พระเครื่อง

ไหว้พระบรมธาตุ๖ประเทศ๗วัดที่วัดนก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สักการะพระบรมสารีริกธาตุ จาก...๖ ประเทศ ๗ วัด ที่วัดนก กรุงเทพฯ : เรื่อง ไตรเทพ ไกรงู / ภาพ ประเสริฐ เทพศรี

             "พระบรมสารีริกธาตุ"  เรียกโดยย่อว่า "พระบรมธาตุ" หมายถึง ส่วนต่างๆ ของร่างกายโดยเฉพาะพระอัฐิขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งพระองค์ได้อธิษฐานให้เหลือไว้หลังจากการถวายพระเพลิงพระสรีระ ณ เมืองกุสินารา
 
             จำนวนพระบรมสารีริกธาตุส่วนของพระบรมสารีริกธาตุที่ตั้งอยู่ในลักษณะเดิมมิให้ย่อยเล็กหรือถูกทำลายไป มีพระอุณหิส ๑ องค์ พระเขี้ยวแก้ว ๔ องค์ และพระรากขวัญ ๒ องค์ ส่วนพระบรมสารีริกธาตุที่แตกทำลายมีจำนวนทั้งหมด ๑๖ ทะนานซึ่งมีลักษณะและสีหลายอย่างขึ้นอยู่กับส่วนของพระวรกาย
 
             ทั้งนี้ พุทธศาสนิกชนมีคติความเชื่อว่า การกราบไหว้บูชาพระบรมสารีริกธาตุที่บ้าน วัด หรือในพระเจดีย์ เป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน เท่ากับเราได้เข้าเฝ้าต่อพระพักตร์พระพุทธเจ้าโดยตรง อานิสงส์นั้นมีมากมายมหาศาล ทำให้จิตใจเราเบิกบาน แจ่มใส เป็นกุศล จิตจะสะอาดผ่องใสขึ้นเรื่อยๆ บ้านที่มีพระบรมสารีริกธาตุบูชาและมีการปฏิบัติบูชา อยู่ในศีลในธรรมเป็นประจำ บนหลังคาบ้านจะสว่างไสว มีเทพ พรหมเทวดา มาร่วมกราบไหว้โมทนาบุญ คอยดูแลรักษาคุ้มครองพระบรมสารีริกธาตุและคนในบ้าน ให้อยู่เย็นเป็นสุข มีความเจริญก้าวหน้าทั้งในทางโลกและทางธรรม
 
             อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน วัดต่างๆ ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ จากสถานที่ต่างๆ ทั้งค้นพบทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้พุทธศาสนิชนชาวไทยได้กราบไหว้สักการะขอพร ทั้งเป็นการชั่วคราวและถาวร เช่น “วัดนก” ซึ่งตั้งอยู่ ซอยพาณิชยการธนบุรี ๑๓ ถ.จรัญสนิทวงศ์ แขวงคูหาสวรรค์ เขตภาษีเจริญ กทม. ได้จัดสร้างพระมหาเจดีย์ เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธเจ้า ที่ได้อัญเชิญมาแล้ว ๖ ประเทศ ๗ วัด
 
             พระครูสุจิตตาภรณ์ (สมเจต) เจ้าอาวาสวัดนกรูปปัจจุบัน บอกว่า พระบรมสารีริกธาตุที่ได้อัญเชิญมาแล้ว ๖ ประเทศ ๗ วัด ประประดิษฐานอยู่บน พระมหาเจดีย์อยู่ที่วัดนกชั้น ๓ ได้แก่ ๑.วัดศรีมหาโพธิ์ ศรีลังกา ๒.วัดไทยนาลันหา อินเดีย ๓.วัดพระธาตุสายเมือง และวัดหัวช้าง พม่า ๔.วัดราชกิยะพุทธวิหาร เนปาล พระบรมสารีริกธาตุ ลาว ๕.วัดบวรนิเวศฯ ประเทศไทย
 
             ทั้งนี้ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ประทานพระบรมสารีริกธาตุให้กับวัดนก แยกย่อยเป็น ๓ สัณฐาน ได้แก่ ๑. พระนลาฎ (กระดูกหน้าผาก) พระเขี้ยวแก้ว และ ๓.พระรากขวัญ (กระดูกไหปลาร้า)
 
             ส่วนชั้นรองลงมา เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ได้แก่ ๑.พระกกุลันโธ ๒.พระโกนาคมใน ๓.พระกัสสโป ๔.พระพุทธโคดม และ ๕.พระศรีอริยเมตไตรย นอกจากนี้ยังมี พระพุทธรูปประจำวันประสูติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (วันจันทร์) ชั้นล่าง ประดิษฐานพระพุทธโคดมศาสนา หน้าตัก  ๙๙ นิ้ว สูง  ๒.๓๒ ม. ฐานมีพระอรหันต์ ๑๐๘ องค์ ภายในบรรจุแผ่นดวงชะตาชีวิต ๕ แสนแผ่น ทางวัดจัดพิธีสืบดวงชะตาสวดนพเคราะห์แก่เจ้าของแผ่นดวงปีละครั้งในงานประจำปี
 
             เจ้าอาวาสวัดนก ยังบอกด้วยว่า ความงดงามอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือ อุโบสถจัตุรมุข (มุขลอย ๒ มุข) อเนกประสงค์ ๒ ชั้น มีพระพุทธสุโขทัยรัตนมงคล หน้าตักกว้าง ๕๙ นิ้ว เป็นพระประธานประจำอุโบสถ ส่วนผนังด้านในและด้านนอกติดกระเบื้องเบญจรงค์ ชั้นล่างเป็นศาลาการเปรียญ ซึ่งสร้างแทนอุโบสถหลังเก่า ที่สร้างมาแต่ พ.ศ.๒๔๓๑ สร้างอยู่ที่ราบลุ่ม ฝนตกน้ำท่วมทุกครั้ง ชำรุดทรุดโทรมมาก ยากที่จะบูรณปฏิสังขรณ์ให้ดีดังเดิมได้ วัดโดยคณะสงฆ์และกรรมการวัดจึงได้ดำเนินการสร้างอุโบสถหลังใหม่ โดยมีพระครูอุดมประชานาถ หรือหลวงพ่อเปิ่น แห่งวัดบางพระ จ.นครปฐม เป็นที่ปรึกษาและอุปถัมภ์การสร้าง เมื่อสร้างแล้วเสร็จทางวัดจึงหล่อรูปหลวงพ่อเปิ่นยืนประดิษฐานไว้ด้านหลังอุโบสถ


บุญ ...ถมที่และปรับพื้นที่วัด
 
             วัดนก เป็นวัดราษฎร์ฝ่ายมหานิกาย สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ยุคกลาง อุโบสถหลังเก่าได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๔๓๑ ในแผ่นดินสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๕)
 
             ลำดับเจ้าอาวาสมีดังนี้ เจ้าอธิการลอย เป็นเจ้าอาวาส ถึงปี พ.ศ.๒๔๔๔ จึงมรณภาพ เจ้าอธิการรอด ภุมมวัน ได้เป็นเจ้าอาวาสองค์ถัดมา จนถึง พ.ศ.๒๔๖๗ จากนั้น พระครูใบฎีกาบู่ สุนทโร ได้เป็นเจ้าอาวาสองค์ต่อมา และมรณภาพเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๙ จากนั้น พระครูสุจิตตาภรณ์ (สมเจต) ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๐ จนถึงปัจจุบัน
 
             อย่างไรก็ตาม เพื่อหาทุนทรัพย์ถมที่และปรับพื้นที่วัดให้เป็นระดับเดียวกัน ทางวัดจึงได้จัดสร้าง พระพิมพ์สมเด็จ ฐาน ๓ ชั้น ๙ ชั้น เนื้อผงพุทธคุณ ปิดทองเพ้นสี พระโพธิสัตว์กวนอิม เนื้อโลหะผสมเพ้นสี มี ๓ แบบ คือ พระโพธิสัตว์กวนอิมยืน พระโพธิสัตว์กวนอิม๓ หน้า และพระโพธิสัตว์กวนอิมนั่งบนฐานแก้ว
 
             ทั้งนี้ ได้ประกอบพิธีพุทธาภิเษก ทั้งแบบจีนแบบไทย โดยเมื่อวันที่ ๒๑ มี.ค.๒๕๕๕ ได้ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์เจริญจิตภาวนาแบบจีน โดยพระคณาจารย์จีน-ญวณ คณะวัดอุทัยราชบำรุง ตลาดน้อย กทม. และได้ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์มหาสัยสูตร ณ พระบรมธาตุเจดีย์ วัดนก เมื่อวันที่ ๓๑ มี.ค.๒๕๕๕ พุทธศาสนิกชนร่วมบุญได้ที่ วัดนก โทร.๐-๒๔๑๐-๗๘๔๙ และ ๐-๒๔๑๐-๗๗๕๕

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ