ไลฟ์สไตล์

เชิดชูผู้มีทักษะด้านศิลปหัตถกรรมปี 2563

เชิดชูผู้มีทักษะด้านศิลปหัตถกรรมปี 2563

25 ม.ค. 2563

ศ.ศ.ป.เฟ้นหาบุคคลแห่งปี ผู้อนุรักษ์ภูมิปัญญางานหัตถกรรมก่อนที่จะสูญสิ้น

          ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ศ.ศ.ป. หรือ SACICT สานต่อโครงการเชิดชูผู้ทำงานศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2563 คัดสรรบุคคลที่เป็นที่สุดในการอนุรักษ์ และสร้างสรรผลงานแห่งปี เพื่อเชิดชูเป็น “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” และ “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” เพื่ออนุรักษ์ รักษางานหัตถกรรมที่มีแนวโน้มใกล้สูญหาย ให้คงอยู่ก่อนที่จะสูญหายไป พร้อมผลักดันผลงานสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ ร่วมชมสุดยอดผลงานได้ภายใน “งานอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 11” จัดขึ้นระหว่าง 30 มกราคม-2 กุมภาพันธ์ ที่ฮออล์ EH 101 ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา

เชิดชูผู้มีทักษะด้านศิลปหัตถกรรมปี 2563

แสงระวี สิงหวิบูลย์

          แสงระวี สิงหวิบูลย์ รองผู้อำนวยการ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า ศ.ศ.ป. หรือ SACICT ได้เห็นถึงคุณค่าในตัวบุคคลผู้อนุรักษ์ และสืบสานงานศิลปหัตถกรรมไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งงานหัตถกรรมบางประเภทก็มีแนวโน้มที่จะสูญหายไปจากวิถีชีวิตและสังคมไทยในปัจจุบัน บางประเภทก็นับวันเหลือผู้ที่สนใจสืบสานงานฝีมือเชิงช่างน้อยลงไปทุกที จึงให้ความสำคัญกับการที่จะอนุรักษ์ รักษาคุณค่าภูมิปัญญา ทักษะฝีมือและองค์ความรู้เชิงช่างที่อยู่ในตัวบุคคลที่ถือได้ว่าเป็นสมบัติอันมีค่าที่สุดเหล่านี้ ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา และส่งต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน คนรุ่นหลังได้เห็นคุณค่า เกิดเป็นแรงบันดาลใจในการช่วยกันอนุรักษ์ รักษา สืบสานต่อ ในขณะเดียวกัน ก็ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต่อยอดผสมผสานด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิม และแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ พัฒนาต่อยอดสู่ความร่วมสมัย และสมัยนิยมอันจะนำไปสู่การสร้างโอกาสทางการตลาดในเชิงพาณิชย์ได้ SACICT จึงมีการดำเนินกิจกรรมคัดสรร และเชิดชูบุคคลที่ทรงคุณค่าเหล่านี้เป็น “ครูศิลป์ของแผ่นดิน”    “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” และ “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” เป็นประจำปี ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

เชิดชูผู้มีทักษะด้านศิลปหัตถกรรมปี 2563

เชิดชูผู้มีทักษะด้านศิลปหัตถกรรมปี 2563

          "สำหรับในปี 2563 การพิจารณาของคณะกรรมการที่สำคัญเป็นพิเศษอีกประการหนึ่งที่นอกเหนือจากการพิจารณาจากบุคคลผู้มีทักษะฝีมือ และผู้ที่เปี่ยมด้วยองค์ความรู้ภูมิปัญญาที่สะท้อนผ่านผลงานอันทรงคุณค่า งดงาม น่าประทับใจ ที่เป็นที่สุดของงานแขนงนั้นๆ จริงๆ แล้ว ยังพิจารณาถึงการเป็นผู้ทำงานศิลปหัตถกรรมในประเภทที่มีแนวโน้มขาดแคลนหรือมีแนวโน้มสูญหาย หรือเหลือผู้ทำน้อยรายด้วย ผลสำเร็จของการดำเนินงานที่ผ่านมาจนถึงในวันนี้ บุคคลที่ SACICT เชิดชูเป็น ...“ครูศิลป์ของแผ่นดิน” “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” และ “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” มีจำนวนกว่า 300 คน และผู้ที่ได้รับการเชิดชูทุกท่านเหล่านี้ จะได้รับโอกาสการส่งเสริม สนับสนุนในกิจกรรมที่จัดโดย SACICT ตามช่องทางและโอกาสที่เหมาะสม ในวันนี้ มีครู และทายาท หลายๆ ท่าน มีผลงานที่มีพัฒนาการก้าวหน้า ทั้งร่วมสมัย และทันสมัยขึ้นไปอย่างมาก หลายๆ ท่านมีการผลิตผลงานจนไม่ทันต่อความต้องการของผู้ที่ต้องการผลงานฝีมือของครูท่านนั้นๆ แต่หลายๆ ท่านก็พร้อมและยินยอมที่จะรอด้วยเพราะต้องการผลงานด้วยฝีมือ “ครู” นั่นเอง" แสงระวี กล่าว