Lifestyle

เรียนรู้เส้นทางผ้าจากชวาสู่สยาม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ชวนชมผ้าบาติกทรงสะสมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 

          เพื่อรำลึกถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนชวาสามครั้ง และเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระปรีชาสามารถของพระองค์ที่ทรงรวบรวมวิทยาการ และศิลปวัฒนธรรม มาปรับใช้ในการวางรากฐานพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืนสืบมาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งเพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 70 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐอินโดนีเซีย พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงจัดแสดงนิทรรศการ ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช : สายสัมพันธ์สยามและชวา ชุดที่ 2 ซึ่งเป็นผ้าบาติกผืนที่ไม่เคยจัดแสดงมาก่อน

เรียนรู้เส้นทางผ้าจากชวาสู่สยาม

ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช : สายสัมพันธ์สยามและชวา ชุดที่ 2 

เรียนรู้เส้นทางผ้าจากชวาสู่สยาม

ปิยวรา ทีขะระ เนตรน้อย-ท่านผู้หญิง จรุงจิตต์ ทีขะระ-แอนนิต้า รุสดี-อะฮ์มัด รุสดี

          โอกาสนี้พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จึงได้จัดชมรอบพิเศษ โดยมี ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงเป็นประธานจัดงาน พร้อมด้วย อะฮ์มัด รุสดี เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย ให้เกียรติเข้าร่วมงานเปิดนิทรรศการดังกล่าว พร้อมกันนี้ ปิยวรา ทีขะระ เนตรน้อย ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ร่วมด้วย ศาสตรัตน์ มัดดิน ภัณฑารักษ์ประจำนิทรรศการ ได้มาบอกเล่าความพิเศษ พร้อมนำชมนิทรรศการชุดใหม่ และแนะนำกิจกรรมพิมพ์ผ้าบาติกด้วยแม่พิมพ์ทองแดง โดยช่างผู้เชี่ยวชาญจากเมืองยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย   

เรียนรู้เส้นทางผ้าจากชวาสู่สยาม

ปิยวรา ทีขะระ เนตรน้อย

          ปิยวรา กล่าวว่า ระหว่างการเสด็จฯ เยือนชวา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการเขียนผ้าบาติกอันเป็นหัตถศิลป์ที่เลื่องชื่อและเป็นที่พอพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง จึงทรงซื้อผ้าบาติกกลับมาเป็นจำนวนมาก และมีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย รวมทั้งสิ้นกว่า 300 ผืน ซึ่งมีความโดดเด่นทั้งในแง่ความงดงามของศิลปะและองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์การแต่งกายของชวา ผ้าเหล่านี้เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี มีการให้หมายเลขกำกับผ้าแต่ละผืน และบันทึกข้อมูลรายละเอียดของผ้าแนบไว้ ถือเป็นหลักฐานสำคัญยิ่ง เนื่องด้วยผ้าบาติกที่ทรงสะสมมีจำนวนถึง 307 ผืน และนำออกแสดงได้ประมาณครั้งละ 40 ผืน จึงมีการเปลี่ยนชิ้นงานผ้าบาติกจัดแสดงใหม่ 2 ครั้ง ในเดือนมกราคม และกันยายนปีนี้ เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสชื่นชมผ้าบาติกทรงสะสม พร้อมเรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมอย่างทั่วถึง โดยปัจจุบันองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือ ยูเนสโก ได้ประกาศให้ผ้าบาติกเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของอินโดนีเซียด้วย

เรียนรู้เส้นทางผ้าจากชวาสู่สยาม

ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช : สายสัมพันธ์สยามและชวา ชุดที่ 2

          “เนื่องจากปีนี้เป็นปีครบ 70 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐอินโดนีเซีย พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ มีอีกหนึ่งกิจกรรมอันสืบเนื่องมาจากการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล รวมถึงเรื่องราวต่างๆ ในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงกล่าวถึงหลายสถานที่ไว้อย่างน่าสนใจ จึงจะมีการจัดทริปตามรอยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการเสด็จประพาสเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ลงพื้นที่จริง อาทิ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินโดนีเซีย ซึ่งพระองค์ท่านเสด็จฯ ไปถึง 3 ครั้ง รวมถึงพระราชวังเมืองยอกยาการ์ตา, บุโรพุทโธ, ทามัน สารี หรือพระราชวังน้ำ นอกจากตามรอยการเสด็จฯ แล้ว สำหรับผู้ที่ชื่นชอบผ้าจะได้ไปเยือนพิพิธภัณฑ์ผ้าที่จาการ์ตา ซึ่งจัดแสดงผ้าประเภทต่างๆ และมีแกลเลอรี่ที่จัดแสดงเฉพาะผ้าบาติกที่น่าสนใจมาก รวมถึงพิพิธภัณฑ์ผ้าบาติกดานาร์ฮาดี ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองสุราการ์ตา และตลาดขายผ้าในแหล่งสำคัญต่างๆ โดยทริปพิเศษดังกล่าวนี้จะจัดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม รับจำนวนจำกัดเพียง 20 คนเท่านั้น” ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ กล่าว

เรียนรู้เส้นทางผ้าจากชวาสู่สยาม

ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช : สายสัมพันธ์สยามและชวา ชุดที่ 2

          ด้าน ศาสตรัตน์ เผยว่า พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ได้เปลี่ยนวัตถุจัดแสดงชุดเดิมออกทั้งหมด เพื่อติดตั้งวัตถุจัดแสดงชุดที่ 2 ประกอบด้วย ผ้าบาติกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ จำนวน 37 ผืน และผ้าบาติกลายสิริกิติ์ 1 ผืน ออกแบบขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อครั้งโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปทรงเยือนสาธารณรัฐอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 8-16 กุมภาพันธ์ 2503 ตรงกับสมัยของประธานาธิบดีซูการ์โน เพื่อสื่อถึงพระสิริโฉมและพระราชจริยวัตรอันงดงามของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง รวมทั้งมีไฮไลท์เป็นผ้าบาติกผืนพิเศษที่ไม่เคยจัดแสดงมาก่อน อาทิ ผ้าบาติกลายมิกาโด ที่ได้มาจากเมืองยอกยาการ์ตา ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบญี่ปุ่นที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในเกาะชวา ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 จึงมีการนำลวดลายพัดญี่ปุ่นรูปแบบต่างๆ มาเขียนลงบนผ้าบาติก โดยพื้นหลังช่างเขียนลายกาวุง ซึ่งเป็นลายดั้งเดิมของชวากลาง ส่วนบริเวณหัวผ้าเขียนลายพัดญี่ปุ่นสลับกับลายพรรณพฤกษาได้อย่างประณีตงดงาม และผ้าโพกศีรษะเขียนทอง (ปราดา) สันนิษฐานว่า มาจากเมืองจิเรบอน ชวาตะวันตก ใช้เฉพาะในโอกาสพิเศษสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้า พบเพียงหนึ่งผืนจากผ้าบาติกสะสมทั้งหมด

เรียนรู้เส้นทางผ้าจากชวาสู่สยาม

นักแสดงจากช่องวัน ร่วมชมนิทรรศการ

   สำหรับนิทรรศการผ้าบาติกในพระปิยมหาราช : สายสัมพันธ์สยามและชวา แบ่งเป็น 2 ห้องจัดแสดง ห้องแรก จัดแสดงผ้าบาติกที่มาจากพื้นที่บริเวณชายฝั่งตอนเหนือของชวากลางและพื้นที่ชวาตะวันตก และห้องที่สอง จัดแสดงผ้าบาติกจากพื้นที่ชวากลาง ประกอบไปด้วยเมืองยอกยาการ์ตา และเมืองสุราการ์ตา รวมถึงแสดงวีดิทัศน์ตลอดจนภาพอธิบายขั้นตอนการทำผ้าบาติก เพื่อให้ผู้ชมมีความรู้ความเข้าใจดียิ่งขึ้น

เรียนรู้เส้นทางผ้าจากชวาสู่สยาม

ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช : สายสัมพันธ์สยามและชวา ชุดที่ 2

   นิทรรศการผ้าบาติกในพระปิยมหาราช: สายสัมพันธ์สยามและชวา ชุดที่ 2 เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันนี้ ที่ห้องจัดแสดง 3-4 โดยเปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่ 09.00-16.30 น. ปิดจำหน่ายบัตรเข้าชมเวลา 15.30 น.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ