พระเครื่อง

วัดอัมพวันนนทบุรีวัดที่พบ'พระขุนแผนเคลือบแตกกรุ'จริงหรือ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วัดอัมพวันนนทบุรีวัดที่พบ... 'พระขุนแผนเคลือบแตกกรุ'จริงหรือ? : ท่องแดนธรรมเรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

              วัดอัมพวัน เดิมชื่อ วัดบางม่วง ต.บางด้วน อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ตั้งอยู่ริมคลองแม่น้ำอ้อม ซึ่งเป็นคลองโบราณ หรือเรียกว่าเจ้าพระยาเก่า เป็นวัดสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลายประมาณรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง ประมาณ พ.ศ.๒๑๗๕

              การตั้งชื่อวัดแห่งนี้สันนิษฐานว่า ตั้งตามชื่อสภาพการทำสวน "มะม่วง" ของชาวบ้านที่อาศัยอยู่พื้นที่โดยรอบวัด ทั้งนี้คำว่า อัมพวัน หรือ อัมพวาน หมายถึง ป่า หรือสวนมะม่วง โดยในสมัยพุทธกาล สวนอัมพวันตั้งอยู่ระหว่างกำแพงกรุงราชคฤห์กับภูเขาคิชฌกูฏ แต่เดิมเป็นของหมอชีวกโกมารภัจจ์ ครั้งหนึ่งหมอชีวกโกมารภัจจ์เคยถวายการรักษาอาการประชวรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทรงอาพาธให้หายเห็นปกติ แล้วถวายผ้าเนื้อดีจากแคว้นสีพีคู่หนึ่ง พระพุทธองค์ทรงอนุโมทนา ทันทีที่ทรงอนุโมทนาจบลงหมอชีวกโกมารภัจจ์ก็บรรลุโสดาปัตติผล ปัจจุบันในประเทศไทยมีวัดที่ใช้ชื่อว่า "วัดอัมพวัน" มีอยู่เกือบ ๓๐ แห่ง

              "หอไตรกลางน้ำ" เป็นสิ่งที่น่าสนใจของวัดอัมพวัน เพราะเป็นสถาปัตยกรรมไทยที่สมบูรณ์ที่สุด เป็นเรือนไม้ตั้งอยู่ในสระน้ำขนาดเล็ก ตัวหอเป็น ๒ ชั้น ชั้นล่างโล่งไม่มีพื้นและฝา ชั้นบนเป็นตัวหอขนาด ๒ ห้อง ช่วงล่างเป็นลูกฟักกระดานดุน ตอนบนเป็นซี่ลูกกรงไม้กลึงเสากรอบประตูเป็นเสาหัวเม็ด ประตูหูข้าง เครื่องลำยองเป็นไม้จำหลัก หลังคาซ้อน ๒ ชั้น มีปีกนก ๑ ชั้น มุงกระเบื้องดินเผาใต้เชิงชาย และหน้าบันประดับไม้สลักลายรดน้ำ

              ฝาผนังด้านนอกทาสีลูกฟักด้วยสีแดง ขอบขาวตัวไม้เครื่องบันอื่นๆ ทาสีขาว ตัดเหลี่ยมสีแดง เสาลงพื้นสีขาวเขียนลายแดง หน้าบาน ประตูเข้าในหอไตรเป็นบานไม้ลงรักปิดทองลายพุ่มข้าวบิณฑ์ และประจำยามก้านแย่ง อกเลาเป็นไม้จำหลักลายดอกพุดตานลูกฟัก เหนือประตูเป็นภาพนกข้างละตัว เหนือขึ้นไปเป็นภาพพระอาทิตย์ พระจันทร์ ในห้องสะกัดท้ายหอไตรเป็นที่เก็บพานตะลุ่ม และฐานพระพุทธรูปไม้จำหลักเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีมณฑปพระพุทธบาท ภายในมีพระพุทธบาทจำลองทำด้วยโลหะประดิษฐานอยู่บนฐานปูน และศาลาท่าน้ำที่งดงามมาก

              สำหรับพระพุทธรูปศักดิ์ของวัด คือ "พระพุทธมงคลสุโขทัย” ประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถของวัด นอกจากนี้ในกุฏิเจ้าอาวาสมีพระปางเทริดสะดุ้งมาร ซึ่งมีลักษณะเหมือนใส่หมวก อยู่ในท่ายืนตรง มีต้นกำเนิดมาจากสมัยอยุธยา

              ส่วนพระเกจิ่มีชื่อเสียงของวัดนี้ คือ พระครูนนทภัทรประดิษฐ์ หรือ หลวงพ่อดิษฐ์ เป็นหนึ่งในพระเกจิอาจารย์ชื่อดังยุคสงครามโลกครั้งที่ ๒ ท่านมีชื่อเสียงความโด่งดังมากในเรื่องการรักษาโรคด้วยวิทยาคมกับสมุนไพรไทย รุ่นราวคราวเดียวกันกับหลวงพ่อกี๋ วัดหูช้าง หลวงพ่อทองสุข วัดสะพานสูง เป็นต้น เท่าที่ทราบหลวงพ่อดิษฐ์ได้เรียนเรื่องวิชาอาคมมาจากหลวงพ่อเกิด วัดบางเดื่อ ศิษย์ในสายหลวงปู่จัน วัดโมลี และหลวงพ่อโต วัดท่าอิฐ ศิษย์ในสายหลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน และเกจิยุคเก่าอื่นๆ อีกหลายองค์

              หลวงพ่อดิษฐ์ เคยสร้างพระปิดตาเนื้อโลหะ ที่ได้จากแร่แถวบางม่วง ในวงการจะเรียกพระปิดตาบางม่วง ซึ่งหลวงพ่อดิษฐ์สร้างพระปิดตามาตั้งแต่ช่วงสงครามอินโดจีน เพื่อแจกประชาชนไว้ป้องกันตัว พระปิดตารุ่นนี้หายากมากเป็นสุดยอดพระปิดตาเนื้อโลหะอันดับสามของนนทบุรีอันประกอบด้วย พระปิดตาแร่บางไผ่ พระปิดตาบางเดื่อ เป็นต้น เนื่องจากพระเครื่องที่หลวงพ่อดิษฐ์ สร้างออกมาจำนวนน้อย และไม่กี่รุ่น ดังนั้นในวงการจะรู้จักชื่อเสียงท่านไม่มาก

              นอกจากนี้ยังมีวัดแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้วัดแห่งนี้ คือ วัดปรางค์หลวง ตั้งอยู่เลขที่ ๓๒ คลองบางกอกน้อย หมู่ ๑ ต.บางม่วง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี สร้างในสมัยของพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) แห่งกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ประมาณ พ.ศ.๑๘๙๐ (ประวัติจากวัฒนธรรมจังหวัดนนทบุรี) เดิมชื่อ “วัดหลวง” ต่อมาในสมัย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เห็นองค์พระปรางค์ที่ได้สร้างขึ้นไว้พร้อมกับการสร้างวัด จึงได้เปลี่ยนนามวัดนี้ว่า “วัดปรางค์หลวง” อันมีสัญลักษณ์ของพระปรางค์นั่นเอง


วัดอัมพวันมีเจดีย์หักหรือไม่?

              การพบ "พระขุนแผนกรุวัดอัมพวัน" เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ พระเกษมสันต์ ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการพระครูมงคลกิจจาทร (หลวงปูทองย้อย มังคโล) เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน ต.บางด้วน อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี เคยพูดว่า มีไหเพียง ๑ ใบ โดยพบพระกว่า ๑๐๐ องค์เท่านั้น หลังจากนั้นไม่นานไหที่พบเพิ่มเป็น ๒ ใบ ในขณะที่จำนวนพระเพิ่มขึ้นประมาณ ๒๐๐ องค์ ส่วนพระขุนแผนกรุวัดอัมพวัน ที่หมุนเวียนในวงการพระเรื่องเวลานี้ราว ๔๐๐ องค์ มากกว่าที่เปิดไหครั้งแรกถึง ๓๐๐ องค์ ที่เกินมาผู้ครอบครองต่างก็ยืนยันว่าเป็น "พระขุนแผนเคลือบกรุวัดอัมพวัน ๑๐๐%" 

              ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า วัดอัมพวัน จ.นนทบุรี อยู่ห่างไกลจากพระนครศรีอยุธยาค่อนข้างมาก แต่ก็พอสันนิษฐานได้ว่า คลองบางกอกน้อยครั้งโบราณคือแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้เป็นเส้นทางเดินเรือทำมาค้าขายของพ่อค้าวาณิช และขุนศึกนายกองใช้เดินเรือออกรบทัพจับศึก และวัดอัมพวัน หรือวัดม่วงก็เป็นวัดเก่าแก่ สร้างสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา พระเถระจากเมืองหลวงอาจจาริกมาจำพรรษาที่วัดนี้ เป็นไปได้ที่พระคุณเจ้าจะนำพระเครื่องขุนแผนมาบรรจุไว้ภายในเจดีย์ตามประเพณีนิยม

              ประเด็นหนึ่งที่มีข้อถกเถียงและหาข้อยุติไม่ได้ คือ จำนวนไหและพระที่พบ ในที่สุดจึงมีการเสวนา "เจาะลึกพระขุนแผนเคลือบกรุวัดอัมพวัน" ที่โรงแรมริชมอนด์ เมื่อวันพุธที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๖ โดยมีนายพยัพ คำพันธุ์ นายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย นายพิศาล เตชะวิภาค หรือ ต้อย เมืองนนท์ อุปนายกสมาคม พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาตำรวจนครบาน หรือ "บิ๊กแจ๊ส" อาจารย์ภุชงค์ จันทวิช นักโบราณคดี เชาวร์ ริเวอร์ ผู้ชำนาญการวัตถุโบราณ

              อย่างไรก็ตาม เสร็จสิ้นการเสวนามีการตั้งคำถามคำถามหนึ่งที่น่าสนใจ คือ "พบไหกี่ใบและมีพระกี่องค์" เชาว์ ริเวอร์ ยืนยันพระกรุใหม่วัดอัมพวัน แตกออกมาคราวนี้ต้องมี ๓,๐๐๐ องค์ ทั้งนี้ หลังเป็นข่าวฮือฮาไม่กี่วันนักประดาน้ำอยุธยากว่า ๒๐ คน มางมจากใต้ฐานเจดีย์ที่จมอยู่ในน้ำ ได้ไป ๒-๓ ไห มีการปล่อยเช่ากันไปใบละ ๙ ล้านบาท ส่วนตนได้ไว้ ๒ ไห ใบใหญ่มี ๔๐๐ องค์ ใบเล็กมี ๑๘๓ องค์

              เมื่อมีการอ้างว่า "นักประดาน้ำอยุธยากว่า ๒๐ คน มางมจากใต้ฐานเจดีย์ที่จมอยู่ในน้ำ" ขณะเดียวกันที่มาของดินหน้าวัดนั้นสืบเนื่องจากปัญหาอุทกภัยเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๔ ทำให้คลองข้างเจดีย์เก่าแก่ของวัดอยู่ในสภาพที่น้ำในคลองไหลไม่สะดวก มีดินเลนและสิ่งปฏิกูลขวางทางน้ำอยู่ จึงต้องมีการทำความสะอาดครั้งใหญ่ ดังนั้น ทางวัดจึงจัดการขุดหน้าดินขึ้น พร้อมกับตัดหญ้าที่อยู่รายล้อมเจดีย์วัดขณะนั้นจึงทำให้พบวัตถุบางอย่างเป็นไหโบาณที่ถูกคมใบพัดตัดหญ้า
 
              ทั้งนี้ "คมชัดลึก" ได้ลงพื้นที่ได้สอบถามหาข้อมูลเกี่ยวกับเจดีย์ที่จมอยู่ในน้ำจากพระและผู้ที่อยู่ในบริเวณหน้าว่ามีข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจ คือ "ที่ว่ามีฐานเจดีย์จมอยู่ในน้ำมีอยู่จริงหรือ สิ่งก่อสร้างที่เก่าสุดส่วนใหญ่อยู่ห่างจากแม่น้ำเกือบ ๑๐๐ เมตร ที่สำคัญ คือ บริเวณที่ขุดดินขึ้นจากแม่น้ำ ไม่มีแม้กระทั่งเศษอิฐชิ้นส่วนของเจดีย์สักก้อนเดียว"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ