พระเครื่อง

หลวงปู่สุโขทัยวัดศรีบุญเรืองศักดิ์สิทธิ์มากว่า๑๐๐ปี!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลวงปู่สุโขทัยวัดศรีบุญเรือง กับ...ความศักดิ์สิทธิ์ที่สืบต่อกันมากว่า ๑๐๐ ปี ! : ท่องไปในแดนธรรม เรื่อง/ภาพ โดยไตรเทพ ไกรงู

                 "วัดศรีบุญเรือง" เป็นวัดราษฎร์ ฝ่ายมหานิกาย อยู่ในแขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เดิมชื่อว่า “วัดทำนบ” ปฐมเหตุที่เรียกชื่อนี้ สืบเนื่องมาจากในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิต (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพหน้า ร่วมกับเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์ ยกทัพไปสมทบกับทัพหลวง เพื่อเข้าตีกรุงเวียงจันทน์ที่ก่อกบฏ จนสามารถจับเจ้าเมืองเวียงจันทน์ได้ เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๑ จากนั้นได้กวาดต้อนเชลยศึกชาวลาวกลับมายังประเทศไทย โดยส่วนใหญ่ให้ตั้งรกรากอยู่ที่บ้านหัวไผ่ ส่วนที่เหลือให้ตั้งรกรากตรงข้ามกับวัดพระไกรสีห์ (น้อย) และด้านตะวันออกของวัดบางเพ็งใต้

                 ในระหว่างที่ทัพหน้าของเจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิตและเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์ เดินทัพออกจากพระนครนั้น ได้มาหยุดตั้งทัพครั้งแรกที่บริเวณวัดนี้ และทหารได้รับคำสั่งให้ตั้งค่ายพักและบุกร้างถางพง ตลอดจนขุดเป็นสำโหรกทำเป็นทำนบกั้นน้ำในคลองแสนแสบ เพื่อนำน้ำไปใช้ในกองทัพ ครั้นเมื่อกองทัพออกเดินทางต่อไป พื้นที่บริเวณนี้จึงเป็นที่ว่าง ชาวบ้านได้อพยพเข้ามาจับจองเป็นที่ทำกิน เมื่อประชาชนเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น ชาวบ้านจึงนิมนต์พระสงฆ์ให้มาจำพรรษา ณ บริเวณวัดนี้เป็นการถาวร

                 ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๓ ชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมใจกันก่อสร้างวัดขึ้นให้ชื่อว่า วัดทำนบ ตามชื่อที่กองทหารได้มาสร้างทำนบบริเวณหน้าวัด ขณะเดียวกันก็มีผู้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วัดหัวไผ่ ตามชื่อของชุมชนที่อาศัยอยู่ติดกับวัดด้านทิศใต้ จนกระทั่งถึง พ.ศ.๒๕๐๘ วัดจึงได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ตั้งเป็นวัดโดยสมบูรณ์ พร้อมกับได้รับชื่ออย่างเป็นทางการว่า “วัดศรีบุญเรือง”

                 สิ่งที่พุทธบริษัทชาววัดศรีบุญเรือง มีความภาคภูมิใจมากคือ มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่วัด มีพระนามเป็นทางการว่า พระศรีสุโขทัย หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกท่านว่า หลวงปู่สุโขทัย ประดิษฐานอยู่เบื้องหน้าองค์พระประธานในอุโบสถของวัด เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสำริด ปางมารวิชัย (หรือปางชนะมาร) ประดิษฐานอยู่เบื้องหน้าองค์พระประธาน ในอุโบสถของวัดศรีบุญเรือง ขนาดหน้าตักกว้าง ๖๗ ซม. สูง ๗๙ ซม. มีลักษณะงดงามมาก จากการพิสูจน์ทราบของกรมศิลปากร เป็นที่แน่ชัดว่าสร้างในสมัยสุโขทัยยุคต้น

                 ส่วนตามประวัติที่ชุมชนชาวหัวไผ่ ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับวัด ได้เล่าขานสืบต่อกันมาว่า หลวงปู่ได้ลอยน้ำมาตามคลองแสนแสบ และลอยมาอยู่บริเวณหน้าวัดทำนบ (ชื่อวัดศรีบุญเรืองในขณะนี้) นับเป็นเวลาร้อยปีมาแล้ว แต่ไม่สามารถระบุปีที่แน่นอนได้ โดยมีชาวญวนซึ่งมีอาชีพจับปลาและล่าจระเข้ ได้ลากติดอวน จึงอัญเชิญขึ้นมาไว้บนตลิ่ง ใต้ต้นจิก ต่อมาชาวบ้านได้สร้างเพิงเพื่อบังแดดบังฝนถวาย หลังจากนั้นวัดร่วมกับชาวบ้าน จึงได้อัญเชิญหลวงปู่เข้าไปประดิษฐาน ไว้หน้าองค์พระประธานในอุโบสถ

                 อันที่จริงนามเดิมของหลวงปู่ที่ชุมชนชาวหัวไผ่และผู้เคารพบูชา เรียกขานกันมาช้านานจนติดปากคือ หลวงปู่เอ๋ย แต่เนื่องจากพุทธลักษณะของหลวงปู่ และจากการพิสูจน์ทราบ ของกรมศิลปากร ก่อนขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุ ของวัดศรีบุญเรือง เมื่อพ.ศ.๒๕๒๓ ทั้งนี้ เป็นที่ยืนยันว่าสร้างในสมัยสุโขทัยยุคต้น ด้วยเหตุนี้ พระปฏิเวทวิศิษฎ์ เจ้าอาวาสวัดในขณะนั้น จึงเรียกนามท่านใหม่ว่า หลวงปู่สุโขทัย เป็นครั้งแรก จากนั้นสาธุชนทั้งหลาย จึงเรียกนามนี้สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

                 สำหรับความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงปู่นั้น ย่อมเป็นที่ประจักษ์กันดี ในหมู่ผู้ที่เคยมาขอพร และขอความเมตตาจากท่าน โดยเฉพาะคำเลื่องลือว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธ์มาก จึงมีผู้มาขอพรและขอความเมตตาจากหลวงปู่อยู่เสมอๆ ครั้นเมื่อสมหวังตามที่ได้อธิษฐานขอไว้ ก็จะพากันมากราบนมัสการ และแก้บนกับหลวงปู่ ด้วยการปิดทองบ้าง ถวายเครื่องสักการะบ้าง ถวายเครื่องเซ่นสังเวยบ้าง สำหรับเครื่องเซ่นสังเวย ที่ผู้คนนิยมนำมาถวายหลวงปู่ ได้แก่ หมาก-พลู ไข่ต้ม และข้าวต้มมัด แต่สิ่งที่ศิษยานุศิษย์หลวงปู่ ยึดมั่นสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านานว่า หลวงปู่โปรดมากที่สุดคือ การรำละคร และการแสดงลิเกถวาย

                 ทุกๆ ปี วัดศรีบุญเรือง จึงจัดงานสมโภชถวายหลวงปู่ โดยถือเป็นงานประเพณีที่สำคัญของวัด เริ่มงานตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๔ เป็นต้นไป ในอดีตนั้น บางปีอาจจัดงานนานถึงครึ่งเดือน (ขึ้นอยู่กับจำนวนเจ้าภาพที่ได้บนไว้ และเจ้าภาพเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด) ต่อมาได้ลดการจัดงานลงเหลือ ๙ วัน ๙ คืน ต่อมาเหลือ ๗ วัน ๗ คืน และในระยะหลังนี้ได้ลดการจัดงานลงเป็นการตายตัว เหลือ ๕ วัน ๕ คืน

                 อย่างไรก็ตามในเทศกาลตรุษจีน พ.ศ.๒๕๕๖ นี้ ระหว่างวันที่ ๒-๑๐ ก.พ. วัดจะจัดงานพิธียกช่อฟ้าอุโบสถ และพิธีพุทธามังคลาภิเษก ๙ วัน ๙ คืน ภายงานมีมหรสพสมโภช อาทิ ภาพยนตร์ ดนตรี สตริง หมอลำ พร้อมร่วมสร้างบารมียกช่อฟ้า ยกฐานะ ยกตำแหน่ง เสริมบารมีให้ตนเองและครอบครัว ปิดทองช่อฟ้า ผูกผ้าแพร ๓ สีสะเดาะเคราะห์ ไหว้พระปิดทอง ขอพรพระโพธิสัตว์กวนอิม เติมน้ำมันตะเกียงต่ออายุ ต่อชะตาซื้อโลงศพให้ผู้ยากไร้ ไถ่ชีวิตโคกระบือ 

 

มูลนิธิจิตตโสภณภาวนา


                 "มูลนิธิจิตตโสภณภาวนา" โดยมีพระปฏิเวทวิศิษฏ์เป็นผู้ให้กำเนิด ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งมูลนิธิเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ ตามหมายเลขอนุญาตที่ ต. ๖๒๑/๒๕๓๔ เลขคำขอที่๖๒/๒๕๓๔ ปัจจุบันมีพระมหาจันดา รวิวํโส - เจ้าอาวาส และประธานกรรมการมูลนิธิ

                 วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งมูลนิธิจิตตโสภณภาวนา ๑.ส่งเสริมการปฏิบัติธรรมวิปัสสนากรรมฐาน ๒.ให้การสงเคราะห์แก่ผู้ประสบภัยต่างๆ ๓.ให้การสนับสนุนการก่อสร้างถาวรวัตถุ ๔.ให้การช่วยเหลือด้านสาธารณประโยชน์

                 การบวชชีพราหมณ์ (เนกขัมมะ) วัดศรีบุญเรืองได้จัดพิธีบวชชีพราหมณ์ (เนกขัมมะ) เพื่อศึกษาธรรม และปฏิบัติธรรม สำหรับอุบาสก - อุบาสิกา เป็นประจำทุกปี ปีละ ๕ ครั้ง ครั้งละ ๓ วัน ๒ คืน ดังนี้ ๑.วันมาฆบูชา ๒.วันวิสาขบูชา ๓.วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา ๔.วันแม่แห่งชาติ และ ๕.วันพ่อแห่งชาติ สิ่งที่ควรเตรียมมา-ชุดขาว ๒ ชุด แปรงสีฟัน ยาสีฟัน สบู่ ผ้าเช็ดตัว ยารักษาโรค (กรณีมีโรคประจำตัว) สิ่งที่ไม่ควรนำมา-โทรศัพท์มือถือ เครื่องประดับ หนังสืออ่านเล่น

                 ในส่วนของโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์เปิดทำการเรียนการสอนครั้งแรก เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ จนกระทั่งถึงปัจจุบันนับรวมเวลาได้ประมาณ ๑๖ ปี โดยเปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ วิชาที่เปิดอบรม พุทธประวัติ, ธรรมประยุกต์, ศาสนพิธี, ประเพณีไทย และมารยาทแบบไทย สอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานกลาง โทร.๐-๒๓๗๕-๒๔๖๐ และ ๐๘-๗๐๒๑-๓๔๖๗ หรือเข้าชม "www.watsriboonrueng.com"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ