แปดทศวรรษ กวียิ่งใหญ่ 'เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์'
จัดแสดงบทกวีกว่า 40 บทในรูปแบบนิทรรศการศิลปะครั้งแรก
เป็นที่รู้จักกันดีทั้งในแวดวงนักเขียนและแวดวงการเมือง สำหรับกวีมากความสามารถชนิดหาคนเทียบชั้นได้ยากยิ่ง อย่าง เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีซีไรต์ และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2536 และในโอกาสก้าวเข้าสู่วัย 80 ปี บทกวีกว่า 40 บท ตลอดระยะกว่า 60 ปีของเขา ได้รับการคัดสรรให้นำมาจัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการศิลปะครั้งแรก ในนิทรรศการกวีนิพนธ์ “แปดทศวรรษ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงาน ที่โถงเอเทรียม อาคารสินธร ถ.วิทยุ เมื่อวันก่อน
นิทรรศการครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่กวีนิพนธ์และวรรณศิลป์ ผ่านการคัดสรรบทกวีที่สำคัญในแต่ละช่วงชีวิตกว่าหกทศวรรษของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ผู้สร้างสรรค์งานวรรณกรรมทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองอันทรงคุณค่าของเมืองไทย เพื่อสะท้อนสังคมและศิลปวัฒนธรรมอย่างไม่ขาดสาย และได้รับการเผยแพร่ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ นิทรรศการนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อเผยแพร่ สืบสาน และส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงกวีนิพนธ์และสามารถต่อยอดงานวรรณกรรมที่มีคุณค่า รวมถึงปลุกจิตสำนึกให้คนไทยตระหนักถึงแนวคิดและคำสอนต่างๆ ที่แฝงมาในรูปของงานเขียน งานนี้ยังเปิดโอกาสให้ผูเข้าชมร่วมค้นหากุญแจทางความคิด ที่จะไขสู่การออกแบบนิทรรศการครั้งสำคัญของศิลปิน ด้วยการนำชื่อของเนาวรัตน์และตัวเลขที่สัมพันธ์กับบริบทต่างๆ มาออกแบบผังนิทรรศการ ตลอดจนรายละเอียดทั้งหมดของนิทรรศการด้วย
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กล่าวว่า วันที่ 26 มีนาคมปีหน้า จะอายุครบ 80 ปี กลุ่มองค์กรและพี่น้องในวงการวรรณกรรมเห็นว่าควรจะจัดนิทรรศการกวีนิพนธ์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลที่บทกวีมีต่อสังคมไทย และพอดีกับที่นึกถึงคำกล่าวของ ศ.เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ว่า “ศิลปะส่องทางให้แก่กัน” นำมาสู่การจัดนิทรรศการครั้งนี้ภายใต้แนวคิด “บทกวี คือ พลังของสังคม” เพื่อสำแดงบทกวีที่เป็นพลังสังคมและสะท้อนการเปลี่ยนแปลงแต่ละยุคสมัย ถือเป็นนิทรรศการกวีนิพนธ์ครั้งแรกของประเทศไทยและเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่คนยังไม่เคยเห็น
“สำหรับผลงานที่นำมาจัดแสดงแบ่งการทำงานเขียนเป็นช่วงเวลา เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2510 เริ่มต้นด้วยความรัก เมื่ออกหักผิดหวังก็หันมาสนใจธรรมะ ได้อ่านผลงานของท่านพุทธทาสภิกขุ เหมือนทำให้เราเกิดใหม่ พอเรียนจบก็บวช ได้อยู่กับท่านพุทธทาส ทำให้สนใจเรื่องธรรมชาติ จึงเขียนในเรื่องธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม จากนั้นได้เข้าไปมีร่วมในเหตุการณ์ 14 ตุลา มีความเคลื่อนไหวจน 6 ตุลา วันฆ่านกพิราบ ก็เขียนงานการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเหตุุการณ์ที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อสังคมและสะเทือนต่อความรู้สึกของตัวเอง เกิดเป็นบทกวีทางการเมืองที่เข้มข้นขึ้นตามวัยของเรา” เนาวรัตน์ กล่าว
บทกวีบนแผ่นโลหะ
ราวหกทศวรรษ ที่ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ โลดแล่นบนเส้นทางวรรณกรรม ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า ความคิดในการทำงานกวี นอกจากเกิดจากความรู้สึกและประสบการณ์ของตัวเองแล้ว ยังได้แรงบันดาลใจจากข้อเขียนและงานแปลดีๆ ที่ได้อ่านได้ฟัง บันดาลใจให้เขียนบทกวี อย่างตัวเองเป็นคนชอบดูหนัง เมื่อเจอวลีดีๆ ก็จะจดบันทึกไว้แล้วนำมาแต่งเป็นบทกวี แต่เรื่องราวในสังคมไม่จำเป็นต้องเขียนเป็นบทกวีทั้งหมด จะเขียนเป็นร้อยแก้ว บทความ เรื่องสั้นก็ได้ โดยบทกวีจะเลือกเรื่องที่สะเทือนใจจริงๆ อย่างเหตุการณ์ถ้ำหลวง พอเขียนออกมาแล้วเหมือนกับได้ปลดปล่อย
“บทกวีนอกจากจะทำให้รู้จักตัวเองแล้ว ยังถ่ายทอดความสามารถของตัวเองให้คนอื่นได้รู้สึก วิชาศิลปะทั้งหมดถือว่าเป็นวิชาชีวิต ขณะที่สถาบันการศึกษาที่เล่าเรียน ผมถือเป็นวิชาชีพ เหมือนเราอ่านหนังสือ อ่านชีวิตคนอื่น เขียนหนังสือ เราเขียนหนังสือ เขียนชีวิตตัวเอง ทุกวันนี้สังคมเราให้โอกาสคนทำงานทางความคิดน้อยมาก มักจะทำตามความรู้สึกที่มีเสรีภาพ เป็นเสรีภาพตามอำนาจกิเลส ไม่ใช้เสรีภาพนำสู่การพ้นจากกิเลส หากเข้าใจจะมีเสรีภาพการแสดงออกทางความรู้สึกที่ดี และเกิดบทกวีที่เป็นพลังของสังคม” นักเขียนเจ้าของรางวัลกวีซีไรต์ กล่าว
ผศ.ดร.ศุภชัย อารีรุ่งเรือง
รูปแบบบทกวีที่เปลี่ยนแปลงในนิทรรศการนี้ ไม่ใช่แค่พลิกหน้าหนังสืออ่าน แต่นำเสนอผ่านจิตรกรรม ประติมากรรม สื่อผสม เป็นความเร้าใจหวังดึงดูดคนรุ่นใหม่เข้าหาบทกวี เป็นโจทย์ใหญ่ทางความคิดในการออกแบบ ซึ่ง ผศ.ดร.ศุภชัย อารีรุ่งเรือง ภัณฑารักษ์ประจำงาน กล่าวว่า อ.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นผู้กำหนดชื่องาน จากนั้นตัวเองนำมาตีความ โดยนำคีย์เวิร์ดคือชื่อของเนาวรัตน์ ประวัติ และตัวเลข 8 และตัวเลข 0 มาออกแบบผังนิทรรศการ
บทกวีบนหนังวัว
“ก่อนอื่นต้องตั้งคำถามกับการออกแบบก่อนว่า งานกวีส่งผลอย่างไรต่อสังคมไทย และในช่วง 60-80 ปีมานี้ กวียังมีผลต่อคนปัจจุบันมากน้อยเพียงใด สิ่งที่พบคือยังมีคนจำนวนมากมีอาจารย์เนาวรัตน์เป็นแรงบันดาลใจในการเขียนบทกวี จึงนำเสนอปรัชญาในการทำงานของอาจารย์เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ สังคม-การเมือง นับตั้งแต่ปี 2516 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ต่อมาคือ ความรัก คือสมัยที่ อ.เนาวรัตน์ยังวัยรุ่นจนเข้าเรียนธรรมศาสตร์ ต่อมาคือ ธรรมะ ธรรมชาติ มาจากความศรัทธาในพระพุทธศาสนาหลังจากที่บวชและธุดงค์ไปหาท่านพุทธทาส นอกจากนี้ยังมีหมวดอื่นๆ เป็นเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ในสังคมไทย อาทิ สึนามิ ถ้ำหลวง ซึ่งทำให้เห็นว่าสังคมมีส่วนผลักดันให้ศิลปินสร้างผลงาน" ภัณฑารักษ์ประจำงาน กล่าว
ลอกลายบทกวีบนแผ่นหิน
ผศ.ดร.ศุภชัย กล่าวต่อว่า งานนี้ต้องการจุดประกายให้คนรุ่นปัจจุบันเข้าหาบทกวีและสร้างการรับรู้ใหม่ให้คนยุคนี้ และบอกต่อ ใช้วิธีการแปลงตัวอักษรสู่งานศิลปะ และนำลายมืออาจารย์มาเป็นกุญแจสำคัญ เพราะมีความเป็นเอกลักษณ์ โดยการให้บทกวีอยู่บนสื่อวัสดุต่างๆ เช่น บนหนังวัว แผ่นโลหะ แผ่นไม้ หรือแม้กระทั่งเซรามิก รวมถึงให้ผู้ชมมีปฏิสัมพันธ์กับงาน โดยแปลงบทกวีมาไว้บนแผ่นหิน แล้วนำกระดาษมาลอกลาย ดูแล้วได้อรรถรส รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ทั้งนี้นิทรรศการไม่ได้จบแค่ครั้งนี้ แต่วางแผนถึงเดือนมีนาคมปีหน้า โดยจะหมุนเวียนไปตามสถาบันการศึกษาเพื่อให้เยาวชนซึบซับกวีนิพนธ์ เกิดประโยชน์ด้านการศึกษา เชื่อว่าบทกวีอยู่ในสายเลือดคนไทย