พระเครื่อง

"๒๕-๓๐ ล้านบาท!"ค่านิยมล่าสุด...พระปิดตาหลวงปู่แก้ว

“พระปิดตา” มีลักษณะเด่น คือ พระอ้วนลงพุง พระกรหรือมือปิดส่วนต่างๆ เช่น ใบหน้า หู สะดือ และทวาร ซึ่งเป็นการสร้างจำลองลักษณะของ “พระภควัมบดี” หรือ "พระภควัมปติ" อันเป็นอีกนามหนึ่งของพระสังกัจจายน์ โดยมีคติความเชื่อว่า "มีพุทธคุณในเรื่องคงกระพันมหาอุตม์ เมต

           ในจำนวนพระปิดตาของพระเกจิอาจารย์แต่โบร่ำโบราณที่ขึ้นชื่อลือเลื่องจากหลายๆ สำนัก พระปิดตาเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นสุดยอดของพระปิดตาด้วยกันก็คือ "พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ จ.ชลบุรี" ซึ่งเป็นสุดยอดพระปิดตาเนื้อผงคลุกรัก ทั้งนี้เมื่อ ๒-๓ เดือนที่ผ่านมา มีการเช่าซื้อพระปิดตาหลวงพ่อแก้วเป็นข่าวสนั่นวงการพระเครื่อง คือ  พิมพ์ใหญ่ หลังแบบ ๒ องค์ ในราคา ๒๕ ล้านบาท และ ๓๐ ล้านบาท 
 
            ประวัติการเกิดของหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ ไม่ได้มีหลักฐานบันทึกเอาไว้แน่นอน มีแต่เรื่องราวบอกกล่าวของลูกศิษย์ในยุคอดีต เล่าต่อๆ กันมาว่า เดิมท่านเป็นชาว จ.เพชรบุรี เกิดในราวๆ พ.ศ.๒๓๔๐ และมรณภาพเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๑ ทั้งนี้ ท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้หลายประเภท หลายแบบพิมพ์ มีทั้งรูปแบบพระสังกัจจายน์ และรูปแบบพระปิดตา ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากเป็นที่สุด

            วงการพระจึงได้จัดพระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ ให้อยู่ในชุดเบญจภาคีอันดับ ๑ ในพระชุดปิดตา และได้กำหนดแบบพิมพ์มาตรฐานสากล ได้รับความนิยมทั่วไป มีดังนี้ ๑.พระปิดตา พิมพ์ใหญ่ ๒.พระปิดตา พิมพ์กลาง และ ๓.พระปิดตา พิมพ์เล็ก ส่วนด้านหลังองค์พระทั้ง ๓ พิมพ์นี้ เท่าที่พบเห็นมี ๓ แบบ ๓ พิมพ์เช่นกัน คือ ๑.เป็นแบบหลังรูปพระปิดตา (หลังแบบ) ๒.เป็นแบบหลังยันต์ ๓.เป็นแบบหลังเรียบ หรือหลังเบี้ย

            “พระปิดตาหลวงปู่แก้วเป็นพระที่สร้างมายุคเดียวกับพระสมเด็จวัดระฆัง อายุการสร้างประมาณ ๑๕๐-๑๘๐ปี ขณะเดียวกันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่า เป็นพระเครื่องที่ขึ้นชื่อว่าพุทธคุณสุดยอดของมหาเสน่ห์ สูงสุดกว่าพระเครื่องทุกชนิด ถ้าไม่มีพุทธคุณจริงสมคำร่ำลือใครจะกล้าไปเช่าองค์ละ ๒๕-๓๐ ล้านบาท”

            นี้เป็นคำอธิบายของ นายสมภพ ไทยธีระเสถียร หรือ อั๊ง เมืองชล อุปนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ประธานชมรมอนุรักษ์พุทธศิลป์ไทย คนล่าสุด และหนึ่งในกรรมการตัดสินพระชุดเบญจภาคี ที่คร่ำหวอดในวงการพระเครื่องมาเกือบ ๔ ทศวรรษ

            อั๊ง เมืองชล ยังบอกด้วยว่า ความเป็นเมตตามหานิยมของพระปิดตาหลวงปู่แก้ว ถึงกับมีเรื่องเล่ากันว่า ในสมัยโบราณหากใครทำพระปิดตาตกลงไปในตุ่มน้ำ หากใครได้กินน้ำเข้าไปจะคิดถึงแต่คนที่เป็นเจ้าของพระ เพราะการสร้างของท่านได้ใส่ไม้ไก่กุก หรือ ไม้กุ๊กไก่ไว้เป็นมวลสารส่วนผสมสำหรับสร้างพระ โดยท่านได้ไม้ไก่กุกระหว่างออกเดินธุดงค์ ซึ่งหากไก่ตัวใดกินไม้ชนิดนี้เข้าไปจะไม่ยอมไปไหน จะหากินอยู่แต่ใกล้ไม้ไก่กุกเท่านั้น

            สำหรับค่านิยมในการเช่าพระปิดตาทั้ง ๒ องค์นั้น เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘ ราคาอยู่ที่ประมาณ ๒-๓ แสนบาท จากนั้นค่านิยมก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่ง พ.ศ.๒๕๕๐ มีการเช่าซื้อกันในราคา ๑๕ ล้านบาท และล่าสุดทั้ง ๒ องค์มีการเช่ากันในรอบ ๒-๓ เดือนที่ผ่านมา คือ องค์หนึ่ง ๒๕ ล้านบาท และ ๓๐ ล้านบาท ค่านิยมพระปิดตาหลวงปู่แก้วระดับนี้มีอยู่ไม่เกิน ๑๐ องค์ ที่หมุนเวียนกันอยู่ในวงการพระเครื่อง ส่วนองค์อื่นๆ หากเป็นของแท้ก็ต้องไม่ต่ำกว่า ๑๐ ล้านบาทเช่นกัน

            “ช่วง ๒-๓ ปี ที่ผ่านมานี้ มีใบสั่งซื้อพระปิดตาหลวงปู่แก้ว ทั้งเศรษฐีและเซียนพระชนิดที่เรียกว่า เซียนหาให้ไม่ทัน เมื่อแย่งกันเช่าราคาจึงสูงขึ้น และหากการเมืองสงบ เศรษฐกิจดี อีก ๒-๓ ปีข้างหน้า พระทั้ง ๒ องค์นี้น่าจะขยับไปถึงหลัก ๔๐-๕๐ ล้านบาท และเท่าที่รู้คนเช่าเพื่อไปแขวน มิได้เช่าเพื่อฝากเก็บไว้ในเซฟของธนาคาร” อั๊ง เมืองชล กล่าว

            อย่างไรก็ตาม การเช่าพระปิดตาองค์เดียวในราคา ๒๕-๓๐ ล้านบาท คนทั่วๆ ไป โดยเฉพาะคนที่อยู่นอกวงการพระเครื่องอาจจะมองว่า “งมงาย ไม่รู้จักใช้เงิน” ทั้งนี้ อั๊ง เมืองชล พูดไว้อย่างน่าคิดว่า “คนกรุงเทพย่อมรู้ว่าที่ดินย่านสีลมตารางวาละ ๗ แสนบาท ๑๐๐ ตารางวาซึ่งท่ากับ ๑ งานก็ปาไป ๗๐ ล้านบาท คนบ้านนอก คนต่างจังหวัดอาจจะมองว่าที่ ๑ งานจะเอาไปทำอะไรได้ คนมีปัญญาเท่านั้นที่จะรู้ว่า ที่เท่านี้มันสร้างประโยชน์ได้มากกว่าที่ ๑๐ ไร่ ๑๐๐ ไร่ในต่างจังหวัด พระเครื่องก็เช่นกัน คนรู้คุณค่าเท่านั้นถึงกล้าซื้อ ที่สำคัญคือ เป็นพระแท้พระยอดนิยมเก็บไว้ไม่มีขาดทุน”

เบญจภาคีพระปิดตาเนื้อผงคลุกรัก

            พระปิดตา เข้าใจกันว่า มาจากคติการสร้างพระเครื่องของเขมร เผยแพร่เข้าสู่การสร้างพระเครื่องไทย เท่าที่ค้นได้มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เชื่อกันว่าพระปิดตาน่าจะหมายแทนถึง พระอรหันต์อาวุโสองค์หนึ่งของพระพุทธเจ้าที่มีพระนามว่า "พระควัมปติเถระ"

            พระภควัมบดี ถือกำเนิดในตระกูลพราหมณ์-ปุโรหิต แห่งเมืองอุเชนี เนื่องจากวรรณะงดงามดั่งทอง จึงได้รับการขนานนามว่า “กาญจน” ได้ศึกษาไตรเทพจนเจนจบ และเป็นพราหมณ์ปุโรหิตแทนบิดา ในสมัยพระเจ้าจันทร์ปัตโชติ ต่อมาได้มีโอกาสได้ฟังธรรมในสำนักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดความเลื่อมใสและศึกษาธรรมจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ และอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุสัมปทา (พระพุทธเจ้าทำการบวชให้) ท่านเป็นพระอรหันต์สมัยพุทธกาล มีพุทธลักษณะงดงามละม้ายคล้ายสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอัครสาวกรูปหนึ่งที่เพียบพร้อมไปด้วยความเฉลียวฉลาด สามารถอธิบายธรรมได้เยี่ยมยอดแจ่มแจ้ง กว่าพระสาวกองค์อื่นๆ

            นอกจากนี้ท่านยังมีรูปร่างและผิวกายงดงามมาก จนได้ชื่อว่า "พระภควัมปติ" อันมีความหมายว่า "ผู้มีความงามละม้ายเหมือนพระผู้มีพระภาคเจ้า" ด้วยเหตุที่ทำให้ผู้คนเข้าใจผิดอยู่เนืองๆ ไม่เว้นแม้เทวดายังสรรเสริญ ท่านเห็นว่าหากปล่อยไว้ต่อไปจะเป็นการไม่สมควร หรือเกิดความมัวหมองต่อองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้น พระภควัมบดี จึงอธิษฐานจิตให้ร่างกลายเปลี่ยนเป็นอ้วน เตี้ย พุงพลุ้ย ดูน่าเกลียด จวบจนนิพพาน

            ทั้งนี้ อั๊ง เมืองชล ได้จัดอันดับค่านิยมพระปิดตาเนื้อผงคลุกรักชุดเบญจภาคี ที่นักเลงพระจัดลำดับกันไว้นั้น มีดังนี้:
 ๑.พระปิดตา หลวงพ่อแก้ว วัดเคลือวัลย์ จ.ชลบุรี
 ๒.พระปิดตาหลวงปู่ไข่ วัดเชิงเลน (วัดบพิตรพิมุข) กทม. ค่านิยมเช่าหาไม่ต่ำกว่า ๑๐ ล้านบาท
 ๓.พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง จ.นนทบุรี ๔.พระปิดตาหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว จ.กาญจนบุรี ค่านิยมเช่าหาไม่ต่ำกว่า ๕ ล้านบาท
 ๔.พระปิดตาหลวงปู่ภู่ วัดนอก ค่านิยมเช่าหาไม่ต่ำกว่า ๓-๕ ล้านบาท
 และ ๕.พระปิดตาหลวงพ่อเจียม วัดกำแพง จ.ชลบุรี ค่านิยมเช่าหาไม่ต่ำกว่า ๒ ล้านบาท

0 เรื่อง / ภาพ ไตรเทพ ไกรงู 0

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวยอดนิยม