Lifestyle

เสน่ห์แห่งอิสตรี ผ่านงาน "ควิลต์"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พบกับงานศิลปะบนผืนผ้าที่ทำโดยการเย็บมือเพื่อส่งเสริมกิจกรรมยามว่างในงาน "จูนควิลท์ โชว์" ครั้งที่ 3 

        ผู้ที่ชื่นชอบชมงานศิลปะในรูปแบบต่างๆ นอกจากภาพลายเส้นที่ศิลปินบรรจงวาดลงในกระดาษแล้วต้องไม่พลาดมาชมงานศิลปะบนผืนผ้าที่ไม่ได้มาจากการเพนต์แต่มาจากการเย็บในงาน “จูนควิลต์ โชว์” ครั้งที่ 3 

เสน่ห์แห่งอิสตรี ผ่านงาน "ควิลต์"

อมรัตน์ สิรวัฒนากุล - ลักขณา คุณาวิชยานนท์

         ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Strip Art Exhibiton” เส้นสร้างศิลป์ โดย “ครูจูน” อมรรัตน์ สิรวัฒนากุล ผู้อำนวยการจัดงานได้จัดงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้ว ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร บริเวณโถงชั้นแอล โดยมี ลักขณา คุณาวิชยานนท์ อดีตผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดงาน รวมพลศิลปินทั้งเป็นคุณครูและลูกศิษย์กว่า 33 คน นำผลงานศิลปะบนผืนผ้ากว่า 63 ชิ้นงานมาอวดโฉมให้ชมอย่าใกล้ชิด พร้อมสัมมนาเรื่องสตรีทั่วโลกกับการทำงานควิลต์ (Quilt) ยกระดับคุณภาพชีวิตสตรีให้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งยังเป็นการคลายเครียดจากการทำงานประจำและการดูแลครอบครัว

          เสน่ห์แห่งอิสตรี ผ่านงาน "ควิลต์"

ส่วนหนึ่งการแสดงนิทรรศการ “JuneQuilt Show ครั้งที่ 3

          “ครูจูน” อมรรัตน์ สิรวัฒนากุล กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานในครั้งนี้ว่า เพื่อแสดงผลงาน ความงดงาม ความยิ่งใหญ่ ที่สร้างสรรค์จากชิ้นผ้าที่มีสีสันและลวดลายที่หลากหลายถ่ายทอดออกมาตามจินตนาการ ในชื่อนิทรรศการ “เส้นสร้างศิลป์” ด้วยแนวคิดจากองค์ประกอบของผ้าและเส้นด้ายแต่ละชิ้นถูกนำมาผสมผสานกับแนวคิดทางศิลปะและหลักการเรขาคณิต ร่วมกับจินตนาการและสิ่งที่อยู่รอบตัวของศิลปินแต่ละคน มาเย็บต่อกันจนเกิดงานเป็นผืนผ้าที่มีลายเส้นที่มีความงดงาม บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของแต่ละคนได้เป็นอย่างดี อีกองค์ประกอบของความสำเร็จของงานนี้ เราได้เห็นสถาบันครอบครัว ที่ทำให้ศิลปินแต่ละคนสร้างสรรค์งานจนสำเร็จเพราะเกิดจากความเข้าใจ ความร่วมใจ และเป็นแรงใจในการอดทน และมุมานะที่จะสร้างผลงานอันเหลือเชื่อต่างๆ เหล่านี้ออกมาได้อย่างมหัศจรรย์ ขอให้ความงดงามนี้คงอยู่ตลอดไปในใจของทุกคน

          “ศิลปินทุกคนที่นำผลงานมาจัดแสดงในครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นแม่บ้าน หรือไม่ก็อยู่ในช่วงวัยเกษียณ ซึ่งไม่มีความรู้ด้านงานศิลปะมาก่อนเลย แต่ทุกคนก็มีความมุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดความเป็นอัตลักษณ์ของตัวเองผ่านศิลปะบนผืนผ้าด้วยการออกแบบและเย็บลวดลายต่างๆ อย่างบรรจง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมกิจกรรมยามว่างของผู้หญิงให้เกิดประโยชน์สูงสุด แถมยังช่วยในเรื่องของความผ่อนคลายจากความเครียดต่างๆ ได้เป็นอย่างดี”

เสน่ห์แห่งอิสตรี ผ่านงาน "ควิลต์"

          ทั้งนี้ “ครูจูน” อมรรัตน์ เล่าถึงผลงานทั้ง 63 ชิ้นที่นำมาจัดแสดงภายในนิทรรศการครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นอัตลักษณ์ของผู้หญิงอาทิ ผลงาน “แรงบันดาลใจ” โดยเจ้าของผลงานได้นำความรักความผูกพันระหว่างศิลปินและสุนัขที่เคยเลี้ยง.. “Bobby & Tommy” เป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เกิดผลงานนี้ โดยใช้เทคนิคจากรูปภาพถ่ายทอดลงบนผ้า เลือกสี ออกแบบผ้าให้เสมือนจริง เย็บต่อขึ้นมาให้เป็นโครงร่าง ... ทำ texture ด้วย free motion จักร ใช้ด้าย 16 สีแทนการผสมสี สะบัดสีแทนปลายพู่กันด้วยเข็มจักร ออกแบบสีด้าย ทั้งด้ายบน และด้ายที่กระสวย

เสน่ห์แห่งอิสตรี ผ่านงาน "ควิลต์"

ปณิชา สุวรรณโกศัย

          “เกด” ปณิชา สุวรรณโกศัย เจ้าของผลงานการเย็บผ้าคลุมเตียงภายใต้คอนเซ็ปต์ “Moonlight” บอกว่า ด้วยความที่เป็นแม่บ้านที่ต้องดูแลลูกๆ เป็นหลัก หลังจากที่ไปส่งลูกเข้าโรงเรียนเสร็จแล้วจึงอยากหาอะไรทำไปพลางๆ ระหว่างรอรับลูกในตอนเย็น และด้วยความที่ชอบงานเย็บปักถักร้อยอยู่แล้วเป็นทุน จึงมุ่งหน้าไปร้านผ้าครูจูนเพื่อไปนั่งเรียนการทำผ้า เริ่มจากฝึกหัดเย็บผ้าผืนเล็กๆ อย่างจานรองแก้วน้ำ กระเป๋าใส่เหรียญบาท จนฝึกปรือฝีมือถึงขั้นเย็บผ้าผืนใหญ่อย่างผ้าคลุมเตียงแบบลิมิเต็ดอิดิชั่น ไว้ใช้เองอย่างเก๋ไก๋ไม่ซ้ำใคร โดยแรงบันดาลใจนั้นก็เพราะเป็นคนที่ชื่นชอบสีอันร้อนแรงของสีแดง แต่ขณะเดียวกันภายในห้องนอนเป็นสีครีมจึงนำสีร้อนอย่างสีแดงมาผสมกับสีโทนนุ่มนวลอย่างสีเหลืองได้อย่างลงตัว

เสน่ห์แห่งอิสตรี ผ่านงาน "ควิลต์"

อรนุช ศิรประภา 

           เช่นเดียวกับ “นุช” อรนุช ศิรประภา อดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บมจ.กรุงไทย เจ้าของผลงาน “Red tulip” แม้เพิ่งหันมาศึกษางานควิลต์ได้เพียง 8 เดือนเศษ บอกว่า ด้วยหน้าที่การงานที่รับผิดชอบก่อนหน้านี้ต้องมีความเคร่งเครียดตลอดเวลาและทั้งชีวิตก็มีแต่ตัวเลขในหัวสมอง จึงอยากจะจัดสมดุลชีวิตระหว่างงานและเรื่องส่วนตัวได้อย่างลงตัว ประกอบกับเห็นผู้หญิงที่รู้จักหลายคนมาเรียนการทำงานควิลต์แล้วเขามีอิริยาบถที่ผ่อนคลาย จึงตัดสินใจเดินเข้าไปสมัครเรียนการทำผ้าควิลต์ทันที แม้จะไม่มีทักษะการเย็บปักถักร้อยมาก่อนก็ตาม

          “ช่วงก่อนที่จะเกษียณตอนนั้นชีวิตเครียดมากต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา จึงอยากหาอะไรทำให้ตัวเองผ่อนคลายจึงไปเรียนการทำงานควิลต์กับครูจูน แรกๆ ก็งงว่าทำอย่างไรเพราะชีวิตนี้ไม่เคยจับจักรเย็บผ้ามาก่อนเลย แต่พอได้ลองเย็บงานเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วเห็นงานเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาก็รู้สึกภูมิใจมาก ส่วนผลงาน “Red tulip” นั้นได้แรงบันดาลใจมาจากสีสันสดใสของทุ่งดอกทิวลิปที่อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ วินาทีที่เรามองเห็นดอกทิวลิปที่มีทั้งสีแดง สีชมพู ทำให้เรารู้สึกสดใสและสดชื่น ดังนั้นจึงออกแบบศิลปะบนผืนผ้าอันเป็นผลงานชิ้นแรกของเราเป็นทุ่งดอกทิวลิป ซึ่งความยากของงานชิ้นนี้คือการปักกรอบสีดำที่ต้องใช้ด้ายล่องหนต้องปักให้ไร้รอยต่อ ซึ่งเป็นการใช้เทคนิคพิเศษที่ยากมาก แต่พอเราเห็นชิ้นงานสำเร็จออกมาแล้วทำให้เราภูมิใจและมีแรงในการสร้างสรรค์ผลงานอื่นๆ ตามมาอีก” อดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บมจ.กรุงไทย เล่าด้วยน้ำเสียงภูมิใจ

เสน่ห์แห่งอิสตรี ผ่านงาน "ควิลต์"

          นอกจากนี้ภายในงานยังมีการสัมมนาเรื่องผู้หญิงกับงานควิลต์อันเป็นการเย็บผ้าหลากสีและลวดลายผ่านเส้นด้ายลงบนผืนผ้า อันเป็นศิลปะที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว ที่นอกจากจะเป็นการต่อยอดงานเย็บปักถักร้อยให้ได้รับความนิยมมากขึ้น ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความนุ่มนวลของสตรีทั่วโลกที่ได้บรรจงเย็บผ้าหลากสีลงบนผืนผ้าให้เป็นรูปร่างต่างๆ อีกทั้งยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตสตรีการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ด้วยการทำงานควิลต์ เพื่อเติมเต็มชีวิตและชาร์จพลังงานให้เติมเต็มสำหรับการเริ่มต้นทำหน้าที่ของตัวเองในวันถัดไปได้อย่างเต็มที่

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ