พระเครื่อง

'พระพิมพ์เม็ดกระดุมศรีวิชัย'อายุกว่าพันปีอ.พุนพิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'พระพิมพ์เม็ดกระดุมศรีวิชัย'อายุกว่าพันปี อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี : ปกิณกะ พระเครื่อง โดยตาล ตันหยง

                วันนี้...คอลัมน์ "ปกิณกะพระเครื่อง" ขอนำเสนอ พระกรุดังของภาคใต้ นั่นคือ พระพิมพ์เม็ดกระดุมศรีวิชัย กรุเขาศรีวิชัย อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี อายุความเก่ากว่า ๑ พันปี

                 ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มอบภาพพระสภาพสวยแชมป์มาทีเดียว ๖ องค์ พร้อมกับข้อมูลประกอบที่น่าสนใจ...ที่สำคัญ คือ เป็น "พระบ้านเกิด" ของท่านเอง จึงให้ความสนใจศึกษาเป็นพิเศษ โดยได้เก็บสะสมเอาไว้จำนวนมากหลายสิบองค์

                 ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ได้ให้ข้อมูลว่า...พระพิมพ์เม็ดกระดุมศรีวิชัย เป็นพระพิมพ์เนื้อดินดิบ มีสัณฐานทรงกลมครึ่งซีก หลังอูมนูน ส่วนใหญ่มักจะปรากฏลายนิ้วมือที่กดพิมพ์  ขนาดเล็กคล้าย "เม็ดกระดุม" (เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒ ซม.) อันเป็นที่มาของชื่อพระพิมพ์นี้

                 ด้านหน้ารอบองค์พระ จะยกขอบขึ้นมาคล้ายยกซุ้ม ต่ำลงมาจากขอบที่ยกขึ้นมาเล็กน้อยปรากฏเป็นองค์พระอยู่ตรงกลาง

                 องค์พระเป็นลักษณะพระพุทธรูป ประทับนั่งขัดสมาธิราบ ลอยนูนขึ้นมาจากพื้น บนดอกบัว ๒ ชั้น ชั้นบน ๗ กลีบ ชั้นล่าง ๗ กลีบ

                 องค์พระแสดงปางสมาธิ มีประภามณฑลเบื้องหลังพระเศียร และรอบองค์พระ มีจารึกพระคาถา “เย ธมฺมาฯ” ซ้อนกันสองชั้น ทั้งด้านซ้ายและขวา เป็นภาษาสันสกฤต ตัวอักษรเทวนาครี อันเป็นอักขระโบราณที่นิยมใช้แพร่หลายในประเทศอินเดียตอนเหนือ จำนวน ๔ บท อ่านว่า

                 "เย ธัมมา เหตุปัปภวา, เตสัง เหตุง ตถาคโต, เตสัญ จะ โย นิโรโธจ, เอวัง วาที มหาสมโณติ”

                 แปลว่า “ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุของธรรมเหล่านั้น และความดับของธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีวาทะอย่างนี้” (แปลโดยท่านอาจารย์ชะเอม แก้วคล้าย ผู้ชำนาญภาษาโบราณประจำหอสมุดแห่งชาติ...ขอขอบพระคุณอย่างสูง)...พระคาถานี้ เป็นบทย่อจาก หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า

                 จากการสืบค้นข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ได้จากหลายแหล่ง กล่าวตรงกันว่า พระพิมพ์เม็ดกระดุมศรีวิชัย นี้ค้นพบครั้งแรกโดยบังเอิญของชาวบ้านที่ประสงค์จะขุดหาลูกปัด เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๕ ที่เนินจอมปลวก บริเวณบ้านของนางอารีย์ เรืองเจริญ ซึ่งในอดีตที่ดินแห่งนี้เป็นบริเวณ วัดเขาศรีวิชัย ต.เขาศรีวิชัย อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี

                 ครั้งนั้น พบพระมาประมาณ ๑๐๐ องค์เศษ ต่อมาในเดือนธันวาคม ๒๕๓๓ ได้มีชาวบ้านขุดพบพระพิมพ์นี้ในบริเวณ วัดเขาศรีวิชัย อีก ได้พระประมาณ ๒,๐๐๐ องค์เศษ  (อ้างอิงจาก ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร <องค์กรมหาชน> <http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscribe_detail.php?id=752>)

                 ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า....ตนเองเคยสนทนากับผู้เชี่ยวชาญพระเนื้อดิน และประวัติศาสตร์จีน คือ รศ.พรชัย ตระกูลวรานนท์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านได้กล่าวว่า

                 "ในทางโบราณคดี พระเนื้อดินดิบของทางใต้ ตั้งแต่ อ.พุนพิน ลงไป ตลอดแหลมมาลายู เป็นธรรมเนียมการสร้างพระเพื่อต่ออายุพระศาสนาในคติแบบมหายาน การสร้างพระทำโดยการนำดินเหนียวผสมกับส่วนผสมอื่นๆ แล้วกดลงบนแม่พิมพ์หินแกะ ส่วนใหญ่จะเป็นรูปพระพุทธ หรือพระโพธิสัตว์ในนิกายมหายาน แต่จะไม่นำไปเผาเหมือนพระกรุอื่นๆ เป็นที่มาของพระพิมพ์ดินดิบ"

                 ปัจจุบัน พระพิมพ์เม็ดกระดุมศรีวิชัย นับเป็นพระกรุที่ได้รับความนิยมสูงสุดพิมพ์หนึ่งของภาคใต้ เพราะถือว่า มีอายุความเก่ามากที่สุดสกุลหนึ่งในบรรดาพระกรุของเมืองไทย คือ กว่า ๑,๒๐๐ ปี

                 พระพิมพ์เม็ดกระดุมศรีวิชัย แบ่งพิมพ์ตามมาตรฐานนิยมได้ ๒ พิมพ์ คือ พิมพ์ต้อ  อันเป็นนิยม (ตามภาพองค์โชว์ที่ ๑-๓ สังเกตดูองค์พระจะดูต้อล่ำกว่าพิมพ์หนึ่งชะลูด) และ พิมพ์ชะลูด (องค์โชว์ที่ ๔-๖)

                 เนื้อพระ มีหลายสี เช่น สีพิกุล สีดำ สีขาวนวล ฯลฯ ค่านิยมอยู่ที่หลักหมื่นขึ้นไปถึงหลักแสน โดยเฉพาะในองค์ที่สวยสมบูรณ์คมชัด จนเห็นรายละเอียดของพระพักตร์ และตัวอักขระโบราณ

                 ทุกวันนี้ พระพิมพ์เม็ดกระดุมศรีวิชัย จัดเป็น พระกรุ ที่หาดูองค์แท้ได้ยาก เพราะถูกนักสะสมหลักๆ เก็บไว้บูชา ชนิดไม่ยอมปล่อย

                 ขณะเดียวกันก็มี พระปลอม ออกมาระบาดอีกด้วย...พระปลอมส่วนใหญ่เนื้อจะเพี้ยน ตัวอักขระโบราณไม่คมชัด องค์พระและขอบซุ้มดูผิดธรรมชาติ

                 พระองค์ที่โชว์ทั้งหมดนี้ เป็นพระที่มีความสวยงามสมบูรณ์ตามสภาพพระที่ไม่ได้ผ่านการใช้มาก่อน กดพิมพ์ได้คมชัดทุกมิติ จนเห็นรายละเอียดของพระพักตร์ และตัวอักขระโบราณ บางองค์เห็นชัดเจนมาก

                 ขอขอบพระคุณ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้กรุณาเอื้อเฟื้อภาพ และข้อมูล เป็นอย่างสูงไว้ ณ โอกาสนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ