Lifestyle

กลุ่มเยาวชนดนตรี ชวนฟังบทเพลง "คีตราชา" รำลึกในหลวง ร.9

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คีตราชา โปรมูสิกา จูเนียร์ โครงการส่งเสริมศักยภาพของผู้มีความสามารถด้านดนตรี โดยเฉพาะดนตรีคลาสสิก

     ในฐานะนักดนตรีคนหนึ่ง ทุกครั้งที่ได้เล่นเพลงพระราชนิพนธ์ หนูรู้สึกภูมิใจ และคิดถึงพระองค์ท่านมากค่ะ” ถ้อยคำเรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยความหมายที่บ่งบอกถึงความรู้สึกของ “เบนซ์” ธนภรณ์ ลาภส่งผล เยาวชนวัย 18 ปี จากคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ได้รับโอกาสครั้งใหญ่ในชีวิตร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการการแสดงคอนเสิร์ต “คีตราชา : โปรมูสิกา จูเนียร์ รียูเนียน” การแสดงดนตรีบทเพลงพระราชนิพนธ์ เพื่อน้อมรำลึกและเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นการแสดงร่วมกันของคณาจารย์จากคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเยาวชนที่เคยผ่านการฝึกอบรมค่ายดนตรีของโครงการคีตราชา โปรมูสิกา จูเนียร์ จาก 5 รุ่นที่ผ่านมา 

      กลุ่มเยาวชนดนตรี ชวนฟังบทเพลง "คีตราชา" รำลึกในหลวง ร.9

เหล่าโปรมูสิกา จูเนียร์ ฝึกซ้อมอย่างเข้มข้น

กลุ่มเยาวชนดนตรี ชวนฟังบทเพลง "คีตราชา" รำลึกในหลวง ร.9

ธนภรณ์ ลาภส่งผล

    ด้วยความประทับใจในบทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาโดยตลอด "เบนซ์" ธนภรณ์ เผยความรู้สึกด้วยว่า ดีใจที่มีโอกาสได้เล่นเพลงที่ได้ฟังมาตั้งแต่เล็กจนโต ส่วนตัวรู้สึกประทับใจเพลงใกล้รุ่งมาก ได้รู้จักเพลงพระราชนิพนธ์นี้จากการเล่นดนตรีไทย ตอนนั้นเล่นขลุ่ยเพียงออ พอเล่นก็รู้สึกชอบเพลงนี้มากแล้ว แต่พอได้มาเล่นดับเบิลเบส ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีคลาสสิก ก็ยิ่งทำให้รักเพลงพระราชนิพนธ์นี้มากขึ้นไปอีก

    โครงการ คีตราชา โปรมูสิกา จูเนียร์ เป็นโครงการที่ส่งเสริมศักยภาพของผู้มีความสามารถด้านดนตรี เป็นค่ายฝึกอบรมดนตรีที่ส่งเสริมให้เยาวชนได้เรียนรู้ทางด้านดนตรีคลาสสิก โดยจะคัดเลือกเด็กจากภูมิภาคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ กลาง อีสาน ใต้ เรียกว่าแต่ละรุ่นจะได้ฝึกฝนฝีมือทางด้านดนตรี ทั้งเพลงคลาสสิก และเพลงพระราชนิพนธ์ โดยอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถ ทั้งไทยและจากต่างประเทศ

กลุ่มเยาวชนดนตรี ชวนฟังบทเพลง "คีตราชา" รำลึกในหลวง ร.9

ธัญชิศา เรื่องลือ

     “มิวสิค” ธัญชิศา เรื่องลือ วัย 19 ปี หนึ่งในสมาชิกของค่าย กล่าวว่า การเข้าค่ายในโครงการนี้ทำให้ได้เรียนรู้การฝึกซ้อมดนตรีแบบเข้มข้น ทำให้พัฒนาตัวเองไปอีกขั้น เพราะได้ฝึกวินัยแบบนักดนตรีอาชีพ การบริหารจัดการเวลาว่าควรซ้อมแค่ไหน ตื่นกี่โมง ทำอะไร การใช้ชีวิตให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น การแบ่งเวลา การตรงต่อเวลา อย่างตัวเองเล่นเครื่องดนตรีเชลโล อาจารย์ก็จะคอยมาแนะนำอย่างใกล้ชิด ช่วยส่งเสริมให้กระตือรือร้น ทำความเข้าใจในโน้ตดนตรีคลาสสิกที่มีความยากให้กลายเป็นเรื่องสนุกได้

กลุ่มเยาวชนดนตรี ชวนฟังบทเพลง "คีตราชา" รำลึกในหลวง ร.9

เทวชัย ม่วงสุข (ขวา) ตั้งใจฝึกซ้อมเชลโล่

      การเข้าค่าย ทำให้ได้เจอเพื่อนๆ ที่มีใจรักดนตรีคลาสสิกเหมือนกัน “โฟน” เทวชัย ม่วงสุข อายุ 18 ปี ชั้นปีที่ 1 คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าให้ฟังว่า ค่ายนี้ทำให้ได้เรียนรู้ทักษะทางดนตรีมากขึ้น ได้เจอคนเก่งๆ เยอะมาก ส่วนตัวชอบดนตรีประเภทเครื่องสาย เชลโล คือเครื่องดนตรีที่ชอบที่สุด และมองว่าการเล่นดนตรีคลาสสิกเปรียบเสมือนการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน เหมือนการนำภาษาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ มารวมกัน เพราะสำหรับตัวเองต้องใช้ความคิดเยอะมากในการเล่นแต่ละเพลง มีจุดหัก จุดเชื่อมต่อ จุดประสาน เพลงพระราชนิพนธ์เป็นเพลงบรรเลงแรกๆ ที่ได้ฟัง เช่น เพลงลมหนาวแว่ว จะได้ยินเพลงเหล่านี้มาตลอด ซึ่งในเพลงพระราชนิพนธ์หลายๆ เพลง มีท่วงทำนองและมีเนื้อเพลงที่เป็นพลังและกำลังใจในการใช้ชีวิต การได้ฟังเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้รู้สึกอบอุ่นใจ

กลุ่มเยาวชนดนตรี ชวนฟังบทเพลง "คีตราชา" รำลึกในหลวง ร.9

สุประวีณ์ จันทร์สว่าง

      ในขณะที่ “รวงข้าว” สุประวีณ์ จันทร์สว่าง อายุ 18 ปี ชั้นปีที่ 1 คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่าเริ่มเล่นไวโอลินเพลงแรกคือเพลงพระราชนิพนธ์ “พรปีใหม่” รู้สึกว่าทุกครั้งที่ได้เล่นเพลงนี้ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานพรให้เรา

     “เพลงพรปีใหม่ เป็นเพลงในดวงใจ พอได้บรรเลงเพลงนี้เหมือนกำลังได้รับพรจากพระองค์ท่าน อีกเพลงที่ชอบคือเพลงยิ้มสู้ เพราะเพลงนี้พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เพื่อให้กำลังใจ หนูเองรู้สึกผูกพันกับเพลงพระราชนิพนธ์มาก เพราะว่าวงออเคสตร้าที่ภาคใต้ ที่หนูเคยร่วมวง มีคอนเสิร์ตเฉลิมพระเกียรติประจำปี จึงทำให้เราได้มีโอกาสเล่นเพลงพระราชนิพนธ์ในทุกๆ ปีมาตลอดค่ะ” สุประวีณ์ กล่าว

      กลุ่มเยาวชนดนตรี ชวนฟังบทเพลง "คีตราชา" รำลึกในหลวง ร.9

      แม้จะเป็นเด็กสายวิทย์ แต่ชีวิตก็สนุกกับดนตรีคลาสสิก “รวงข้าว" เสริมว่า ไม่มีอะไรแบ่งแยกว่าดนตรีกับสายวิทย์อยู่ด้วยกันไม่ได้ จริงๆ คือการบาลานซ์ที่ดีมาก อย่างวันไหนอ่านหนังสือแล้วไม่เข้าหัว ก็จะหยุดพัก และซ้อมไวโอลิน พอเล่นไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็จะกลับมาอ่านหนังสือต่อได้อีกเรื่อยๆ ซึ่งการเล่นดนตรีคลาสสิกทำให้มีสมาธิ และได้จัดการกับระบบทางความคิดได้ดีขึ้น สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ดีด้วย

   “หนูภูมิใจมากค่ะ และคิดว่าทุกคนในค่ายนี้ก็ต้องภูมิใจเช่นกัน เราได้เป็นตัวแทนของเยาวชนที่ได้มาบรรเลงบทเพลงของพระองค์ เป็นความภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิต เพราะว่าทุกบทเพลงเพราะมากและมีความหมายที่ลึกซึ้ง อยากชวนทุกคนให้ลองฟังดนตรีด้านนี้กัน มาร่วมรับชมรับฟังคอนเสิร์ต คีตราชา โปรมูสิกา จูเนียร์ รียูเนียน กันเยอะๆ นะคะ รับรองว่าต้องประทับใจแน่นอนค่ะ” สุประวีณ์ กล่าวปิดท้าย

กลุ่มเยาวชนดนตรี ชวนฟังบทเพลง "คีตราชา" รำลึกในหลวง ร.9

      สำหรับการแสดงคอนเสิร์ตในครั้งนี้ ถือเป็นการรวมตัวครั้งใหญ่ของตัวแทนเยาวชนตั้งแต่รุ่นที่ 1 จนรุ่นที่ 5 ร่วมถ่ายทอดบทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร การแสดงแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 บรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์โดยวงดนตรีเครื่องสายจากเยาวชน โปรมูสิกาจูเนียร์รุ่นแรกถึงรุ่นปัจจุบัน ร่วมกับคณาจารย์จากคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จำนวน 10 เพลง โดยมีศิลปินรับเชิญ “โก้ มิสเตอร์แซกแมน” มาร่วมบรรเลง 3 เพลง

   ส่วนช่วงที่ 2 เป็นการแสดงสร้างสรรค์จากเหล่าศิลปินรับเชิญ ได้แก่ “พินต้า” ณัฐนิช รัตนเสรีเกียรติ, “อ๊ะอาย” กรณิศ เล้าสุบินประเสริฐ และ “ฉัฏฐ์” ฉัฏฐ์วรรณ ทีปสุวรรณ โดยผสมผสานการร้องเพลงและการแสดงเข้าด้วยกันจำนวน 5 เพลง

กลุ่มเยาวชนดนตรี ชวนฟังบทเพลง "คีตราชา" รำลึกในหลวง ร.9

    “คีตราชา : โปรมูสิกา จูเนียร์ รียูเนียน คอนเสิร์ต” โดย บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ร่วมกับ คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดแสดงให้ชมในวันที่ 12-13 ตุลาคมนี้ เวลา 15.00-16.30 น. ที่ควอเทียร์ แกลอรี่ ชั้นเอ็ม ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ ผู้สนใจสามารถเข้าชมฟรี

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ