พระเครื่อง

พระชัยวัฒน์พระครูสอนวัดมักกะสันพิมพ์หน้าเดียว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พระชัยวัฒน์พระครูสอนวัดมักกะสัน พิมพ์หน้าเดียว : ปกิณกะพระเครื่อง โดย.......ฐกร บึงสว่าง

            วัดมักกะสัน เป็นชื่อเดิมของ "วัดดิสหงษาราม" ถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี กทม. เมื่อประมาณพ.ศ.๒๔๘๔ เป็นช่วงมหาสงครามเอเชียบูรพา กำลังคุกรุ่น วัดดิสหงษารามจึงได้จัดสร้างวัตถุมงคลออกแจกจ่ายแก่ทหารที่เตรียมออกรบ ตามคำร้องขอร้องของทางราชการ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ทหารหาญ ตำรวจ และประชาชนที่อยู่ในระหว่างเกิดความวิตกกังวลถึงพิษภัยแห่งสงคราม

            ในช่วงนั้นเอง ได้มีการสร้างวัตถุมงคลกันอย่างมากมายที่สุดเป็นประวัติการณ์ของเมืองไทย โดยบรรดาพระเกจิอาจารย์ดังต่างๆ ได้รับการขอร้องจากทางราชการให้จัดสร้างพระเครื่องรางของขลัง อย่างทั่วถ้วน เพื่อเป็นที่ยึดมั่นทางจิตใจให้สาธุชนได้อุ่นอกอุ่นใจกันนั่นเอง

            พระครูสอน วัดมักกะสัน เป็นลูกศิษย์ของ ท่านเจ้ามา (พระพุฒาจารย์มา) วัดสามปลื้ม ผู้สร้าง พระกริ่งล้มลุก อันโด่งดังในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๕ วัดสามปลื้ม จึงได้จัดสร้าง พระชัยวัฒน์ ขึ้นมาแจกจ่ายเป็นครั้งแรก เมื่อพ.ศ.๒๔๘๔ โดยได้เจริญรอยตามท่านเจ้ามา ผู้เป็นพระอาจารย์ ซึ่งจะสังเกตได้จากลักษณะของ พระชัยวัฒน์ ที่ พระครูสอน สร้างจะมีรูปลักษณ์คล้ายกับ พระชัยวัฒน์ของท่านเจ้ามา หากดูลักษณะโดยรวมแล้วจะคล้ายพระชัยวัฒน์ พิมพ์เศียรทุย ของท่านเจ้ามา ผิดกันที่เนื้อหาและรายละเอียดของพิมพ์ทรง ซึ่งพระชัยวัฒน์ของพระครูสอนเป็นพระหล่อโบราณ เนื้อโลหะแก่ทองเหลือง องค์พระประทับนั่งปางสมาธิบนอาสนะฐานเขียง แบ่งออกเป็น ๒ พิมพ์ คือ  พิมพ์หน้าเดียว และ พิมพ์สองหน้า เป็นที่น่าสังเกตว่า พิมพ์สองหน้า ส่วนของฐานล่างจะบาง และแบนกว่าพิมพ์หน้าเดียว พิมพ์หน้าเดียวฐานจะหนากว่า เศียรค่อนข้างใหญ่ พระชัยวัฒน์ ที่หลวงพ่อสอนสร้างขึ้นนี้จะเน้นหนักพุทธคุณไปทางด้านมหาอุด คงกระพันชาตรีเป็นหลัก จนมีประสบการณ์เป็นที่กล่าวขวัญอย่างกว้างขวาง ทำให้พระชัยวัฒน์รุ่นนี้ขึ้นอันดับทำเนียบ พระชัยวัฒน์ยอดนิยม  พิมพ์หนึ่งของวงการนักสะสมพระสายนี้
    
            องค์ในภาพนี้ คือ พระชัยวัฒน์ พระครูสอน พิมพ์หน้าเดียว ใต้ฐานจารอักขระขอมตัว “อัง” สภาพสวยสมบูรณ์มาก ผิวเดิมๆ ไม่ได้ผ่านการใช้มาก่อน สนนราคาอยู่ที่หลักหมื่นกลางขึ้นไป


‘ท้าวเวสสุวรรณ’พระครูสอนเนื้อดินผสมว่านสบู่เลือด

            นอกจาก พระชัยวัฒน์ ที่ได้รับการขอร้องจากทางราชการให้สร้างแจกทหารเมื่อประมาณพ.ศ.๒๔๘๔ ช่วงมหาสงครามเอเชียบูรพาแล้ว พระครูสอน ยังได้จัดสร้าง พระผงผสมว่านสบู่เลือด อีกด้วย มีทั้งพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เม็ดบัว พร้อมกันนี้ท่านได้สร้างพระพิมพ์ ท้าวเวสสุวรรณ อีกจำนวนหนึ่งไม่มากนัก คนรุ่นใหม่อาจจะไม่รู้จัก แต่คนรุ่นเก่าทราบกันดีว่า พุทธคุณนั้นสุดยอดเหนือคำบรรยายใดๆ
ท้าวเวสสุวรรณ ตนนี้ใต้ฐานอุดผงเต็มๆ แท้ดูง่าย การันตีด้วยรางวัลรองแชมป์งานประกวดพระที่ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ เมื่อปลายปีก่อน

‘พระนางพญา กรุวัดเวียง’เนื้อดินเผา สมัยอยุธยาตอนปลาย

            พระนางพญา วัดเวียง จ.พระนครศรีอยุธยา สมัยอยุธยาตอนปลาย เป็นพระเนื้อดินเผาอีกพิมพ์ของ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่มีผู้นิยมกันอย่างกว้างขวางในทุกวันนี้
แท้ที่จริงแล้ว พระพิมพ์นี้ไม่ได้เป็น พระกรุ เนื่องจากว่าไม่ได้บรรจุไว้ในกรุแต่อย่างใด พระนางพญา วัดเวียง เมื่อครั้งสร้างเสร็จแล้วได้นำบรรจุไว้ในโอ่งทิ้งไว้ในโบสถ์วัดเวียง สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างตอนปลายกรุงศรีอยุธยา หรือต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ประมาณ ๒๐๐ กว่าปีมานี้เอง
           
            ต่อมาชาวบ้านและทหารที่ จ.ลพบุรี ได้มาหยิบพระจากในโอ่งไปใช้ติดตัวบูชายามออกศึกสงคราม ก็ได้พบกับประสบการณ์ทางด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี อย่างน่าอัศจรรย์ ทำให้ชาวบ้านทั้งใกล้ไกลต่างไปเอาพระพิมพ์นี้มาบูชาจนหมดไปจากวัด

            พระนางพญา วัดเวียง พิมพ์นี้องค์พระประทับนั่งปางสมาธิ บนฐานอาสนะหนึ่งชั้น การตัดกรอบข้างขององค์พระ ตัดเป็นรูปสามเหลี่ยมตามลักษณะของพระนางพญาโดยทั่วไป

            พระนางพญา วัดเวียง แยกออกเป็น ๒ พิมพ์ คือ ๑.พิมพ์อาสนะยาว (พิมพ์นิยม) ๒.พิมพ์อาสนะสั้น

            เป็นพระเนื้อดินที่ค่อนข้างหยาบ ซึ่งไม่เป็นเรื่องแปลกอันใด เพราะพระกรุเนื้อดินของ จ.พระนครศรีอยุธยา ส่วนใหญ่เนื้อจะออกลักษณะหยาบอยู่แล้ว ผิวพรรณวรรณะไม่พบ คราบกรุ นอกจากคราบฝ้าขาวๆ สีองค์พระนวลสะอาดแบบสีดินหม้อใหม่ และยังมีเนื้อสีดำอีกด้วย

            ปัจจุบันพระพิมพ์นี้กำลังเริ่มมีคนนิยมมากขึ้นกว่าเดิม จัดว่าเป็น “พระดีราคาถูก” ที่น่าสะสมยิ่งนัก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ