Lifestyle

ม.เกษตรฯเจ๋ง พัฒนาเครื่องกำจัดสารทำความเย็นสำเร็จ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ม.เกษตรฯเจ๋งวิจัยนวัตกรรมลดโลกร้อน พัฒนาเครื่องกำจัดสารทำความเย็นสำเร็จ

            งานสัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาโครงการศึกษาและพัฒนาต้นแบบอุปกรณ์ดักจับสารทำความเย็นเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จากการเปลี่ยนใช้เครื่องปรับอากาศประสิทธิภาพสูง โดยภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับสนับสนุนการวิจัยจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจำนวน 10 ล้านบาท ถือเป็นผลงานนวัตกรรมนำร่องต้นแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ม.เกษตรฯเจ๋ง พัฒนาเครื่องกำจัดสารทำความเย็นสำเร็จ

   ผศ.ดร.เกรียงไกร อัศวมาศบันลือ

 

       ผศ.ดร.เกรียงไกร อัศวมาศบันลือ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เจ้าของผลงานนวัตกรรมเด่นและผู้จัดการโครงการวิจัย เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจพบว่า ช่างติดตั้งเครื่องปรับอากาศกว่าร้อยละ 60 ปล่อยสารทำความเย็นเก่าสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งสารทำความเย็นเหล่านี้มีศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนสูงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับร้อยถึงพันเท่า ขึ้นอยู่กับชนิดของสารทำความเย็น ถึงแม้ว่าจะมีการพัฒนาและใช้สารทำความเย็นชนิดใหม่ที่อ้างว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็ยังมีศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนสูงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับมากกว่าร้อยเท่า ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุด คือการไม่ปล่อยสารทำความเย็นสู่สิ่งแวดล้อมเลย

         ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 – 2561 ที่ผ่านมา มีการจำหน่ายเครื่องปรับอากาศภายในประเทศไปแล้วกว่า 1.5 ล้านเครื่องต่อปี โดยเครื่องปรับอากาศ 1 เครื่อง จะใช้สารทำความเย็นประมาณ 1-4 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับขนาดและชนิดน้ำยาของเครื่องปรับอากาศนั้น หากมีการรื้อถอนเครื่องปรับอากาศเดิมเพื่อติดตั้งทดแทน 20% ของปริมาณการจำหน่ายเครื่องปรับอากาศทั้งหมด จะมีการปล่อยน้ำยาแอร์เก่าสู่สิ่งแวดล้อมกว่า 1.7 ล้านกิโลกรัมต่อปี เทียบเท่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นก๊าซเรือนกระจกถึง 3 ล้านตันเลยทีเดียว

ม.เกษตรฯเจ๋ง พัฒนาเครื่องกำจัดสารทำความเย็นสำเร็จ

      "การเปลี่ยนใช้เครื่องปรับอากาศประสิทธิภาพสูงเครื่องหนึ่ง สามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 20,000 บาทต่อปี แต่ในการติดตั้งมีการรื้อถอนเครื่องเก่าและปล่อยสารทำความเย็นสู่สิ่งแวดล้อม ค่าใช้จ่ายในการกำจัดสารทำความเย็นจากสิ่งแวดล้อมนั้น เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากสิ่งแวดล้อม จะคิดเป็นมูลค่าถึง 25,000 บาทเลยทีเดียว สูงกว่าพลังงานไฟฟ้าที่ประหยัดได้ในปีแรกเสียอีก ดังนั้น การจัดการน้ำยาแอร์เก่าเหล่านี้อย่างถูกวิธี จะสามารถลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งภาวะโลกร้อน และการลดลงของโอโซน"

       ผู้จัดการโครงการฯคนเดิมย้ำด้วยว่า โครงการวิจัยนี้ ได้พัฒนาเครื่องต้นแบบเพื่อกำจัดสารทำความเย็นอย่างถูกวิธีขึ้น ช่างติดตั้งเครื่องปรับอากาศ โดยเฉพาะอย่างการการติดตั้งเพื่อทดแทนของเดิม ควรจะต้องจัดเก็บสารทำความเย็นเก่าในภาชนะบรรจุที่เหมาะสม แล้วนำมากำจัดอย่างถูกวิธีด้วยเครื่องที่พัฒนาขึ้นนี้ เครื่องกำจัดสารทำความเย็นต้นแบบนี้ประกอบด้วย ชุดเตาเผาอุณหภูมิสูงเพื่อทำลายพันธะโมเลกุลสารทำความเย็น และชุดควบคุมมลพิษ เพื่อกำจัดมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ จากการทดสอบพบว่า สามารถทำลายได้สารทำความเย็นและกำจัดมลพิษได้ดี ในอนาคต จะปรับปรุงเครื่องให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้พลังงานน้อยลง และสามารถใช้กับสารทำความเย็นได้หลากหลายชนิดขึ้น 

ม.เกษตรฯเจ๋ง พัฒนาเครื่องกำจัดสารทำความเย็นสำเร็จ

        ปัจจุบันสารดักจับความเย็นที่ใช้ในแอร์และเครื่องทำความเย็นทั้งหมด ยังไม่มีการผลิตเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ ส่วนใหญ่จะมี ในโรงงานอุตสาหกรรมโครงการฯ ที่ดำเนินการอยู่เป็นโครงการนำร่อง เพื่อวิจัยและทดสอบเครื่องดักจับสารทำความเย็น ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการผลิตในเชิงพาณิชย์สารทำความเย็น หากถูก ปล่อยทิ้งในอากาศ ในรูปแบบก๊าซ หรือของเหลว จะเปนสารที่ทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ และทำให้เกิด Green House effect ส่งผลทำให้โลกมีภาวะโลกร้อน

         อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ผศ.ดร.เกรียงไกร อัศวมาศบันลือและทีมงานวิจัยได้การดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในหน่วยงานสำนักงานศาลยุติธรรม โดยโครงการดังกล่าวเป็นการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Roof-top) ขนาดกำลังการผลิตรวม 389.12 กิดลวัตต์ และระบบผลิตน้ำร้อนขากพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 250 ตารางเมตร เพื่อลดการใช้พลังงานในสำนักงานศาลยุติธรรม ในพื้นที่ถนนรัชดาภิเษก โดยจะสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้เกือบ 3 ล้านบาทต่อปี 

 

                  นอกจากนี้สำนักงานศาลยุติธรรมยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยการเปลี่ยนและเครื่องปรับอากาศและหลอดไฟประสิทธิภาพสูง โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน  และได้ขยายผลของโครงการไปยังสำนักงานศาลยุติธรรมทั่วประเทศ กว่า 268 หน่วยงาน ซึ่งแต่ละปีมีค่าไฟฟ้ารวมกันกว่า 300 ล้านบาท โดยจะพัฒนาสำนักงานศาลฯ ให้กลายเป็ฯสำนักงานอัจฉริยะด้านพลังงาน มีวงเงินลงทุนกว่า 400 ล้านบาท สามารถลดการใช้พลังงานได้ปีละกว่า 22 ล้านหน่วยหรือกว่า 100 ล้านบาทต่อปี และการประหยัดพลังงานนี้ยังช่ยลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อน ได้กว่า 12,000 ตันต่อปี

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ