Lifestyle

ยิ่งโควิดแพร่ระบาดยืดเยื้อ ยิ่งทำให้เด็กเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษามากขึ้น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กสศ. จับมือ สพฐ. เร่งทำงานเชิงรุกแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วงชั้นรอยต่อ ในช่วง COVID-19 จัดงบอุดหนุนช่วยนร.ยากจนพิเศษ กว่า 9 แสนคน

สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ปรากฎตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้ออกมาตรการล็อกดาวน์ ขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุด จาก 10 จังหวัดมาเป็น 13 จังหวัด จนล่าสุดขยายมาเป็น 29 จังหวัด 

การที่สถานการณ์แพร่ระบาดยังไม่อาจควบคุมได้ ก็ย่อมส่งผลกระทบไปถึงการศึกษาของนักเรียน และส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพผู้ปกครอง โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ได้เฝ้าติดตาม ซึ่งมีสัญญาณว่า จะทำให้กลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษอาจหลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้น 

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  เปิดเผยว่า  จากการติดตามข้อมูลกลุ่มนักเรียนทุนเสมอภาคกลุ่มรอยต่อ (ชั้นอนุบาล 3,ป. 6 และ ม.3) ภายใต้สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)  จากนักเรียนที่ได้รับเงินสนับสนุน 800 บาท จำนวน 294,454  คน มีนักเรียนที่ระบุว่าจะไม่เรียนต่อ 5,871 คน โดยกลุ่มนักเรียนในสังกัด สพฐ.  286,390 คน ระบุว่าจะไม่เรียนต่อ 5,654 คน  

อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ระบุว่า จะเรียนต่อในภาคเรียนที่ 1/2564 พบว่ามีรายชื่อศึกษาต่อในฐานข้อมูลนักเรียนรายบุคคลจำนวน 214,202 คน หรือคิดเป็น 78.9% ของกลุ่มที่ระบุว่าจะเรียนต่อ และไม่พบข้อมูลในระบบ 57,590 คน หรือ 21.1%   นอกจากนี้ในส่วนของกลุ่มที่แจ้งว่าจะไม่เรียนต่อมีเด็กที่เปลี่ยนใจกลับมาเรียนต่อ 1,428 คน หรือ 25% ของกลุ่มที่ระบุว่าจะไม่เรียนต่อ

ยิ่งโควิดแพร่ระบาดยืดเยื้อ ยิ่งทำให้เด็กเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษามากขึ้น

ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวว่า ฐานข้อมูลสารสนเทศนี้จะเป็นเป้าหมายสำคัญที่ช่วยกำหนดทิศทางของ กสศ.ในการออกสองมาตรการ คือมาตรการป้องกัน-มาตรการแก้ไขปัญหาการหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างเป็นระบบ ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการสำรวจข้อมูลนักเรียนเพิ่มเติมทั้งในส่วนของเด็กที่ระบุว่าจะเรียนต่อแต่สุดท้ายไม่ได้เรียนต่อ ว่าปัจจุบันไปอยู่ที่ไหน และเหตุผลที่ไม่ได้เรียนต่อคืออะไร รวมทั้งกลุ่มที่ระบุว่าจะไม่เรียนต่อและเปลี่ยนใจกลับมาเรียนต่อ  ว่ามาจากสาเหตุใด เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์และวางแผนการทำงานช่วยเหลืออย่างเป็นระบบต่อไป โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนที่จบชั้น ม.3 จากข้อมูลของกลุ่มที่ระบุว่าจะเรียนต่อ  65,101 คน แต่มีรายชื่อศึกษาต่อในฐานข้อมูลนักเรียนรายบุคคลว่าเรียนต่อ ม.4 จำนวน 34,212 คน หรือ 53%  ขณะที่ 30,889 คน หรือ 47% ไม่มีรายชื่อในระบบฐานข้อมูลนักเรียนรายบุคคลของ สพฐ. 

อย่างไรก็ตาม  เบื้องต้นในส่วนของนักเรียนที่จบชั้น ม.3 การนำเด็กนักเรียนกลับเข้าระบบการศึกษาอาจต้องมี การเตรียมมาตรการสนับสนุนสร้างแรงจูงใจให้กลับมาเรียนในชั้น ม.4 หรือสถานศึกษาสายอาชีวศึกษาต่อได้ เช่น จัดโปรแกรมฟื้นฟูภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss Recovery) เพื่อชดเชยช่วงเวลาที่ต้องขาดเรียนไปอย่างน้อย 2-3 เดือน เพราะสาเหตุหนึ่งที่เด็กไม่อยากจะมาเรียนคือกลับมาเรียนแล้วเรียนตามเพื่อนไม่ทัน  โดยอาจทำงานร่วมกับโรงเรียนในเครือข่ายโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) ของ กสศ.   เพื่อทำเป็นโมเดลต้นแบบ หรืออาจทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่นเขตพื้นที่การศึกษาซึ่งมีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนจำแนกตามภูมิภาค

“การทำงานต่อไป กสศ. และหน่วยจัดการศึกษา จะต้องเน้นรูปแบบการทำงานในเชิงรุก โดยไม่รอจนได้ข้อมูลที่รายงานเข้ามาว่าสุดท้ายเด็กหลุดจากระบบการศึกษาแล้วค่อยเข้าไปช่วยเหลือซึ่งอาจจะไม่ทันการณ์ หรือทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปได้ยากกว่ายังอยู่ในระบบแล้วให้ความช่วยเหลือ ดังนั้นจึงต้องเพิ่มการเก็บข้อมูลให้บ่อยขึ้น มีข้อมูลสารสนเทศที่เป็นเรียลไทม์มากขึ้น เพื่อให้เห็นสถานการณ์ของกลุ่มเด็กเปราะบาง รวมทั้งจะต้องทำงานร่วมกันกับโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ในการแก้ไขปัญหาเด็กนอกระบบที่จะเห็นข้อมูลที่ชัดเจนและ real time  ตั้งแต่ก่อนที่เด็กจะหลุดจากระบบการศึกษา และที่หลุดออกไปแล้ว ทั้งนี้คานงัดยุทธศาสตร์ที่สำคัญควรเป็นระบบข้อมูลเด็กและเยาวชนแบบ real time ” ดร.กฤษณพงศ์ กล่าว  

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในฐานะอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข กล่าวว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโควิด- 19  มีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับประกาศของ ศบค.ได้ปรับปรุงเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดขึ้นใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ จาก 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด ซึ่งอาจกระทบกับเด็กนักเรียนในฐานะอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข และหน่วยงานต้นสังกัด (สพฐ. อปท. ตชด.) มีความห่วงใยนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโควิด- 19 ทั้งในส่วนของรูปแบบการจัดการเรียนการสอนของแต่ละพื้นที่ความปลอดภัยในการดำเนินงาน  ตลอดจนกลุ่มจำนวนนักเรียนยากจนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจมีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วงโควิด – 19  ซึ่ง สพฐ.ติดตามเฝ้าระวังและให้ความช่วยเหลือนักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษาทุกคน ที่ตั้งใจลงพื้นที่คัดกรองนักเรียน ถึงแม้มีสถานการณ์โควิด-19 ครูหลายคนยังทำหน้าที่ช่วยเหลือคัดกรองเด็กจนมีตัวเลขเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งหมดล้วนมาจากความทุ่มเท ความเสียสละ แม้วันหยุดก็ยังลงไปในพื้นที่ทำงาน เพื่อช่วยเหลือกลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษ ให้ได้เรียนได้เข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาค

ยิ่งโควิดแพร่ระบาดยืดเยื้อ ยิ่งทำให้เด็กเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษามากขึ้น

“จากสถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มตัวเลขเด็กเสี่ยงหลุดนอกระบบการศึกษาจะเพิ่มขึ้น โดยอาจมาจากสาเหตุเรื่อง
การอยพยพย้ายถิ่นฐาน และโรงเรียนปิดผู้ปกครองยังไม่สามารถพาเด็กนักเรียนไปรายงานตัวกับโรงเรียนได้ ปัจจุบันนักเรียนยากจนพิเศษได้รับการดูแลดีขึ้นเรื่อย ๆ นับเป็นความสำเร็จความภาคภูมิใจร่วมกันของ สพฐ.และ กสศ.
ที่ได้ดำเนินการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ให้เด็กยากจนพิเศษได้รับการดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดย กสศ.และ สพฐ. ได้ปรับลดกระบวนการและเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ COVID-19 แล้วเพื่อให้ครูมีความปลอดภัย และนักเรียนก็ยังคงได้รับความช่วยเหลือ ทั้งนี้ยืนยันว่าเราจะไม่ให้เด็กคนไหนตกหล่นและหลุดจากระบบการศึกษาอย่างแน่นอน และขอบทุกท่านที่ได้ดูแลนักเรียนยากจนพิเศษ ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านในการฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกัน” ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าว

 

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า สำหรับภาคเรียนที่ 1/2564 กสศ.ได้จัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่นักเรียนทุนเสมอภาคกลุ่มเดิมสังกัด สพฐ.เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ในระดับชั้นอนุบาล คนละ 2,000 บาท ระดับชั้นประถมศึกษา– ม.ต้น คนละ 1,500 บาท รวมนักเรียนทั้งหมด 896,087 คน ครอบคลุมสถานศึกษา จำนวน 27,512  แห่ง  จำนวนเงินกว่า 1,388 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าครองชีพ
ค่าเดินทางในการมาเรียน เป็นหลักประกันเพื่อป้องกันเด็กหลุดออกนอกระบบถึงแม้ว่าเงินจำนวนดังกล่าวจะไม่มากแต่สามารถช่วยแบ่งเบาภาระให้แก่ครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ยากจนที่สุดได้ เพราะเมื่อครอบครัวของเด็กนักเรียนกลุ่มนี้เผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ที่เข้ามาซ้ำเติมความยากจน ย่อมมีผลกระทบทำให้เด็กยากจนพิเศษมีโอกาสหลุดออกนอกระบบการศึกษามากขึ้นเช่นกัน

ยิ่งโควิดแพร่ระบาดยืดเยื้อ ยิ่งทำให้เด็กเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษามากขึ้น ดร.ไกรยส  กล่าวว่า จากการติดตามผลการบันทึกข้อมูลนักเรียนยากจน (แบบ นร.01) ณ วันที่ 23 ก.ค. 2564 สถานศึกษาได้บันทึกขอรับเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนมาแล้วประมาณ 1.4 ล้านคน คิดเป็นร้อย 79 ของจำนวนที่จะต้องคัดกรองทั้งหมด เพื่อดำเนินการคัดกรองความยากจนตามขั้นตอนของ กสศ. สำหรับสถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงและยังไม่สามารถดำเนินการคัดกรองความยากจนได้ กสศ.จะเปิดระบบให้บันทึกอีกครั้งระหว่างวันที่ 3 ส.ค.- สิ้นภาคเรียนที่ 1/2564 และจะพิจารณาดำเนินการช่วยเหลือในภาคเรียนที่ 2/2564 ต่อไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ