Lifestyle

"หญ้าแฝก" กำแพงมีชีวิต คืนชีวิต คืนความสมบูรณ์ให้ผืนดินที่นครไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"หญ้าแฝก" กำแพงมีชีวิต คืนชีวิต คืนความสมบูรณ์ให้ผืนดินที่นครไทย

ด้วยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหา และป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน รวมถึงเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนา และให้เกิดความยั่งยืน พระองค์จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้นำหญ้าแฝกมาใช้เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ รวมทั้งการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา
 ในการนี้ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้สนองงานพระราชดำริตามแผนแม่บทการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2560-2564) ในโครงการพัฒนาและรณรงค์การพัฒนาการใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ภายใต้วัตถุประสงค์ เพื่อดำเนินงานสนองพระราชดำริด้านหญ้าแฝก เพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ ลดปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน และเพื่อส่งเสริม ความรู้ ให้เกษตรกรเกิดความตระหนักและเข้าใจในประโยชน์และวิธีการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากใบหญ้าแฝก รวมถึงเพื่อส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกร่วมกับพืชอื่น ๆ ในแปลงเกษตรกรรม ให้เหมาะสมกับชนิดพืชและสภาพพื้นที่ เพื่อสร้างความยั่งยืนในพื้นที่แปลงเกษตรกรรม 
 

                     "หญ้าแฝก" กำแพงมีชีวิต คืนชีวิต คืนความสมบูรณ์ให้ผืนดินที่นครไทย

การดำเนินงานของส.ป.ก.ได้มุ่งเน้นการรณรงค์ ส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตร ที่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ ในการทำการเกษตรที่ถูกวิธี ซึ่งต้องมีการทำการเกษตรแบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

                      "หญ้าแฝก" กำแพงมีชีวิต คืนชีวิต คืนความสมบูรณ์ให้ผืนดินที่นครไทย
ส.ป.ก.ได้เน้นให้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินให้ความสำคัญในการเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรดิน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการประกอบอาชีพการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่การเกษตรที่มีความลาดชัน และพื้นที่เสื่อมโทรมหรือเสี่ยงต่อการชะล้างพังทลายของหน้าดิน จำเป็นต้องมีการอนุรักษ์ทรัพยากรดินโดยการใช้หญ้าแฝก 

               "หญ้าแฝก" กำแพงมีชีวิต คืนชีวิต คืนความสมบูรณ์ให้ผืนดินที่นครไทย
 “แปลงเรียนรู้การใช้ประโยชน์ระบบหญ้าแฝก”  เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญที่ ส.ป.ก.ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเล็งเห็นว่า ในการพัฒนานั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปลูกหญ้าแฝกที่ใจคนก่อน เพื่อให้เกษตรกรเกิดความตระหนักเห็นถึงประโยชน์ของหญ้าแฝก และปลูกหญ้าแฝกร่วมกับพืชอื่นๆ ในแปลงเกษตรกรรมอย่างเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ อีกทั้งยังมีการส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากใบแฝก เพื่อสร้างอาชีพ รายได้ ให้เกิดการเกื้อกูลการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน 

                 "หญ้าแฝก" กำแพงมีชีวิต คืนชีวิต คืนความสมบูรณ์ให้ผืนดินที่นครไทย
นายบอวร พิมสารี เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน บ้านป่าคาย หมู่ที่ 2 ตำบลห้วยเฮี้ย อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก เป็นหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จในฐานะแปลงเรียนรู้การใช้ประโยชน์ระบบหญ้าแฝก ที่ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมและพัฒนาโดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดพิษณุโลก  

“พื้นที่ตรงนี้ แต่ก่อนปลูกพืชเชิงเดี่ยว คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้อย่างเดียว ปลูกผักปลูกอะไรอย่างอื่นไม่ได้เลย ปัญหานั้นมาจากหลายสาเหตุ ทั้งเป็นพื้นที่ลาดชัน กักเก็บน้ำได้น้อย และดินขาดความอุดสมบูรณ์ ชีวิตลำบากมากครับ แต่พอมีโครงการฯเข้ามา มีหน่วยงานต่าง ๆเข้ามาช่วยเหลือ อย่าง ส.ป.ก. อย่างกรมพัฒนาที่ดิน ที่เข้ามาส่งเสริมให้ปลูกหญ้าแฝกตามพระราชดำริ สนับสนุนทั้งองค์ความรู้ ทั้งพันธุ์หญ้าแฝก  และอื่น ๆ”
“ไม่นานครับ เห็นผลเลย หลังจากปลูกหญ้าแฝกไม่นานสังเกตเห็นชัดเลยว่า ดินเริ่มมีความชุ่มชื้น ไม่มีการพังทลายของหน้าดินเหมือนเมื่อก่อน จากนั้นมา ผมก็ลุยปลูกหญ้าแฝกอย่างเต็มที่”นายบอวร กล่าว
เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะหญ้าแฝกมีคุณสมบัติพิเศษที่จะหาจากพืชอื่น ๆ ไม่ได้ นั่นคือเป็นหญ้าที่มีระบบรากแผ่กว้าง สานกันแน่น หยั่งลึกลงไปในดินได้ถึง 1.5-3 เมตร จนมีการเปรียบเทียบว่า เป็นกำแพงที่มีชีวิต ทำให้สามารถเก็บกักน้ำและรักษาความชื้นในดินได้ดี และที่สำคัญอีกประการคือ ไม่ระบาดแพร่กระจายเหมือนวัชพืชอื่นๆ 
สำหรับการปลูกหญ้าแฝกของนายบอวรนั้น จะใช้วิธีการปลูกในหลายรูปแบบตามความเหมาะสมของพื้นที่บริเวณนั้น ๆ เช่น การปลูกแบบขั้นบันไดดิน เพื่อลดความลาดชันและชะล้างของหน้าดิน ด้วยการปลูกหญ้าแฝกให้เป็นแถวตามแนวคันดิน ใช้ระยะห่างระหว่างต้น 5 เซนติเมตร  ปัจจุบันมีหญ้าแฝกที่ปลูกในลักษณะดังกล่าว จำนวน 18 คัน  รวมระยะทางประมาณ 2,000 เมตร 
พร้อมกันนี้ยังมีการปลูกหญ้าแฝกรอบขอบบ่อเก็บน้ำ ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 แถว แถวแรกห่างจากขอบบ่อประมาณ 50 เซนติเมตร และแถวที่ 2 จะปลูกในจุดที่เป็นทางน้ำไหลเข้าบ่อ โดยใช้ระยะระหว่างต้น 5 เซนติเมตร และสุดท้ายปลูกตามทางลงลำเลียง โดยปลูกบริเวณสองข้างของทางลำเลียงข้างละ 1 แถว ใช้ระยะห่างระหว่างต้น 5 เซนติเมตร
นายบอวร กล่าวถึงเทคนิคการจัดการดูแลหญ้าแฝกที่ปลูกว่า หลังจากปลูกแล้ว ปล่อยให้หญ้าแฝกเติบโตตามธรรมชาติ เมื่อมีความสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ให้ทำการตัดใบหญ้าแฝกออก จะเป็นการช่วยเร่งให้เกิดการแตกกอมากขึ้น และเจริญเติบโตเร็วขึ้น ส่วนใบหญ้าแฝกที่ตัดออกมา สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากมาย ทั้งการใช้คลุมดินคลุมโคนต้นไม้ที่ปลูก หรือนำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก
“ต้องขอบคุณหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือผม ทำให้ชีวิตของผมดีขึ้น วันนี้ดินผมดีขึ้น หน้าดินไม่มีการพังทลาย ทำให้ปลูกพืชหมุนเวียนชนิดอื่น ๆได้เพิ่มขึ้น  มีรายได้จากการขายผลผลิตเพิ่มกว่าเดิม จากเดิมปีหนึ่งจะมีรายได้จากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประมาณ 100,000 บาท ตอนนี้สามารถปลูกพืชหมุนเวียนอื่น ๆ เพิ่ม ทำให้มีรายได้มากขึ้นเป็นปีละ 300,000 บาท ทำให้สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างมีความสุข” นายบอวร กล่าว
สำหรับการทำหน้าที่เป็นแปลงเรียนรู้การใช้ประโยชน์ระบบหญ้าแฝก เกษตรกรผู้นี้บอกว่า ยินดีต้อนรับทุกคนที่มีความสนใจและต้องการปรับปรุงสภาพพื้นที่ของตนเองด้วยการปลูกหญ้าแฝก โดยผู้ที่เดินทางมาเยี่ยมชมจะได้รับความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหญ้าแฝก การปลูก การดูแลรักษา รวมถึงการใช้ประโยชน์ต่าง ๆ  เช่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากใบหญ้าแฝก เป็นต้น
ในวันนี้ แฝกที่ปลูกในตำบลห้วยเฮี้ย ไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะการใช้เป็นพืชคลุมดินป้องกันการชะล้างพังทลายเท่านั้น แต่ยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุ ที่ใช้เวลาว่างในการสานตับแฝก จำหน่ายให้กับผู้ที่ต้องนำไปใช้งานเพื่อมุงหลังคาที่พักอาศัย สามารถสร้างรายได้เสริมอย่างน่าพอใจ
แฝก กำแพงมีชีวิต ในวันนี้ ได้สร้างชีวิตใหม่ให้กับเกษตรกร ดั่งที่เกิดขึ้นกับ นายบอวร พิมสารี เกษตรกรต้นแบบในเขตปฏิรูปที่ดิน ที่สามารถมีรายได้จากการทำการเกษตรในผืนดินที่กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้งด้วยการเดินตามแนวพระราชดำริ “หญ้าแฝก” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 พ่อหลวงของปวงชนชาวไทย 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ