Lifestyle

นำร่องเลี้ยง'บึกสยาม'ในอีสาน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นำร่องเลี้ยง 'บึกสยาม' ในอีสาน เสริมอาชีพสู่รายได้ชาวบ้านโสน : โดย...สุรัตน์ อัตตะ

 

                         ผลสำเร็จจากการวิจัยปลาหนังลูกผสม "บึกสยาม" โดย รศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เม่งอำพัน และคณะ จากคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ส่งผลให้ขณะนี้มีการนำผลงานวิจัยไปขยายผลสู่ชุมชนอย่างกว้างขวาง กระทั่งล่าสุดมีการมอบลูกพันธุ์บึกสยามแก่ชาวบ้านโสน ต.โสน อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ เพื่อนำไปเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมรายได้หลังทำนา

                         หลังชาวบ้านในพื้นที่ นำโดย ลุงทองนาค โมรินทร์ ปราชญ์ชาวบ้านวัย 70 เศษแห่งบ้านโสน ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอความอนุเคราะห์นำลูกปลาบึกสยามมาทดลองเลี้ยงเพื่อการบริโภคและยังสามารถเป็นอาชีพเสริมรายได้อีกด้วย โดยลุงทองนาค เล่าว่าหลังอ่านเจอปลาพันธุ์นี้ในสื่อสิ่งพิมพ์ฉบับหนึ่ง จึงเกิดความสนใจว่าน่าจะเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมได้ เนื่องจากสภาพพื้นที่ในต.โสนก็มีความพร้อมเรื่องน้ำ เพราะมีลำน้ำถึง 3 สาย ได้แก่ห้วยติ๊กชู ห้วยตามอญและห้วยสำราญ ซึ่งมีน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปี

                         "ชาวบ้านที่นี่ก็เลี้ยงปลากันอยู่แล้ว มีทั้งเลี้ยงในกระชังและขุดบ่อเลี้ยง แต่เป็นพวกปลานิล ปลาดุก ก็เลยอยากได้ปลาบึกสยามมาลองเลี้ยงดูบ้าง เห็นว่าเลี้ยงไม่ยากและขายได้ราคาดีด้วย ลุงจึงเขียนจดหมายไปถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขออนุเคราะห์พันธุ์ปลามาเลี้ยง ก็รู้สึกดีใจที่ได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็ว จนมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาดูแลเต็มไปหมด" ลุงทองนาคกล่าวด้วยความตื้นตันใจ

                         ขณะที่องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)โสน ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักการในสานต่อการเพาะเลี้ยงบึกสยามเพื่อสร้างอาชีพเสริมให้กับชาวบ้านในพื้นที่ พร้อมจัดสรรพื้นที่ไว้ส่วนหนึ่งบริเวณข้างที่ทำการอบต. เพื่อจัดทำเป็นศูนย์ต้นแบบการเพาะเลี้ยงปลาบึกสยามสำหรับเกษตรกรหรือผู้สนใจมาดูงานต่อไป  โดยแสงจันทร์ เทศขันธ์ นายกอบต.โสนย้ำว่าขณะนี้ได้เตรียมตั้งงบประมาณประจำปีไว้แล้วเพื่อดำเนินการในโครงการดังกล่าว

                         "ชาวบ้านที่นี่มีอาชีพหลักคือทำนา ยังไม่มีอาชีพเสริมอย่างจริงๆ จังๆ มีบ้างที่เลี้ยงปลา ส่วนมากจะเป็นปลาดุกอุย ปลานิล ปลาตะเพียน แต่ก็น้อย ราคาขายไม่ดี ทำให้ไม่คุ้มทุน ถ้าได้ปลาบึกสยามมาเลี้ยงรายได้ก็น่าจะดีขึ้น เพราะขายได้ราคาดีและมีตลาดรองรับชัดเจน" นายกอบต.โสนให้ความเห็น

                         ด้าน ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีมอบพันธุ์บึกสยามแก่ชาวบ้านต.โสนว่า ตามที่รัฐบาลโดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้แจ้งขอความอนุเคราะห์พันธุ์ปลาบึกสยาม อันเป็นผลผลิตจากงานวิจัยเรื่องการเพาะเลี้ยงปลาหนังเนื้อขาวลูกผสมบึกสยามที่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากวช. หลังจากที่ชาวบ้านใน ต.โสน อ.ขุขันธุ์ จ.ศรีสะเกษ ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอความอนุเคราะห์พันธุ์ปลาบึกสยามสำหรับการเพาะเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมหลังทำนา จากนั้นทางวช. และคณะนักวิจัยจึงได้จัดทำโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการแก่ชาวบ้านที่สนใจ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ การเพาะเลี้ยงอย่างถูกวิธี พร้อมมอบพันธุ์ปลาบึกสยามให้กับชาวบ้านเพื่อดำเนินการเพาะเลี้ยงต่อไป

                         "ขณะนี้วช. และคณะนักวิจัยแม่โจ้ร่วมกับอบต.โสน ศูนย์ประมงน้ำจืดศรีสะเกษและบริษัทสยามปังก้าฟาร์ม จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการเพาะเลี้ยงปลาหนังลูกผสมบึกสยามแก่ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 40 คน และจะใช้ที่นี่เป็นต้นแบบการเพาะเลี้ยงบึกสยามเพื่อขยายผลในพื้นที่ภาคอีสานต่อไป" เลขาธิการวช. กล่าวทิ้งท้าย

                         โครงการส่งเสริมเพาะเลี้ยงบึกสยามในพื้นที่ภาคอีสาน นับเป็นอีกภารกิจสำคัญของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ในการสนองนโยบายรัฐบาลด้วยการนำผลงานวิจัยสู่ชุมชนอันนำมาซึ่งอาชีพและรายได้ที่เพิ่มขึ้นของชาวบ้านเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

 

 

--------------------

(นำร่องเลี้ยง 'บึกสยาม' ในอีสาน เสริมอาชีพสู่รายได้ชาวบ้านโสน : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ