พระเครื่อง

เหรียญหลวงปู่ทวดบล็อกช้างปล้องรุ่น๓พ.ศ.๒๕๐๔

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เหรียญหลวงปู่ทวดบล็อกช้างปล้องรุ่น ๓ พ.ศ. ๒๕๐๔ สร้างขึ้นมาด้วยเนื้ออะลูมิเนียมทำขาปิ่นโต : พระองค์ครู

               นวโลหะ เป็นโลหะผสมในการสร้างพระเครื่องตามสูตรโบราณ หมายถึงโลหะ ๙ ชนิดที่หลอมให้เป็นเนื้อเดียวกัน ประกอบด้วยโลหะ ๕ ชนิด เรียนว่าเบญจโลหะ ได้แก่ เหล็ก ปรอท ทองแดง เงิน ทองคำ (ทองเป็นเกล็ดหรือทองเป็นก้อนซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ) ถ้าเพิ่มอีก ๒ ชนิด คือ เจ้าน้ำเงิน (แร่ผสมชนิดหนึ่งมีพลวงเป็นส่วนผสมหลักสีเขียวเป็นสีน้ำเงิน) และสังกะสี รวมเป็น ๗ ชนิด เรียกว่า สัตตโลหะ (สัตตะ=เจ็ด) และถ้าเพิ่มอีก ๒ ชนิด คือ ชิน (โลหะผสมชนิดหนึ่งประกอบด้วยตะกั่วและดีบุก นิยมใช้ทำพระเครื่อง) และบริสุทธิ์ (คือทองแดงบริสุทธิ์) รวมเป็น ๙ ชนิด เรียกว่า นวโลหะ (นวะ=เก้า)

               อัลปาก้า นั้น คือโลหะผสมระหว่างทองแดงกับนิกเกิลโดยยึดสัดส่วนเหมือนทองเหลืองคือ ทองแดง ๗๕ เปอร์เซ็นต์ นิเกิล ๒๕ เปอร์เซ็นต์ หากมีทองแดงเพิ่มมากขึ้นจะทำให้อัลปาก้ามีสีออกเหลืองมากยิ่งขึ้นตามสัดส่วนของทองแดง จึงป็นที่มาของ เนื้อช้อนส้อม หรืออัลปาก้าเปลือย

               ทองฝาบาตร คือทองเหลืองที่ผ่านการปั๊ม (พระที่ทำด้วยทองเหลืองด้วยกรรมวิธีปั๊ม) เพียงแต่เขามาเรียกให้โก้ๆ เท่านั้นเองเพื่อจะได้จำหน่ายพระในราคาที่สูงขึ้น เนื่องจากคนทั่วไปไม่รู้ว่า แท้ที่จริงก็คือทองเหลืองล้วนๆ นั่นเอง

               นอกจากนี้ยังมีเนื้อขาปิ่นโต หรือเนื้ออะลูมิเนียม ซึ่งสมัยก่อนนิยมทำเหรียญกันมาก เช่น เหรียญท้าวหิรัญพนาสูร (ฮู) รุ่นแรกที่รัชกาลที่ ๖ ทรงสร้างในปี ๒๔๖๕ เหรียญพระพรหมหลวงปู่สี วัดสะแก อยุธยา เนื้อขาปิ่นโตพระสิบทัศน์หล่อ เนื้อขาปิ่นโต หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม จ.นครปฐม เหรียญสรงน้ำเนื้ออะลมิเนียม (ขาปิ่นโต) เหรียญสรงน้ำหลวงพ่อพรหม วัดช่องแคเหรียญครูบาแบ่ง เนื้อขาปิ่นโตวัดบ้านโตนด จ.นครราชสีมา รุ่นสมปรารถนา เหรียญหลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่เนื้อขาปิ่นโต  ปี ๒๕๐๖  และเหรียญหลวงพ่อคูณ รุ่นเจริญพรล่างเต็มองค์ ๘๙ เนื้อขาปิ่นโต ออกวัดถนนหักใหญ่ ปี ๒๕๕๕

               สำหรับภาพพะองค์ครูฉบับนี้เป็น "เหรียญหลวงปู่ทวดบล็อกช้างปล้องรุ่น ๓ เนื้ออะลูมิเนียมขาปิ่นโตวัดช้างให้ พ.ศ. ๒๕๐๔" พระครูวิสัยโสภณ หรือพระอาจารย์ทิม อดีตเจ้าอาวาสวัดช้างให้ ท่านสร้างดีพิธีใหญ่ มีหลายเนื้อทั้ง ทองแดงรมดำ เงิน ทองคำ และยังมีเนื้ออะลูมิเนียมขาปิ่นโต ผ่านพิธีปลุกเสกที่วัดช้างให้ จ.ปัตตานี พร้อมกับพิมพ์อื่นๆ

               ส่วนเหตุผลที่เรียกว่า พิมพ์ช้างปล้อง ดูได้จากบนงวงของช้างที่หมอบอยู่ข้างเข่าองค์หลวงพ่อทวด ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา จะมีเม็ดไข่ปลาเรียงอนุกรมดูเป็นปล้องๆ จะเห็นได้ชัดที่งวงช้างซ้าย มือของหลวงพ่อทวด ลักษณะพิเศษเช่นนี้จะไม่ปรากฏในเหรียญเสมารุ่น ๓ พิมพ์อื่นๆ คือ งวงช้างจะราบเรียบ ไม่มีลักษณะเป็น "ปล้อง" เหมือนเหรียญพิมพ์นี้

               เหรียญหลวงปู่ทวดรุ่น ๓ ที่มากด้วยประสบการณ์ผู้สนใจติดต่อบูชาได้ที่อาคารศุภมิตรภายในวัดมกุฏกษัตริยาราม โทรศัพท์ ๐๘-๑๙๓๙-๒๘๒๘  และ ๐-๒๒๘๐-๑๓๗๔ รายได้สมทบทุนในการก่อสร้างสถานปฏิบัติธรรมและกองทุนรักษาพระภิกษุ-สามเณรอาพาธ และผู้ป่วยยากไร้
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ