Lifestyle

ธวัชชัย คงปัญญา พอเพียงเพื่อยั่งยืนบนผืนดินพระราชทาน 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ธวัชชัย คงปัญญา พอเพียงเพื่อยั่งยืนบนผืนดินพระราชทาน 

ฉะเชิงเทรา เป็น 1 ใน 5 จังหวัด ที่อยู่ในพื้นที่ดำเนินการภายใต้โครงการผืนดินพระราชทาน 5 จังหวัด ที่รับผิดชอบโดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. และได้เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่ ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน เช่น การพัฒนาเส้นทางคมนาคม การชลประทาน และที่สำคัญคือ การพัฒนาเกษตรกรตามหลัก “เศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อสร้างโอกาส “การเข้าถึงองค์ความรู้” “การเข้าถึงระบบตลาด”และ “การเข้าถึงแหล่งทุน” โดยจากผลการดำเนินการได้นำมาซึ่งความอยู่ดีกินดี สร้างโอกาสและอนาคตให้กับเกษตรกร 
 

             ธวัชชัย คงปัญญา พอเพียงเพื่อยั่งยืนบนผืนดินพระราชทาน 

นางจำเรียง  ด้วงคต ผู้เป็นแม่ และนายธวัชชัย คงปัญญา ผู้เป็นลูกชาย คือหนึ่งในครอบครัวเกษตรกรของตำบลหนามแดง อำเภอเมือง  จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่อยู่ภายใต้โครงการฯ และได้รับการสนับสนุนพัฒนาจนสามารถสร้างความมั่นคงในอาชีพ

               ธวัชชัย คงปัญญา พอเพียงเพื่อยั่งยืนบนผืนดินพระราชทาน 
“เดิมนั้นครอบครัวผมไม่มีที่นาทำกินครับ ตายายผมต้องเช่าที่ดินเพื่อทำนา แต่วันหนึ่งทุกอย่างเปลี่ยนไป เมื่อตาและยายได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการผืนดินพระราชทาน 5 จังหวัด ในพื้นที่ 20 ไร่ ซึ่งได้กลายเป็นผืนดินที่ครอบครัวเราทำมาหากินสืบต่อกันมา จากตายาย มาสู่พ่อแม่ และผมกำลังเริ่มต้นเพื่อสืบสานสร้างประโยชน์จากผืนที่ดินพระราชทานผืนนี้ต่อไป”ธวัชชัย กล่าว

       ธวัชชัย คงปัญญา พอเพียงเพื่อยั่งยืนบนผืนดินพระราชทาน 
ผืนดินพระราชทาน จำนวน 20 ไร่ ได้ถูกนำมาใช้ทั้งเพื่อทำการเกษตร และอยู่อาศัย โดยเดิมนั้นเน้นการทำนาเป็นหลัก แต่เมื่อธวัชชัย ได้วางแผนอนาคตว่าหลังจากปลดเกษียณจากงานประจำแล้ว เขาจะกลับมาทำเกษตร มาสร้างรายได้จากผืนดินแห่งนี้ ภายใต้แนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ภายใต้หลักเศรษฐกิจพอเพียง

          ธวัชชัย คงปัญญา พอเพียงเพื่อยั่งยืนบนผืนดินพระราชทาน 
 “การทำงานประจำก็ต้องมีการเกษียณ แต่ว่าจะมาทำเกษตรตอนเกษียณผมว่ามันช้าไป การทำเกษตรไม่ได้ทำครั้งเดียวจะประสบความสำเร็จต้องลองผิดลองถูกและการที่ผมคิดมาทำเกษตรตรงนี้ ผมได้น้อมนำพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในพื้นที่ทำนาของผม จากตอนแรกก็ทำนาอย่างเดียว ก็ปลูกพืชผสมผสาน ให้มีพืชที่ว่าหลายๆอย่างในพื้นที่เดียวกัน ผมมองว่าเป็นแนวทางที่ช่วยสร้างความยั่งยืนให้เป็นอย่างดี ขอเพียงเราดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงเท่านั้น” 
 “พืชเสริมเหล่านี้ ผมเริ่มมาได้ประมาณ 2 ปีแล้วครับ ปรับพื้นที่บางส่วนจากเดิมที่เคยทำนามาปลูกพืชชนิดอื่นที่ตลาดต้องการ เช่น บัว และพืชผักสวนครัว อย่างข่า ตะไคร้ รวมถึงเตย โดยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจาก สำนักงาน ส.ป.ก.จังหวัดฉะเชิงเทรา”
 ในวันนี้ บัวที่ปลูกพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ พืชผักสวนครัวรวมถึงต้นเตยที่ปลูกแซมในพื้นที่ว่าง เช่น คันบ่อปลูกบัว ซึ่งธวัชชัยใช้เวลาว่างในช่วงเลิกงานและวันหยุดมาจัดการดูแล ได้เริ่มให้ผลผลิต สามารถเก็บจำหน่าย สร้างรายได้เสริมให้เป็นอย่างดี
 “ทำไมถึงเลือกปลูกพืชดังกล่าว เพราะ พอดีว่า ใกล้ๆบ้านผมมีตลาด ผมจึงไปสำรวจตลาดว่า มีอะไรที่ต้องการ และพบว่า ดอกบัว ต้นเตย รวมถึงพืชผักสวนครัว เป็นสิ่งที่ตลาดต้องการมาก เลยกลับมาเริ่มปลูก เริ่มทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะเป็นพืชใหม่ที่เรายังไม่เคยทำมาก่อน”
จากการค่อยๆเรียนรู้ จากการลงมือทำจริง สร้างสมเป็นองค์ความรู้ เขาเริ่มจับทางถูกว่า พืชแต่ละชนิดต้องมีการจัดการดูแลอย่างไร จึงจะให้ผลผลิตได้ดี ทั้งการใส่ปุ๋ย การป้องกันกำจัดแมลง รวมถึงแนวทางการจัดการด้านตลาด
“อย่างเทคนิคการดูแลบัว อันดับหนึ่งเลย น้ำต้องประมาณสักครึ่งหน้าแข้งเรา สอง ดูแลพวกหนอนแล้วก็ต้องใส่ปุ๋ยให้เขา ฉีดฮอร์โมนให้เขาบ้าง เขาถึงจะดอกใหญ่” 
ส่วนต้นเตย ซึ่งเน้นปลูกพันธุ์เตยหอม ธวัชชัยบอกว่า ลักษณะการจัดการคล้ายๆกับบัว 
“คือ ปลูกครั้งเดียวจบ ถ้ายิ่งตัดเขาก็ยิ่งแตก และที่สำคัญต้องใส่ปุ๋ย ฉีดฮอร์โมนให้ต้นเตยที่ปลูกบ้าง เพื่อที่ว่าแตกหน่อเร็วและต้นสวย ศัตรูพืชก็เป็นหนอน นาน ๆที จะมีทีหนึ่งก็ต้องฉีดยาหนอน”
ที่สำคัญ ถือเป็นเทคนิคด้านการเพิ่มรายได้ที่น่าสนใจ นั่นคือ การวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในช่วงเวลาสำคัญ
“อย่างช่วงเทศกาลต่าง ๆ ตลาดจะมีความต้องการทั้งดอกบัว และต้นเตยมาก ดังนั้นหากอยากมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น ต้องวางแผนก่อน เช่น สารทจีน ตรุษจีน ดอกบัวจะขายดีมีเท่าไรก็ไม่พอ ผมจะวางแผนก่อนเข้าสู่ช่วงเทศกาลเดือนหนึ่ง จัดการให้ได้ผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น เช่น การใส่ปุ๋ยฉีดฮอร์โมน บำรุงต้นสร้างความสมบูรณ์ให้กับต้น เพื่อที่ ถึงเทศกาลเราจะได้ดอกบัวและต้นเตยให้ตัดได้เยอะมากขึ้น” 
“ดังนั้นผมบอกได้เลยว่า หากไม่มีโครงการผืนดินพระราชทาน 5 จังหวัด ผมคงไม่มีวันนี้ วันที่เรามีที่ดิน มีที่ทำกิน มีที่อยู่อาศัย สามารถสร้างอนาคตที่เป็นของเราได้ และยิ่งวันนี้ผมได้น้อมนำแนวทางตามพระราชดำริ ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ป.ก. ยิ่งทำให้ชีวิตดีขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะเลย เพราะว่ามีรายได้เสริมจากพืชผัก จากบัวที่ปลูกเข้ามา เงินที่ได้ก็เอามาเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งรวมรายได้จากการขายข้าวแล้ว ในแต่ละปี เมื่อหักค่าใช้จ่ายทำให้มีเงินเหลือเก็บด้วย” ธวัชชัยกล่าวในที่สุด
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ