Lifestyle

ธงชาติไทย...มีอะไรมากกว่าที่คิด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รู้จัก 'ธงชาติไทย' ผ่านนิทรรศการทรงคุณค่า

          หัวใจรักชาติของคนไทยพองโตด้วยความภาคภูมิใจในเอกราชทุกครั้งที่เห็นผืนธงไตรรงค์โบกสะบัดบนยอดเสา พร้อมเสียงเพลงชาติไทยดังกระหึ่ม เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้มีความสำคัญแค่เพียงความหมายเชิงสัญลักษณ์ความเป็นไทย แต่ยังแฝงไปด้วยความเสียสละของบรรพบุรุษไทยในการดำรงเอกราชของชาติมาหลายร้อยปี ผ่านนิทรรศการ “ธงไตรรงค์ ธำรงไทย” ซึ่งสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และวชิราวุธวิทยาลัย ร่วมกันจัดขึ้น ที่อาคารนวมภูมินทร์ วชิราวุธวิทยาลัย เมื่อวันก่อน

ธงชาติไทย...มีอะไรมากกว่าที่คิด

ดร.วิษณุ เครืองาม 

          ทั้งนี้เพื่อให้เข้าใจถึงความหมายของธงไตรรงค์ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้บอกเล่าถึงเกร็ดความรู้ของธงอย่างน่าสนใจว่า ธง หมายถึงสัญลักษณ์ที่อาจจะทำขึ้นจากวัสดุที่เป็นผ้า โลหะ หรือกระดาษก็ได้ แต่มีการกำหนดความหมายให้เข้าใจตรงกันระหว่างผู้สื่อสารและผู้รับสาร ใช้เพื่อสื่อสารในระยะไกล โดยต้นกำเนิดของการใช้ธงเริ่มมาจากบนเรือเพื่อสื่อสารข้อความมาบนฝั่ง ดังนั้นโดยส่วนใหญ่จึงนิยมใช้ผืนผ้าเพราะสามารถโบกสะบัดเพื่อดึงดูดสายตาคนได้ดีกว่าโลหะจากการใช้งานบนเรือ ธงเริ่มมีพัฒนาการมาสู่การใช้งานบนบก โดยดัดแปลงให้เข้ากับโอกาสต่างๆ มาตั้งแต่โบราณกาล อาจจะใช้สะท้อนความเป็นชนชาติ แทนบุคคลสำคัญ หรือใช้ในพิธีการ เป็นต้น

ธงชาติไทย...มีอะไรมากกว่าที่คิด

          สำหรับธงชาติไทยมีพัฒนาการอย่างน่าสนใจ แบ่งเป็น 4 ยุค ยุคที่ 1 ในเวลานั้นสยามยังไม่มีอะไรที่แสดงสัญลักษณ์ของความเป็นไทย เวลาออกรบกับพม่า ต้องอาศัยสังเกตจากการแต่งตัว จวบจนเข้าสู่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เริ่มมีการค้าขายกับชาติตะวันตก วันหนึ่งเมื่อเรือรบของฝรั่งเศสแล่นเข้ามา และได้เชิญธงชาติพร้อมยิงสลุตเป็นการทักทาย ฝั่งไทยเองก็ยิงสลุตตอบ แต่ไม่มีธงจะเชิญขึ้นเสา จึงไปคว้าธงออลันดาซึ่งในเวลานั้นเป็นคู่สงครามของฝรั่งเศสนำขึ้นสู่ยอดเสา ฝ่ายฝรั่งเศสไม่พอใจและขอให้ฝั่งไทยนำธงลง ฝ่ายไทยจึงแก้ปัญหาด้วยการนำผ้าแดงมาใช้แทนธงเพื่อนำขึ้นสู่เสาแทน จึงกลายเป็นที่มาของหลักฐานในบันทึกฝรั่งเศสที่ระบุว่ากรุงศรีอยุธยาใช้ธงสีแดงเป็นธงประจำชาติ

ธงชาติไทย...มีอะไรมากกว่าที่คิด

          ยุคที่ 2 เข้าสู่กรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ 1 มีพระราชดำริว่า ธงแดงอาจไม่สง่างามพอเป็นสัญลักษณ์ของชาติ จึงเพิ่มจักรซึ่งเป็นอาวุธของพระนารายณ์เข้ามา เพื่อสื่อถึงความเชื่อที่มีแต่มาแต่โบราณว่ากษัตริย์เป็นสมมุติเทพ และยังพ้องกับราชทินนามเดิมคือ “เจ้าพระยาจักรี” อันเป็นที่มาของนามราชวงศ์จักรีด้วย จึงกลายเป็นที่มาของ “ธงพื้นแดงจักรขาว” 

ธงชาติไทย...มีอะไรมากกว่าที่คิด

          ยุคที่ 3 สมัยรัชกาลที่ 2 มีช้างเผือกสำคัญมาสู่พระบรมโพธิสมภารหลายช้าง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราภาพช้างเผือกเพิ่มเข้าไปในกงจักร ต่อมารัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้นำวงจักรออกเหลือแต่เพียงช้างเผือกบนผ้าแดง รูปแบบธงนี้ใช้ต่อเนื่องในช่วงรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ซึ่งสยามมีการทำสนธิสัญญาสำคัญกับชาติตะวันตก 

ธงชาติไทย...มีอะไรมากกว่าที่คิด

          ยุคที่ 4 สมัยรัชกาลที่ 6 ทรงริเริ่มให้ใช้ธงริ้วแดงขาว กระทั่งต่อมาโปรดให้เติมสีน้ำเงินเข้าไปในธงเพิ่ม เพราะมองว่าที่เป็นอยู่เดิมไม่สง่างามเพียงพอและต้องการให้ธงเป็นสามสีตามลักษณะธงชาติของประเทศที่เป็นสัมพันธมิตรกับกรุงสยามโดยมากเวลานั้น จึงถือเป็นจุดกำเนิดของธงไตรรงค์ ซึ่งมีความหมายว่า 3 สี ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขพระราชบัญญัติธงในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2460 และได้มีโอกาสเฉิดฉายในสายตาชาวโลกเป็นครั้งแรก เมื่อครั้งที่ทหารไทยได้ร่วมเดินขบวนฉลองชัยชนะสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ฝรั่งเศส คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติให้วันที่ 28 กันยายนของทุกปี เป็นวันพระราชทานธงชาติไทย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ