมืองพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำลพบุรีเดิม) ฝั่งตรงกันข้ามกับเกาะเมือง มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๒๘ ไร่

               มีการสันนิษฐานว่า เหตุที่วัดมีชื่อเรียกว่า "วัดศาลาปูน" คงเนื่องด้วยเป็นชื่อหมู่บ้านที่มีราษฎรประกอบอาชีพเผาปูนขาย ด้านทิศตะวันออกของวัดยังปรากฏซากเตาเผาปูนอยู่ แต่บางท่านก็สันนิษฐานว่าคงชื่อวัดศาลาปูนมาแต่ดั้งเดิม ต่อมาเมื่อทรงราชการคือพระเจ้าแผ่นดินโปรดฯ ให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัด จึงเปลี่ยนนามเป็นวัดโลกยสุธา หรือโลกสุธา โดยยังคงความหมายชื่อเดิมอยู่ เพราะคำว่า “สุธา” แปลว่า ปูนขาว กาลเวลาผ่านไปชื่อโลกยสุธา หรือโลกสุธาที่ทางราชการตั้งคงจะเรียกยาก จึงไม่ติดปากชาวบ้านในที่สุดก็เลือนหายไป กลับมาใช้ชื่อศาลาปูนเหมือนเดิม

               ความสำคัญของวัดศาลาปูนในอดีตนั้นเป็นที่สถิตของ พระราชาคณะตำแหน่งพระธรรมราชา สืบต่อกันมา ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลที่ ๖ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ วัดศาลาปูนเป็นที่สถิตของพระราชาคณะชั้นสมเด็จคือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชาคณะเพียงรูปเดียวที่ได้รับพระราชทานตั้งขึ้นในเขตหัวเมืองชั้นนอก

               ภายในวัดศาลาปูน คือพระพุทธรูปสำริดสมัยอยุธยา "หลวงพ่อแขนลาย" เป็นศิลปะสมัยก่อนอยุธยา เป็นพระพุทธรูปนั่งขนาดหน้าตักกว้าง ประมาณ ๒๙ นิ้ว  ลักษณะคล้ายพระอัครสาวกของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ พระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร ซึ่งแขนด้านหนึ่งขององค์พระมีการลงอักขระยันต์ไว้อย่างชัดเจน เชื่อกันว่าเป็นรูปเคารพของพระบรมไตรโลกนาถและพระศรีอารย์ เป็นที่เล่าลือถึงความศักดิ์สิทธิ์และการบนบานศาลกล่าวที่ประสบความสำเร็จในหลายๆ เรื่อง เคยถูกขโมยหลายครั้งแต่ไม่สามารถนำองค์พระออกไปได้

               "มะพร้าวอ่อน ไข่ พวงมาลัย ปิดทอง และถวายทองคำแท้ ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีผู้สมหวังในการบนบานศาลกล่าวนำทองคำแท้มาแก้บนอย่างต่อเนื่อง และเคยมากถึง ๑๐ บาท โดยทางวัดได้นำทองคำทั้งหมดไปเปลี่ยนเงินเพื่อนำเข้าทุนนิธิเพื่อเป็นทุนส่งเสริมการศึกษาของเด็กนักเรียน" นี่เป็นคำบอกเล่าของพระครูอนุกูลศาสนกิจ ฐานิโก หรือพระครูประดิษฐ์ รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดศาลาปูน

               พระครูอนุกูลศาสนกิจ ยังบอกด้วยว่า โดยส่วนตัวแล้วสันนิษฐานจากแขนด้านหนึ่งขององค์พระมีการลงอักขระยันต์ไว้อย่างชัดเจนว่า น่าจะเป็นพระเกจิอาจารย์ หรืออดีตเจ้าอาวาสรูปหนึ่งรูปใดของวัดที่มีความศักดิ์มาก ถึงขนาดมีคนศรัทธาสร้างหล่อรูปเหมือนไว้กราบไหว้ เพราะในอดีตนั้นเป็นเรื่องยากมากที่จะสร้างรูปเคารพพระรูปใดรูปหนึ่งขึ้นมา

 

หลวงพ่อวัดไร่ขิงเคยอยู่วัดศาลาปูน


               มีใครจะรู้บ้างว่า "หลวงพ่อวัดไร่ขิง" พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แห่ง วัดไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๔ ศอก ๒ นิ้วเศษ สูง ๔ ศอก ๑๖ นิ้วเศษ ศิลปะสมัยเชียงแสน สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างสมัยไทยล้านนาและล้านช้าง ตำนานเล่าว่า ลอยน้ำมา จึงอัญเชิญไว้ที่วัดศาลาปูน จากนั้นอัญเชิญพระพุทธรูปจากวัดศาลาปูน จ.พระนครศรีอยุธยา มาประดิษฐานไว้ที่วัดไร่ขิง โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) เมื่อครั้งที่สร้างวัดไร่ขิงใหม่ๆ เมื่อ พ.ศ.๒๓๓๔

               นอกจากนี้ภายในวัดยังมีสิ่งน่าสนใจอีกมากมาย เช่น เจดีย์ทรงกลม ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังพระอุโบสถ เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ก่ออิฐสอปูนประกอบด้วยฐานประทักษิณสูง มีระเบียบและบันไดทางขึ้นด้านเดียว

               ภาพเขียนฝาผนังฝีมือช่างหลวงภายในพระอุโบสถ ด้วยอายุการก่อสร้างนานกว่า ๕๐๐ ปี ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่าภาพชำรุดไปมาก ซึ่งเป็นผลพวงจากน้ำท่วมใหญ่ระหว่าง พ.ศ.๒๕๕๔-๒๕๕๕ โดยก่อนหน้านี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๕ โดยในปี ๒๕๕๘ นี้ พระครูอนุกูลศาสนกิจ มีโครงการที่จะบูรณะครั้งใหญ่โดยได้ทำหนังสือถึงกรมศิลปากรแล้ว คาดว่าต้องใช้งบกว่า ๓๐ ล้านบาท

               ทั้งนี้ พระครูอนุกูลศาสนกิจ มีความหวังเล็กๆ ว่าจะได้พึ่งบารมีและความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อวัดไร่ขิงที่ไปสร้างความเจริญรุ่งเรื่องให้วัดไร่ขิง กลับมาช่วยซ่อมแซมพระอุโบสถวัดศาลาปูนซึ่งครั้งหนึ่งเคยประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถแห่งนี้ให้งามสง่าอีกครั้งหนึ่ง ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบุญได้ที่วัดศาลปูน โทร.๐-๓๕๒๔-๒๑๖๕


หลวงพ่อสวัสดิ์วัดศาลาปูน

               พระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่และพระเถระ ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศาลาปูนรูปแรก คือ พระธรรมราชา (อู๋) ในรัชกาลที่ ๑ รูปที่สอง คือ พระธรรมราชา (คุ้ม) ในรัชกาลที่ ๒ พ.ศ.๒๓๓๙-๒๓๘๗ รูปที่สามคือ พระธรรมราชา (เรื่อง) ในรัชกาลที่ ๓ พ.ศ.๒๓๘๙ รูปที่สี่คือ พระธรรมราชา (อิน) ในรัชกาลที่ ๓ พ.ศ.๒๓๙๔ รูปที่ห้าคือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) ป.ธ.๓ ในรัชกาลที่ ๔ พ.ศ.๒๓๙๔-๒๔๒๗

               รูปที่หกคือ พระธรรมรานุวัตร (อาจ) ในรัชกาลที่ ๕ พ.ศ.๒๔๒๘-๒๔๖๓ รูปที่เจ็ดคือ พระครูจันทรรัศมี (อยู่) ป.ธ.๓ ในรัชกาลที่ ๖ รูปที่แปดคือ พระสุนทรธรรมโกศล (เกตุ ธมมทินโน) ป.ธ.๖ รูปที่เก้าคือ พระครูสาธุกิจโกศล (ไวยท์ มุตตถาโม) ป.ธ.๕ สมณศักดิ์ปัจจุบันคือ พระธรรมญาณมุนี รูปที่สิบคือ พระสิทธิมงคล หรือหลวงพ่อสวัสดิ์

               หลวงพ่อสวัสดิ์เป็นพระปฏิบัติดี มีเมตตา นักพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่ง ยังคงตั้งใจที่จะปรับปรุงปฏิสังขรณ์พระอุโบสถวัดศาลาปูน ให้ดียิ่งขึ้นเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวของ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่นักท่องเที่ยวต้องมาเยี่ยมชมโบราณสถานอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ที่มีที่มาตั้งแต่ยุครัตนโกสินทร์

               บ่อยครั้งที่หลวงพ่อสวัสดิ์รับกิจนิมนต์นั่งปรกอธิษฐานจิตปลุกเสกวัตถุมงคลให้นักสร้างหรือผู้สร้างพระต่างๆ จนมีประสบการณ์ดีๆ ที่ไม่น่าเชื่อเกิดขึ้นมาอย่างมากมาย ทำให้วัตถุมงคลของหลวงพ่อสวัสดิ์เป็นที่ต้องการเสาะแสวงหา ก็ด้วยบารมีของหลวงพ่อนั่นเองที่คุ้มครองลูกศิษย์ลูกหาทุกคนให้แคล้วคลาดปลอดภัยเจริญรุ่งเรือง

               ปัจจุบันวัดไม่ได้มีการจัดสร้างวัตถุมงคลเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เพราะตั้งแต่หลวงพ่อสวัสดิ์มรณภาพ (๑๓มีนาคม ๒๕๕๖) ยังมีวัตุมงคลที่สร้างไว้เมื่อครั้งที่ท่านมีชีวิตอยู่เหลืออีกจำนวนมาก
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ