Lifestyle

สืบสานตำนานงานบุญทอดกฐิน วัดท่าม่วง ด้วยบารมีพ่อท่านบุญให้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 คอลัมน์...  ตามรอย...ตำนานแผ่นดิน  โดย...  เอก อัคคี (facebook.com/Akeakkee Ake) 

 

 

 

 

          ผมได้รับข่าวดีงานบุญจากเซียนพระชื่อดังสายใต้ว่า “บอส บางหลวง” และคณะลูกศิษย์คนใกล้ชิดพ่อท่านบุญให้ เพิ่งเดินทางล่องใต้นำเงินรายได้ปัจจัยส่วนหนึ่งที่ได้รับจากการเปิดจองเหรียญหล่อแบบโบราณรุ่นแรก รุ่นเจ้าสัวของพ่อท่านบุญให้ ปทุโม ร่วมถวายพ่อท่านบุญให้ ในวาระกฐินสามัคคีปี 2562 ซึ่งทางวัดท่าม่วงจะจัดทอดกฐินสามัคคีในวันที่ 1 พฤศจิกายน  นำโดยคณะของ พ.ต.ท.สายชล แสงสุข รอง.ผกก.ป.สภ.บางหลวง จ.นครปฐม

 

 

          เลยติดต่อสอบถามไปก็ได้ทราบว่า บอส บางหลวง นำเงินรายได้จากการเปิดจองเหรียญหล่อแบบโบราณรุ่นแรกเจ้าสัวของพ่อท่านบุญให้ที่กำลังเปิดจองอยู่ในขณะนี้และจะมีพิธีมหาพุทธาภิเษกในวันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน โดยสุดยอดเกจิคณาจารย์รวมพุทธาภิเษกร่วม 9 รูปเป็นไปตามความมุ่งมั่นตั้งใจที่คิดไว้ทุกประการ

 

 

 

สืบสานตำนานงานบุญทอดกฐิน วัดท่าม่วง ด้วยบารมีพ่อท่านบุญให้

พ่อท่านบุญให้ แห่งวัดท่าม่วง

 


          เพราะการสร้างพระเครื่องวัตถุมงคลนั้นว่ากันว่าจะเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์แค่ไหนอยู่ที่จิตตั้งมั่นของผู้สร้างว่าสร้างเพื่อวัตถุประสงค์อะไร กล่าวสำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดสร้างวัตถุมงคลรุ่นนี้ คือ


          1.เพื่อนำเงินเปิดบัญชีดูแลสุภาพพ่อท่านบุญให้ ปทุโม (เนื่องจากพ่อท่านมีอายุมากแล้ว)
          2.เพื่อนำเงินซ่อมสร้างเสนาสนะภายในวัดท่าม่วง ซึ่งทุกท่านที่สนใจร่วมบุญบูชาวัตถุมงคลยังสามารถบูชาโดยตรงที่วัดท่าม่วง ติดต่อ พระอาจารย์ธงชัย ศักดามาศ 08-7263-7819 หรือติดต่อ บอส บางหลวง โทร.08-7598-2384 หรือเฟซบุ๊ก กลุ่มพ่อท่านบุญให้ ปทุมโม (บุญให้...เป็นเจ้าสัว) งานนี้เรียกได้ว่าท่านใดร่วมบุญบูชาสั่งจองเหรียญหล่อแบบโบราณเจ้าสัวของท่านบุญให้ จะได้ทั้งวัตถุมงคลได้บูชาติดตัวและได้บุญกุศลอีกด้วย เรียกได้ว่าทำบุญครั้งเดียวได้บุญถึง 2 ต่อเลยทีเดียว


          และหากจะกล่าวถึงงานกฐินก็ต้องบอกว่ามีตำนานความเป็นมาที่น่าสนใจมายาวนาน ซึ่งชาวพุทธทุกคนควรทราบ


          คือในเมืองไทยเรานั้นรับสืบทอดพระพุทธศาสนามาจากอินเดีย รวมไปถึงประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องพระพุทธศาสนาด้วย นักวิชาการด้านพุทธศาสนาสันนิษฐานกันว่า “ประเพณีทอดกฐิน” มีมาตั้งแต่สมัยทวารวดีแล้ว แต่ปรากฏหลักฐานในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีตามความในศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้านที่ 2 ปรากฏเนื้อความว่า...

 

 

 

สืบสานตำนานงานบุญทอดกฐิน วัดท่าม่วง ด้วยบารมีพ่อท่านบุญให้

ตัวอย่างวัตถุมงคงชุด เจ้าสัวบุญให้

 



          “...คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ชาวเจ้า ท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุน ทั้งสิ้นทั้งหลายทั้งผู้ชายผู้หญิง ฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสน ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อออกพรรษากรานกฐินเดือนหนึ่งจึงแล้ว เมื่อกรานกฐิน มีพนมเบี้ย มีพนมหมาก มีพนมดอกไม้ มีหมอนนั่งหมอนนอน บริพารกฐิน โอนทานแล่ปีแล้ญิบล้าน ไปสูดญัตกฐินเถิงอไรญิกพู้น เมื่อจักเข้ามาเวียง เรียงกันแต่อไรญิกพู้นเท้าหัวลาน ดมบังคมกลองด้วยเสียงพาทย์เสียงพีณ เสียงเลื้อนเสียงขับ ใครจักมักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื้อน เลื้อน เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากปตู”


          สังเกตได้ว่าถ้อยคำในศิลาจารึกปรากฏคำว่า “กรานกฐิน”... “บริวารกฐิน”...“สวดญัตติกฐิน” ซึ่งคำเหล่านี้ยังใช้กันมาถึงยุคปัจจุบัน เป็นเอกสารหลักฐานยืนยันว่า “การทอดกฐิน” อยู่กับสังคมไทยเรามายาวนาน


          คำว่า “กฐิน” เป็นชื่อเรียกผ้าไตรจีวรที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือนแล้วสามารถรับมานุ่งห่มได้


          คำว่า “ทอดกฐิน” หรือการกรานกฐิน จึงเป็นการทำสังฆกรรมประเภทหนึ่งตามพระวินัยบัญญัติเถรวาทที่มีกำหนดเวลาหรือเรียกกันว่า “กฐินกาล” อันหมายถึงว่าระยะเวลาของการที่พระสงฆ์จะสามารถกระทำสังฆกรรมนี้ได้กำหนดระยะเวลาเพียง 1 เดือน นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เท่านั้น


          ด้วยวัตถุประสงค์สำคัญ คือต้องการสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ อนุเคราะห์ ภิกษุผู้ทรงคุณที่มีจีวรชำรุดและการได้มาของผ้าไตรจีวรนั้น องค์พระสัมมาพุทธเจ้า พระองค์ไม่ทรงห้ามการรับผ้าจากผู้ศรัทธาเพื่อนำมากรานกฐิน จึงทำให้เกิดการทำทาน ประกอบพิธีการถวายผ้ากฐินหรือการทอดกฐินขึ้นมา

 

 

 

สืบสานตำนานงานบุญทอดกฐิน วัดท่าม่วง ด้วยบารมีพ่อท่านบุญให้

บอส บางหลวง (กลาง) และคณะผู้ใจบุญล่องใต้ไปร่วมงานบุญทอดกฐิน

 


          เรียกว่าเป็นการจัดให้เป็นสังฆทานคือถวายแก่คณะสงฆ์โดยไม่เจาะลงภิกษุรูปหนึ่งรูปใด


          ประเพณีการทอดกฐินของพุทธศาสนิกชนไทยนั้นมีทั้ง “พิธีหลวง” และ “พิธีราษฎร์” ซึ่งการถวายผ้าพระกฐินของพระมหากษัตริย์จัดเป็นพระราชพิธีที่สำคัญประจำปี


          และในงานทอดกฐินนั้นจะมีสิ่งที่สำคัญอีกอีกส่วนหนึ่ง นั่นคือธงกฐินทั้ง 4 อันประกอบด้วย ธงจระเข้ ธงนางมัจฉา ธงตะขาบ และธงเต่า ซึ่งเปี่ยมไปด้วยความหมายและซ่อนปริศนาธรรมเอาไว้


          ธง “จระเข้” เป็นการสะท้อนให้เห็นภาพ สัตว์ปากใหญ่ กินไม่อิ่ม ซึ่งหมายถึงความโลภ ตำนานเล่าขานสืบต่อกันมา เศรษฐีคนหนึ่งเกิดเป็นจระเข้ว่ายน้ำตามขบวนกฐินจนขาดใจตาย


          ธง "ตะขาบ” เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า สัตว์มีพิษ เปรียบดั่งความโกรธที่อยู่ในหัวใจ คอยเผาจิตใจ วัดไหนปักธงนี้แสดงให้รู้กันว่ามีคนมาจองกฐินแล้ว ใครที่จะมาปวารณาทอดกฐินก็ให้ผ่านไปวัดอื่นไม่ต้องมาไถ่ถามให้เสียเวลา


          ธง "นางมัจฉา” เป็นการสะท้อนถึงเสน่ห์แห่งความงาม ชวนให้หลงใหลเคลิบเคลิ้ม ตัวแทนหญิงสาว หมายถึงความหลง ตามความเชื่อระบุว่าอานิสงส์จากการถวายผ้าแก่พระภิกษุสงฆ์จะส่งผลบุญให้มีรูปงาม


          ธง "เต่า” เป็นการสะท้อนภาพของสัตว์ที่มีกระดองแข็งคอยคุ้มกันป้องกันภัย มีความหมายว่าเมื่อวัดปักธงเต่า เพื่อแสดงแจ้งให้รู้ว่าวัดนี้ทอดกฐินเรียบร้อยแล้ว โดยจะปลดลงในวันเพ็ญเดือน 12


          เห็นไหมครับว่าทุกสรรพสิ่งล้วนมีความหมาย การทอดกฐินไม่ว่าที่วัดไหนก็ตามหากเรามีจิตเจตนาที่บริสุทธิ์ย่อมได้รับบุญกุศลอย่างเต็มเปี่ยม ยิ่งใครที่ได้อ่านบทความชิ้นนี้ก่อนไปทอดกฐิน ผมเชื่อมั่นว่าท่านจะอิ่มทั้งบุญอิ่มทั้งความรู้อย่างแน่นอน!!!

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ