Lifestyle

พระพุทธสมาธิกลีบบัว หลวงพ่อชม วัดสิงห์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พระพุทธสมาธิกลีบบัว หลวงพ่อชม วัดสิงห์ 0 ต้น อ้อมน้อย 0

 

 

 

          “อีกหนึ่งของดีเมืองเพชร” พระพุทธสมาธิกลีบบัวหลวงพ่อชม วัดสิงห์ จ.เพชรบุรี ชาติภูมิ นามเดิม ชม นุชนาถ เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๕ ที่บ้านปืนต.บ้านหม้อ อ.เมือง จ.เพชรบุรี บิดาของท่านเป็นต้นนามสกุล “นุชนาถ” ซึ่งแพร่หลายมากใน จ.เพชรบุรี

 


          ท่านเป็นหมอแผนโบราณมีชื่อเสียงในสมัยนั้นมาก ชีวิตในวัยเยาว์โยมบิดามารดาได้นำท่านไปฝากเรียนหนังสือที่สำนักวัดสิงห์ในสมัยเจ้าอธิการแหยมเป็นเจ้าอาวาส เล่าเรียนหนังสือไทยขอมจนสามารถอ่านออกเขียนได้


          เมื่ออายุครบ ๒๑ ปี ได้เข้าอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดสิงห์ พระอุปัชฌาย์และพระคู่สวดไม่ปรากฏหลักฐานบันทึกนามที่แน่ชัด ท่านได้รับฉายาทางธรรมว่า “จนฺทโชติ”


          เมื่ออุปสมบทแล้วท่านได้จำพรรษาที่วัดสิงห์ หมั่นศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยตลอดจนศาสตร์แขนงต่างๆ อีกทั้งยังเป็นหมอแผนโบราณช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้พระภิกษุสามเณรภายในวัดตลอดจนญาติโยมทั่วไป


          วิชาหมอแผนโบราณ ท่านได้รับการถ่ายทอดมาจากโยมบิดาจนมีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่ว


          ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๒ หลวงพ่อชม มีอายุได้ ๒๗ ปี พรรษาที่ ๕ เจ้าอธิการแหยมได้มรณภาพลงทางคณะสงฆ์ตลอดจนเหล่าทายกทายิกาได้พร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อชมดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสิงห์สืบต่อมา


          ครั้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มีพระราชประสงค์ให้สร้าง “พระรามราชนิเวศน์” (วังบ้านปืน) ได้กำหนดเขตพระราชฐานถึงวัดสิงห์มีแนวกุฏิสงฆ์อยู่หลังถังน้ำประปาตรงเชิงสะพานอุรุพงษ์ วัดสิงห์จึงถูกย้ายไปตั้งที่วัดแกลบ ต.หนองโสน อ.เมือง จ.เพชรบุรี ล้นเกล้าฯ ได้พระราชทานเงินค่ารื้อถอนให้จำนวนหนึ่ง
 

 

 

          พอถึงช่วงออกพรรษาในปีนั้นทางวัดสิงห์จึงเริ่มรื้อย้ายกุฏิและศาลาการเปรียญออกจากเขตพระราชฐาน


          เมื่อหลวงพ่อชมย้ายมาอยู่ที่วัดแกลบแล้วจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดสิงห์” เหมือนชื่อวัดเดิมที่ย้ายมาจากบ้านปืนจนถึงพ.ศ.๒๔๗๐ ท่านเริ่มสร้างอุโบสถหลังใหม่เป็นปูนตลอดทั้งหลัง


          โอกาสนี้ท่านได้สร้างวัตถุมงคลขึ้นมา ๓ ชนิดเพื่อสมนาคุณแก่ผู้ที่สละทรัพย์ร่วมทำบุญคือ ๑.เชือกคาดเอว ๒.พระปิดตาหล่อโบราณและ ๓.พระพุทธสมาธิกลีบบัวหรือที่นักเล่นพระรุ่นเก่าเรียกว่า “พระเกสร”


          ในที่นี้จะกล่าวถึงพระพุทธสมาธิกลีบบัวหรือพระเกสร พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิประทับนั่งอยู่บนฐานบัวสองชั้น ขนาดกว้าง ๑.๖ ซม. สูง ๒.๕ ซม. สร้างด้วยกรรมวิธีหล่อแบบโบราณเทเป็นช่อตัดเดือยทีละองค์ ด้านหลังเป็นอักขระขอม “มะอะอุ” รูปพระจันทร์เสี้ยว, พระจันทร์เต็มดวงและอุณาโลม มีเนื้อทองแดงเถื่อน (องค์ในภาพ), เนื้อทองเหลือง, เนื้อเมฆพัดและเนื้อตะกั่ว จำนวนสร้างไม่มากนักพบเห็นน้อยสนนราคาเล่นหากันอยู่ที่หลักหมื่นต้นๆ


          วัตถุมงคลของท่านมีข้อห้ามกำหนดที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ๓ ประการคือ ๑.ห้ามด่าบุพการี ๒.ห้ามผิดลูกผิดเมียเขา ๓.ห้ามลอดใต้ถุนบ้านราวตากผ้าและไม้ค้ำกล้วย เมื่อหลวงพ่อย่างเข้าสู่วัยชรายังมีสุขภาพที่แข็งแรงสติปัญญาและความทรงจำสมบูรณ์จนล่วงเข้าเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๖ ท่านได้อาพาธด้วยโรคฝีฝักบัวที่เอวข้างขวา คณะศิษยานุศิษย์จึงได้ช่วยกันรักษาพยาบาลแต่อาการมีแต่ทรงกับทรุด พอถึงเดือนมิถุนายนอาการยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นแต่ท่านยังมีสติดีตลอด บางครั้งหากมีอาการเจ็บปวดมากท่านจะเจริญวิปัสสนากรรมฐานเพื่อระงับอาการเหล่านั้น จนล่วงเข้าวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๔๘๖ เวลา ๑๕.๐๐ น. ท่านได้ละสังขารลงอย่างสงบ สิริรวมอายุได้ ๗๑ ปี พรรษา ๔๙

 

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ