Lifestyle

ส่งเสริมปลูกข้าวญี่ปุ่นแทนข้าวเหนียว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ส่งเสริมปลูกข้าวญี่ปุ่นแทนข้าวเหนียว เพิ่มทางเลือกเกษตรกรภาคเหนือ : ดลมนัส กาเจรายงาน

                ข้อมูลจากศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย กรมการข้าว ระบุว่า ในพื้นที่ จ.เชียงราย มีพื้นที่การเกษตรทั้งหมด 1,414,313 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวทำนาถึง 55% หรือกว่า 7 หมื่นไร่ ส่วนใหญ่เกษตรกรจะปลูกข้าวเหนียวพันธุ์ กข.6 ข้าวเหนียวสันปาตอง แต่หลังจากที่รัฐบาลชุดที่แล้วดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวเปลือก ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวเจ้า ข้าวพันธุ์ กข.47 กข.49 และข้าวหอมมะลิ 501 เป็นต้น

                ล่าสุด คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ยืนยันอย่างชัดเจนว่า ยกเลิกนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกและจะไม่นำนโยบายประกันราคาข้าวมาใช้อย่างแน่นอน แต่เน้นในการช่วยเหลือสนับสนุนปัจจัยการเพาะปลูกและส่งเสริมให้ลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากพบว่าการทำนาในประเทศไทยมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น ทางออกของเกษตรกรชาวนาต้องเปลี่ยนวิถีการทำนาใหม่ เพื่อให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน ด้วยการหาแนวทางลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ หรือเปลี่ยนไปปลูกพืชผลทางการเกษตรอย่างอื่นที่มีรายได้ดีกว่า

                อย่างที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะที่เชียงราย ซึ่งมีสภาพอากาศที่หนาวเย็น ทางกรมการข้าวร่วมมือกับภาคเอกชน ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวญี่ปุ่นแทน หลังจากที่พบว่า ปัจจุบันธุรกิจอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยได้รับความนิยมจากผู้บริโภคสูงมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง ปรากฏว่ามีเอกชนที่สนใจกว่า 10 ราย ส่งเสริมให้เกษตรปลูกข้าวญี่ปุ่นราวปีละ 1 แสนไร่

                นายชาญพิทยา ฉิมพาลี อธิบดีกรมการข้าว ระบุว่า การส่งเสริมให้เกษตรกรในภาคเหนือปลูกข้าวญี่ปุ่นเพราะว่าปัจจุบันกิจการอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยได้รับความนิยมจากผู้บริโภคสูงมากขึ้นเรื่อยๆ จึงมองว่า ตลาดข้าวญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดเฉพาะ มีศักยภาพเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทางกรมการข้าวจึงร่วมมือกับภาคเอกชนกว่า 10 ราย ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ จ.เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ปลูกข้าวญี่ปุ่นในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา หรือคอนแทรกฟาร์มมิ่ง ในพื้นที่ปลูกปีละราว 1 แสนไร่ โดยบริษัทเอกชนจะเป็นผู้รับซื้อผลผลิตในราคาประกันข้าวเปลือก กก.ละ 10-13 บาท  ภายใต้ชมรมผู้ผลิตข้าวญี่ปุ่นแห่งประเทศไทย

                ปัจจุบันสามารถผลิตข้าวเปลือกได้ปีละกว่า 6  หมื่นตัน แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงมอบให้ ศูนย์วิจัยข้าวเชียงรายจัดตั้งศูนย์ข้าวชุมชนข้าวญี่ปุ่นแห่งแรกที่ ต.แม่พริก อ.แม่สรวย เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวญี่ปุ่นในพื้นที่ 200 ไร่ และจะเร่งผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่ายให้ได้ 800 ตันต่อปี เพื่อจำหน่ายให้ภาคเอกชนนำไปส่งเสริมอย่างเพียงพอ และเปิดโอกาสให้เกษตรกรในพื้นที่มีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้นและมีรายได้เพิ่ม โดยกรมการข้าวจะเข้าไปกำกับดูแลการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้ได้มาตรฐาน มีคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีเหมือนข้าวญี่ปุ่นพันธุ์แท้ที่ปลูกในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งต่อไปข้าวญี่ปุ่นที่ปลูกในประเทศไทยจะได้ขยายตลาดสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ต่อไป

                ด้าน นายปิยะพันธ์ ศรีคุ้ม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย ระบุว่า การทดลองเพาะปลูกข้าวญี่ปุ่นครั้งแรกที่สถานีทดลองข้าวพาน จ.เชียงราย เมื่อปี พ.ศ. 2507 จนได้พันธุ์แนะนำ จำนวน 2 พันธุ์ คือพันธุ์ ก.วก.1 (ซาซานิชิกิ) และ ก.วก.2 (อะกิตะโกะมะชิ) และส่งเสริมการเพาะปลูกสู่เกษตรกรเมื่อปี 2538 แต่เกษตรกรไม่ได้สนใจมากนัก เพราะวิถีชีวิตของเกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกข้าวเหนียวพันธุ์ กข.6 และข้าวเหนียวพันธุ์สันปาตอง บางส่วนปลูกข้าวหอมมะลิ 501 ทางกรมการข้าวมองว่าการปลูกข้าวญี่ปุ่นน่าจะมีรายได้ดีกว่า จึงร่วมมือกับเอกชนเข้ามาส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกข้าวญี่ปุ่นอย่างจริงจังเมื่อปี 4-5 ปีที่ผ่านมา พบว่าเกษตรกรมีรายได้ที่ดีกว่า

                สอดคล้องกับการยืนยันของนางโสทิม กันธิยะ เกษตรกรวัย 52 ปี จากบ้านป่าจั่น ต.เวียงกาหลง อ.เวียงปักเป้า จ.เชียงราย ว่า ทำนามาตั้งแต่เด็ก มีที่นาอยู่ 120 ไร่ ส่วนใหญ่จะปลูกข้าวเหนียวพันธุ์สันป่าตอง แต่รายได้ไม่แน่นอน กระทั่งเมื่อ 3 ปีก่อนมีบริษัท มหานครไรซ์ จำกัด มาส่งเสริมการปลูกญี่ปุ่นในรูปแบบของพันธสัญญา โดยบริษัท มหานครไรซ์ จะเป็นผู้ซื้อผลผลิตทั้งหมดในราคาประกันที่ กก.ละ 10 บาท จึงตัดสินใจปลูกข้าวญี่ปุ่นเลือกพันธุ์ ก.วก.1 หรือซาซานิชิกิ ช่วงแรกยอมรับว่าไม่มีประสบการณ์ทำให้ได้ผลผลิตไร่ละ 400 กก.เท่านั้น แต่หลังจากที่ได้รับการแนะนำจากบริษัทที่มาส่งเสริม ทำให้การปลูกข้าวญี่ปุ่นปีที่สองดีขึ้น สามารถให้ผลผลิตได้ไร่ละกว่า 800 กก. บางคนได้กว่า 1,200 กก. ใน 1 ปี ทำได้ปีละ 2 ครั้ง ลงทุนครั้งละไม่เกินไร่ละ 3,000 บาท เมื่อหักทุกอย่างแล้ว ได้กำไรกว่า 50% สามารถอยู่ได้ดีกว่าการปลูกข้าวเหนียวหลายเท่าตัว

                ขณะที่นายมงคล คุณานุกุลวัฒนา ผู้จัดการฝ่ายสนับสนุนพัฒนาปลูกข้าวญี่ปุ่น บริษัท มหานครไรซ์ จำกัด สำนักงานอยู่ที่เขตหนองจอก กรุงเทพฯ กล่าวว่า บริษัทได้ร่วมกับกรมการข้าว เพื่อส่งเสริมเกษตรกรที่ จ.เชียงราย ปลูกข้าวญี่ปุ่นเมื่อปี 2554 เริ่ม 300 ไร่ เนื่องจากเห็นว่าตลาดข้าวญี่ปุ่นในประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ข้าวญี่ปุ่นที่นำเข้าราคาสูงมาก หลังจากที่ทดลองตลาดส่วนใหญ่เน้นเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นพบว่า ตลาดไปได้สวยมาก จึงขยายการส่งเสริมเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ไร่ ในพื้นที่ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ และ จ.พะเยา สามารถผลิตข้าวสารญี่ปุ่นได้ปีละ 200 ตัน โดยบริษัทจะเป็นผู้หาเมล็ด โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมการข้าว ส่งเสริมปัจจัยการผลิตก่อน เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวจะเป็นผู้รับซื้อทั้งหมดในราคากก.ละ 10 บาท

                เช่นเดียวกับนายพีระพงษ์ แดงอาจ ผู้จัดการฝ่ายผลิต บริษัท ทนา เกรน จำกัด ต.สันกลาง อ.พาน จ.เชียงราย ซึ่งเป็นผู้ที่ส่งเสริมเกษตรกรปลูกข้าวญี่ปุ่นรายใหญ่ในภาคเหนือ บอกว่า ได้ส่งเสริมเกษตรกรปลูกข้าวญี่ปุ่นมา 5 ปีแล้ว ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ร่วมในโครงการประมาณ 1,500 รายในพื้นที่ปลูกฤดูกาลละ 1.5 หมื่นไร่ หรือปีละ 3 หมื่นไร่ โดยนำผลผลิตทั้งหมดป้อนภัตตาคารฟูจิ ตามสาขาต่างๆ ทั่วประเทศ และมีแนวโน้มว่าหลังจากที่ประเทศไทยเข้าไปเป็นสมาชิกเออีซี ทางภัตตาคารฟูจิอาจขยายสาขาไปไปในเออีซีมากขึ้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นในอนาคต

                การส่งเสริมเกษตรกรปลูกข้าวญี่ปุ่นในภาคเหนือก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะเพิ่มเป็นทางเลือกของเกษตรกรที่เลือกประกอบอาชีพที่มีรายได้ดีกว่า

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ