Lifestyle

รูปหล่อลอยองค์"พระอาจารย์นำ ชินวโร"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รูปหล่อลอยองค์"พระอาจารย์นำ ชินวโร"อมตะเถราจารย์แห่งดินแดนทักษิณ คอลัมน์... ตามรอย...ตำนานแผ่นดิน โดย..   เอก อัคคี (facebook.com/Akeakkee Ake) 

 

 


          ท่านผู้รู้ครูบาอาจารย์ของผมที่สอนให้หัดส่องพระ ให้รู้จักการสะสมพระเครื่องพระบูชาหลายคน สอนตรงกันว่าคนเราจะให้เก่งจะให้เชี่ยวชาญทุกศาสตร์ทุกแขนงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ถามว่าคนที่เก่งแบบนั้นมีไหม-มี...แต่เยอะไหม-ไม่เยอะ!?!

 

 

 

รูปหล่อลอยองค์"พระอาจารย์นำ ชินวโร"

หล่อลอยองค์ อ.นำ ชินวโร (หน้า-หลัง)

 

          ผู้ที่นิยมเช่าหาพระเครื่อง พระบูชาหรือว่าเครื่องรางของขลัง แต่ละคนจะมีความถนัดจะมีความเก่งกาจแตกต่างกันออกไป แถมเมื่อแยกย่อยลงไปเป็นสายแล้วยังแยกลงไปถึงพระเกจิอาจารย์แต่ละรูปแต่ละองค์ต่างหาก


          การที่ผมมีโอกาสคลุกคลีตีโมงนั่งส่องพระกับพี่ๆ ทั้งหลายที่ล้วนแต่เป็นครูบาอาจารย์ของผมทั้งสิ้น ทำให้ผมทราบว่าคนที่รู้จริงเก่งจริงมักจะพูดความจริง ไม่คุยโตโอ้อวด อะไรที่ไม่รู้ก็จะออกตัวบ่ายเบี่ยงทันที ไม่ดันทุรัง ไม่กลัวเสียฟอร์ม เพราะคำว่าเซียนพระที่แท้จริงคือ รู้จริงในสิ่งที่ตัวเองถนัด


          ที่ต้องระวังให้มากคือ พระเครื่องของทุกคน-เจ้าของพระเชื่อว่าพระเครื่องของตัวเองเป็นของแท้ ซึ่งเป็นความเสี่ยงมากที่จะไปฟันธงว่าพระของเขาเก๊...ทั้งๆ ที่รู้ส่องดูก็เห็นว่าเก๊ แต่ถามว่า มันธุระอะไรของเราที่จะเอาคอไปรับแข้ง--เก็บริมฝีปากไว้แตกหน้าหนาวดีกว่า !?!


          เวลาใครให้ช่วยดูพระให้ ถ้าผมไม่รักใคร่สนิทสนมจริงๆ และไม่ใช่พระในสายที่ผมสะสม...ผมก็จะบอกว่า...ผมดูไม่เป็น ใครจะดูแคลนว่า ไหนว่า เล่นพระสะสมพระทำไมดูไม่เป็น ?




          ผมขออนุญาตอมพระประธานในโบสถ์ไว้ในปากดีกว่าครับ...!!!!


          ถ้ารักจะเล่นพระจะสะสมพระเครื่องต้องขยัน หมั่นศึกษาหาความรู้และต้องขยันส่องพระแท้ในมือ เพื่อจดจำรูปพรรณสัณฐาน เนื้อหา มวลสาร จุดตำหนิจุดสังเกตและต้องเล่นพระที่สังคมส่วนใหญ่เขานิยมเก็บสะสมกัน เช่าหากัน ถึงแม้ว่าจะมีราคาเช่าหาสูงไปบ้าง ถ้าเรามีกำลังทรัพย์ได้มาจากแหล่งที่เชื่อถือได้เขารับประกันรับผิดชอบ...เก๊คืนเงินร้อยเปอร์เซ็นต์และสามารถนำไปปล่อยต่อได้เวลาเกิดโรคทรัพย์จางโดยไม่ขาดทุน-กระเป๋าฉีก !


          อย่าเล่นพระด้วยหู ต้องดูด้วยตาและต้องศึกษาข้อมูลของพระเครื่องรุ่นนั้นๆ ให้ถ่องแท้


          อย่างพระเครื่ององค์นี้ ผมหยิบจากหิ้งมาส่องเป็นประจำ “รูปหล่อลอยองค์ อ.นำ ชินวโร ๒๕๑๙” วัดดอนศาลา อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ผมเองให้ความเคารพนับถือพระอาจารย์นำ ชินวโร มากและขอยกให้ท่านเป็นครูบาอาจารย์ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสะสมพระเครื่องวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังของท่านเอาไว้พอสมควรหลากหลายรูปแบบ


          ด้วยเหตุผลว่า ผมเป็นคนเล่นพระที่ชอบพุทธคุณ เชื่อในความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ ศรัทธาในคาถาอาคมและพุทธาคม ของพระเกจิที่ปลุกเสก กล่าวสำหรับ พระอาจารย์นำ ชินวโร นั้นมีพลังจิตสูง มีอำนาจญาณสมาบัติที่สามารถแสดงอิทธิฤทธิ์อันให้ประจักษ์ต่อสายตาของชาวบ้านมาแล้ว


          พระอาจารย์นำ ชินวโร เป็นศิษย์สืบสายวิทยาคมมาจากสำนักเขาอ้อ มาตั้งแต่ยังเล็กๆ โดยศึกษากับท่านอาจารย์เกลี้ยง แก้วจันทร์ อดีตเจ้าอาวาสวัดดอนศาลา ผู้เป็นบิดา ก่อนที่จะมรณภาพ อ.เกลี้ยงได้นำเอาบุตรชายไปฝากเรียนวิทยาคมกับท่านอาจารย์ทองเฒ่า เจ้าอาวาสวัดเขาอ้อ


          ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือ ท่านเป็นพระเถระที่ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง รวมไปถึงพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงเคารพนับถือ เคยเสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดดอนศาลาเพื่อทรงกราบนมัสการถึงกุฏิหลายครั้ง รวมไปถึงการเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพด้วยพระองค์เองในปี ๒๕๒๐ ที่วัดดอนศาลา


          วัตถุมงคลของท่านถึงแม้ว่าจะมีมากมายหลากหลายรูปแบบ แต่ที่เป็นพระเหรียญและรูปหล่อลอยองค์รูปเหมือนของท่านมีเพียงรุ่นเดียวเท่านั้น คือ เหรียญรุ่นปี ๒๕๑๙ สร้างและปลุกเสกก่อนจะมรณภาพไม่นาน สุดยอดด้วยเนื้อชนวนมวลสารและพุทธคุณ เพราะมีชนวนโลหะศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รวมไปถึงศาสตราวุธโบราณยุคบ้านเชียงและของวิเศษอื่นๆ อีกมากมาย


          ทุกวันนี้ต้องบอกว่า ราคาเช่าหานั้นราคาไปไกลมากและถึงจะมีเงินก็ใช่ว่าจะหาเช่าได้ง่ายๆ ทั้งเหรียญและรูปหล่อลอยองค์รูปเหมือนของท่าน...เพราะใครมีใครก็หวง


          สำหรับรูปเหมือนลอยองค์จัดสร้างเมื่อปี ๒๕๑๙ โดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ซึ่งมีความประสงค์นำเอารายได้จากการบูชาไปสร้างถาวรวัตถุในวัดดอนศาลาเป็นการกุศล เมื่อทราบวัตถุประสงค์แล้วท่านอาจารย์นำก็ได้นั่งนิ่งอยู่สักครู่หนึ่งแล้วกล่าวว่า


          “ถ้าจะสร้างก็ต้องรีบดำเนินการโดยเร็ว เพราะชีวิตอาตมาใกล้เข้ามาแล้ว เกรงจะไม่ทันกาล” ทำเอาคณะผู้จัดสร้างนิ่งอึ้งไปตามๆ กัน เพราะว่าขณะนั้นท่านอาจารย์นำก็กำลังอาพาธอยู่แล้ว ท่านอาจารย์นำก็ได้กล่าวต่อไปอีกว่า “การสร้างนั้นเป็นสิ่งดี เพราะจะได้เป็นครั้งสุดท้าย แต่ขอให้รีบทำเถิด”


          จากนั้นท่านก็ขอให้คณะผู้จัดสร้างนำเอาแผ่นโลหะมาให้ท่านเพื่อที่จะลงยันต์เป็นเชื้อชนวนในการสร้าง หลังจากที่ได้นำเอาแผ่นโลหะจำนวนมากไปให้ท่านอาจารย์นำตามที่ต้องการแล้ว ในเดือนสิงหาคม ๒๕๑๙ คณะผู้จัดสร้างก็ได้เดินทางไปรับแผ่นยันต์จากท่าน ซึ่งแผ่นยันต์เหล่านั้นท่านอาจารย์นำได้ลงไว้อย่างเรียบร้อย และได้กล่าวว่า "ลงให้สุดท้ายแล้ว"


          นอกจากแผ่นยันต์ที่ท่านอาจารย์นำได้ลงจารให้ไว้ ยังมีชนวนศักดิ์สิทธิ์ของพระเครื่อง พร้อมทั้งพระบูชาสมัยเก่าที่ชำรุด และโลหะสมัยบ้านเชียงอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งคณะผู้สร้างได้นำไปถวายท่านอาจารย์นำปลุกเสกอีกครั้ง ก่อนที่จะทำการหล่อหลอม และท่านก็ได้รับปลุกเสกพร้อมกับกล่าวว่า “ขอให้สร้างให้เสร็จเดือนหน้า เพราะใกล้เต็มที่แล้ว” (หมายถึงเดือนกันยายน ๒๕๑๙)


          แต่ปรากฏว่า การดำเนินการสร้างในครั้งนั้นไม่อาจที่จะสร้างเสร็จสิ้นในเดือนกันยายนได้ เพราะการจัดสร้างได้ทำอย่างพิถีพิถันที่สุด คณะผู้จัดสร้างจึงได้เดินทางไปกราบเรียนท่านอาจารย์นำว่า พระยังไม่เสร็จ เมื่อกราบเรียนแล้ว ปรากฏว่าท่านอาจารย์นำได้นั่งนิ่งไม่พูดว่าอะไร ตามองออกไปข้างหน้าในลักษณะที่ยากจะคาดเดาได้ว่าท่านคิดอย่างไร ทำเอาคณะที่ไปครั้งนั้นอึดอัดใจไปตามๆ กัน


          ท่านนั่งนิ่งอยู่อย่างนั้นประมาณครึ่งชั่วโมง จากนั้นก็กล่าวว่า "เอาเถอะ! อย่าให้เกินเดือนตุลาคม พ่อจะรอ ถ้าเกินจากนั้นไม่รอแล้ว” คณะผู้จัดสร้างรีบกลับไปดำเนินการสร้างต่อ จนเทหล่อพระได้เพียง ๑,๖๐๐ องค์เท่านั้น รีบขนจากกรุงเทพฯ ไปพัทลุง ในวันที่ ๒๒ ตุลาคม ท่านก็ปลุกเสกให้อย่างเต็มที่เข้าฌานสมาธิเพ่งพลังจิต จนลังไม้บรรจุพระแตกเปรี๊ยะ! และอีก ๓ วันต่อมา คือวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๑๙ เวลา ๒๒.๐๐ น.ท่านก็มรณภาพ


          สำหรับลักษณะรูปเหมือนพระอาจารย์นำรุ่นนี้เป็นรูปเหมือนขนาดเล็กสำหรับห้อยคอ เป็นรูปพระอาจารย์นำนั่งสมาธิพาดผ้าสังฆาฏิ ใต้ฐานด้านหน้าเป็นฉายาของพระอาจารย์นำว่า "ชินวโร" ใต้ฐานด้านหลังเป็นตัวภาษาขอมที่ปลายสังฆาฏิด้านหลังตอกโค้ดตัว "นะ" ในวงกลม ซึ่งตัวนะของสายเขาอ้อจะมีเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม่เหมือนตัว นะ ของสำนักอื่นๆ ส่วนใต้ฐานด้านล่างใช้สว่านเจาะแล้วบรรจุ "ผงอนันตคุณ" พร้อมกับปิดทับด้วยแผ่นเงินที่ประทับตัวหนังสือว่า "ชินวโร" รูปเหมือนพระอาจารย์นำรุ่นนี้สร้างขึ้น ๓ เนื้อ คือ ทองคำ เงิน และ นวโลหะ


          ถ้าสนใจจะเก็บสะสม ต้องเป็นพิมพ์นิยมที่เรียกกันว่า “ ตัว ว.ขีด, ตัวที โร-ขีด” คือ ตัวหนังสือ “ชินวโร” บนแผ่นปั๊มทองคำหรือเงิน อักษรนูน ชินวโร ในมี ๓ พิมพ์พระจะมี ๔ แบบ ดังนี้ พิมพ์เนื้อทองคำ ว.มีขีด, พิมพ์เนื้อทองคำ ว.ไม่มีขีด (เกิดจากปั๊ม ว.มีขีดไปมากๆ แล้วขีดติดจางไปเรื่อยๆ), พิมพ์เนื้อเงิน น.ขีด และพิมพ์เนื้อเงิน โร ขีด และที่ก้นพระหรือฐานพระจะมีรอยตะไบลักษณะเหมือนกันหมดทุกองค์และต้องสังเกตว่ามีรอยเสี้ยนเป็นเส้นๆ รอบๆ ตัวหนังสือด้วย


          พระรุ่นนี้สร้างน้อยมี ๓ เนื้อ คือ เนื้อทองคำ เนื้อเงิน และ เนื้อนวโลหะ

 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ