Lifestyle

จรัส Light Fest เจิดจ้าหน้าหอศิลปฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศิลปะกลางแจ้งสุดเก๋ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในผลงาน

          มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้จัดพิธีเปิดโครงการจรัส Light Fest : เทศกาลศิลปะแสงกลางแจ้ง ที่ลานด้านหน้าหอศิลปกรุงเทพฯ โดยมี ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน เป็นประธานในพิธี

จรัส Light Fest เจิดจ้าหน้าหอศิลปฯ

จรัส Light Fest เจิดจ้าหน้าหอศิลปฯ

H-Lab collective กับผลงาน THE CYCLE

          ในโอกาสนี้ ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที ผู้อำนวยการโครงการจรัส แสงสร้างสรรค์ และ ลักขณา คุณวิชยานนท์ ที่ปรึกษาโครงการ ได้ร่วมต้อนรับ แถลงรายละเอียดของโครงการ พร้อมนำชมงานศิลปะแสงที่จัดแสดงทั้ง 12 ชิ้นจากศิลปิน 9 ท่าน ได้แก่ กฤช งามสม, นพไชย อังควัฒนะพงษ์, พงษธัช อ่วยกลาง, วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์, ขจรศักดิ์ โภคพูล, คมกฤษ เทพเทียน, อภิรัฐ สว่างหล้า, รุ่งเรือง สิทธิฤกษ์, เอกชญงค์ พรขจรกิจกุล และกลุ่มศิลปินอีก 3 กลุ่ม ได้แก่ H-Lab collective (ภานรินทร์ สื่อจินดาภรณ์, ไตรรัตน์ หอมจันทร์, เรืองฤทธิ์ ฤทธิ์เรืองเดช และ พัสวี เกษมวัฒนชัย) ZIEGHT (มนต์ วัฒนศิริโรจน์, กิตติ แสงสุวรรณ และ ดุจดาว วัฒนปกรณ์) conscious x KIMBAB (วีร์ วีรพร และ ณัฐกิตติ์ กังสดาลเสนานนท์) ซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้าส่วนหนึ่งจากแผงโซลาร์ที่ติดตั้งในตัวชิ้นงานเองและที่มาจากดาดฟ้าของหอศิลปกรุงเทพฯ

จรัส Light Fest เจิดจ้าหน้าหอศิลปฯ

          นอกจากศิลปิน ผู้คนในแวดวงศิลปะและพลังงานทางเลือก นักศึกษา บรรดาผู้สื่อข่าว และสาธารณชนผู้สนใจ การจัดงานครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจากทางผู้บริหารของ กกพ. และกลุ่มองค์กรภาคีพันธมิตรในเครือข่ายของ กกพ. มาร่วมงานอีกด้วย ได้แก่ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (โครงการไฟจากฟ้า) ทีวีบูรพา (โครงการคนบันดาลไฟ) เทลสกอร์ (The Power of Me) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA Solar Vengers)

จรัส Light Fest เจิดจ้าหน้าหอศิลปฯ

คมกฤษ เทพเทียน กับผลงาน “หนอนสายรุ้ง”

จรัส Light Fest เจิดจ้าหน้าหอศิลปฯ

กฤช งามสม เจ้าของผลงาน “ใจกลางเมือง”

          ภายในงานส่วนหนึ่งของศิลปินได้บอกเล่าถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยเริ่มจาก กฤช งามสม เจ้าของผลงาน “ใจกลางเมือง” (Red Heart) กล่าวว่าได้รับแรงบันดาลใจจากแสงไฟสีแดงท้ายรถยนต์ในยามคํ่าคืนบริเวณสี่แยกปทุมวัน ที่เปลี่ยนท้องถนนให้กลายเป็นสีแดง และเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่บ่งบอกถึงชีวิตคนเมืองกรุง อีกทั้งยังเป็นสถานการณ์นัยยะของการสิ้นเปลืองพลังงานบนท้องถนนในเมืองไทย กฤชเลือกใช้ไฟท้ายรถยนต์มือสองหลายๆ รุ่น นำมาประกอบเข้าด้วยกันเป็นงานประติมากรรมรูปหัวใจ และติดปีกด้านข้างของหัวใจทำจากแผงโซลาร์เซลล์เป็นตัวส่งพลังงานให้หัวใจดวงนี้มีแสงสว่างและโบยบิน เชื่อมโยงกับบริบทของพื้นที่บริเวณสี่แยกปทุมวัน ที่เป็นเสมือนหัวใจหลักของคนกรุงเทพฯ ที่ใช้พลังงานอันมหาศาลเพื่อเป็นจุดเชื่อมต่อในการขับเคลื่อนไปทั่วกรุงเทพมหานคร

  จรัส Light Fest เจิดจ้าหน้าหอศิลปฯ

พงษธัช อ่วยกลาง กับผลงาน ประกาศ ประกาศ ความเข้าใจคลาดเคลื่อน

          ด้าน พงษธัช อ่วยกลาง กล่าวถึงที่มาของผลงาน “ประกาศ ประกาศ ความเข้าใจคลาดเคลื่อน” ว่าเมื่อผมจะพูดถึงอะไรสักอย่าง หรือความคิดอะไรก็ตาม ผมมีความรู้ในสิ่งนั้นๆ แต่เกี่ยวกับแนวความคิดเรื่องพลังงานแสดงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ ผมเห็นแต่รูปแบบที่ดูดีในแนวความคิด ซึ่งเห็นภาพความเป็นจริงไม่ได้ แต่เห็นภาพย้อนกลับไปถึงช่วงเวลาในวัยเด็กที่มีวิชาวิทยาศาสตร์ ผมได้รู้จักเลนส์นูน และก็วิ่งออกไปกลางสนามหญ้า ใช้เลนส์ส่องกระดาษให้แสงแดดผ่านเกิดการรวมแสง ทำให้กระดาษติดไฟ คงเป็นประสบการณ์แรกที่ผมจำได้ และหลังจากที่ผมได้รับแนวความคิดเกี่ยวกับโซลาร์เซลล์ ก็เห็นแต่แม่ตากปลาแห้ง หรือถนอมอาหาร มันก็คงเป็นวิถีของการใช้พลังานแสงอาทิตย์ ตามความเหมาะสมและผมจะพูดอะไรได้ในฐานะนักสร้างสรรค์การประกาศบอกครั้งนี้ มันเลยดูเป็นความคิดที่กลับหัวกลับหางหรือตั้งคำถามในความรู้ที่มีอยู่

จรัส Light Fest เจิดจ้าหน้าหอศิลปฯ

รุ่งเรือง สิทธิฤกษ์ กับ “แสงของทุ่งดอกไม้”

         ขณะที่ รุ่งเรือง สิทธิฤกษ์ เจ้าของผลงาน “แสงของทุ่งดอกไม้” เผยถึงแรงบันดาลในครั้งนี้ว่าเป็นการพยายามนำผู้ชมไปสู่โลกของจินตนาการที่คู่ขนานและสัมพันธ์ไปกับโลกของความเป็นจริงด้านวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนไทย แสงและรูปทรงในผลงานมาจากรูปแบบการตกแต่งแสงไฟในงานเทศกาลของไทย เช่น งานวัด งานแต่งงาน งานบวช เป็นต้น นอกจากนี้ความหมายของการนำเอาวัตถุที่อยู่ในชีวิตของประจำวันของคนไทยมาเป็นส่วนประกอบก็เพื่อที่จะนำเสนอถึงผู้คนในเมืองที่มีความหลากหลายจากแหล่งที่มา นำมาจัดวางเป็นกลุ่มรูปทรงของทุ่งดอกไม้ นอกจากจะเชื่อมโยงไปยังความสัมพันธ์ที่ผูกโยงอยู่กับความเชื่อ ประเพณีของไทยแล้ว ยังสัมพันธ์ไปถึงความเป็นชนบทและเมืองที่ทับซ้อนกันภายในรูปทรงของผลงาน

จรัส Light Fest เจิดจ้าหน้าหอศิลปฯ

จรัส Light Fest เจิดจ้าหน้าหอศิลปฯ

         สำหรับ โครงการ “จรัส Light Fest : เทศกาลศิลปะแสงกลางแจ้ง” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “จรัส : แสงสร้างสรรค์” ที่สนับสนุนโดยกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2562 (กกพ.) โดยมีกำหนดจัดแสดงบริเวณลานด้านหน้าหอศิลปกรุงเทพฯ และบริเวณทางเชื่อมชั้น 3 ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563 นอกจากนิทรรศการนี้แล้ว ภายในโครงการจรัส : แสงสร้างสรรค์ ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ห้องจรัส Lab และงานเสวนาจรัส Forum เป็นต้น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ