Lifestyle

Fun facts about English ภาษาอังกฤษสำคัญไฉน? (2)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แม้ภาษาอังกฤษจะมีกฎเกณฑ์และข้อยกเว้นมากมาย แต่ก็ยังมีแง่มุมสนุก ๆ ที่น่าสนใจไม่น้อย

Fun facts about English(2)

      เมื่อสัปดาห์ก่อน คอลัมน์ English Today สถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  นำเสนอต้นตอของภาษาอังกฤษ แต่ก็ยังไม่จบ ซึ่งแม้หลายคนอาจมองว่าภาษาอังกฤษมีกฎเกณฑ์และข้อยกเว้นมากมาย คำบางคำสะกดแบบหนึ่งแต่อาจออกเสียงอีกแบบหนึ่ง ซ้ำยังมีการเพิ่มคำใหม่ ๆ เข้ามาตลอดเวลาจนแทบตามไม่ทัน แต่กระนั้นภาษาอังกฤษก็ยังมีแง่มุมสนุก ๆ ที่น่าสนใจไม่น้อย มาดูตัวอย่างกันค่ะ

    Fun facts about English ภาษาอังกฤษสำคัญไฉน? (2)

       1. ภาษาอังกฤษหยิบยืมคำมาจากภาษาต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เช่น zero (ศูนย์) hashish (กัญชา) มาจากภาษาอารบิก  waltz (การเต้นรำจังหวะวอลทซ์) มาจากภาษาเยอรมัน extravaganza (ความบันเทิงหรือการแสดงที่ยิ่งใหญ่อลังการ) มาจากภาษาอิตาเลียน honcho (หัวหน้า) มาจากภาษาญี่ปุ่น typhoon (พายุไต้ฝุ่น) มาจากภาษาจีน ketchup (ซอสมะเขือเทศ) มาจากภาษามาเลย์ zombie (ซอมบี้) มาจากภาษาแอฟริกัน amarit (น้ำอมฤต น้ำทิพย์) avatar (อวตาร) deva, diva (เทวะ) มาจากภาษาสันสกฤต bong (บ้องกัญชา) มาจากภาษาไทย
      2. กลุ่มอักษร –ough สามารถออกเสียงต่างกันอย่างน้อย 9 เสียง ได้แก่ rough (รัฟ) ploug (พเลา) through (ธรู) though (โธ) hiccough (ฮีค-คัพ) cough (ค็อฟ) thought (ธอท) thorough (เธอ-โระ) และ slough (ซลู)
      3. เครื่องหมาย # มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า octothorpe ซึ่งเป็นคำที่ประดิษฐ์ขึ้นในยุค 60 เมื่อมีการเพิ่มเครื่องหมาย # เข้าไปบนแป้นโทรศัพท์ ปัจจุบัน octothorpe มีชื่อเรียกและการใช้งานหลายอย่าง เช่น ในสหรัฐอเมริกาจะเรียกว่า pound (เนื่องจากมักใช้กับตัวเลขที่เกี่ยวกับน้ำหนัก) หรือ number โดยมีหลักการว่า หาก # อยู่หน้าตัวเลขจะอ่านว่า number เช่น number 1 (#1) แต่หากอยู่หลังตัวเลขจะอ่านว่า pound เช่น 1 pound (1#) แต่ในแวดวงโซเชียลมีเดีย เช่น ทวิตเตอร์ จะเรียกเครื่องหมาย # ว่า hashtag โดยจะใช้เครื่องหมายนี้หน้าข้อความเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น #SaveOurWorld

Fun facts about English ภาษาอังกฤษสำคัญไฉน? (2)
    

         4. วิลเลียม เชกสเปียร์ กวีและนักเขียนบทละครผู้ยิ่งใหญ่ของอังกฤษ เจ้าของผลงานที่เลื่องชื่ออย่างโรมิโอกับจูเลียต และ แฮมเล็ต เป็นผู้ประดิษฐ์คำภาษาอังกฤษใหม่ ๆ กว่า 1,000 คำผ่านงานวรรณกรรมของเขา ซึ่งหลายคำยังคงใช้กันอยู่ในปัจจุบัน อาทิ addiction (การเสพติด) champion (นักสู้ ผู้ชนะเลิศ ผู้สนับสนุน) dwindle (ลดลง) torture (ทรมานให้เจ็บปวด) worthless (ที่ไร้ค่า) green-eyed (อิจฉา) arch-villain (วายร้ายตัวพ่อ)

      Fun facts about English ภาษาอังกฤษสำคัญไฉน? (2)

    5. ze/hir เป็นคำสรรพนามกลาง ๆ สำหรับทั้งชายและหญิงที่มีผู้นิยมใช้เพิ่มขึ้น ซึ่งแตกต่างจากคำสรรพนาม he/him ที่ใช้กับเพศชาย และ she/her ที่ใช้กับเพศหญิงเท่านั้น 
       6. เครื่องหมายอินฟินิตี ? มีชื่อเรียกว่า lemniscate ซึ่งเป็นคำในภาษาละตินมีความหมายว่าตกแต่งด้วยริบบิ้น
       7. เดิมคำว่า Hello เป็นคำที่ใช้เพื่อเรียกความสนใจ เช่น Hello! What are you up to? (เฮ้ ทำอะไรอยู่น่ะ) แต่หลังจากที่อเล็กซานเดอร์ แกรห์ม เบลล์ ประดิษฐ์โทรศัพท์ขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1876  Hello จึงถูกนำมาใช้เป็นคำทักทายอย่างที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน ว่ากันว่าในครั้งกระนั้น เบลล์เสนอให้พูดว่า “ahoy” เมื่อรับโทรศัพท์ แต่โธมัส เอดิสัน นักประดิษฐ์คนสำคัญของโลกอยากให้พูดว่า “hello” มากกว่า ปรากฎว่าเอดิสันเป็นฝ่ายชนะ คำว่า hello จึงกลายเป็นคำทักทายทางโทรศัพท์และคำทักทายทั่วไปนับแต่นั้น

Fun facts about English ภาษาอังกฤษสำคัญไฉน? (2)
       

       8. คำว่า goodbye (หรืออาจสะกดเป็น good bye, good-by, good-bye) ซึ่งเป็นคำกล่าวลาหรือเมื่อจบการสนทนาทางโทรศัพท์นั้นมาจากคำว่า God be with ye (ye = you)
      9. มีคำภาษาอังกฤษที่ใช้กันทั่วไปเพียง 4 คำที่ลงท้ายด้วย –dous ได้แก่ hazardous (ที่เป็นอันตราย) horrendous (น่ากลัวน่าสยดสยอง) stupendous (ใหญ่โต มหึมา) และ tremendous (ใหญ่โต น่าเกรงขาม) 
      10. ประโยคที่ประกอบด้วยอักษรภาษาอังกฤษครบทั้ง 26 ตัวเรียกว่า pangram เช่น The quick brown fox jumps over the lazy dog. ซึ่งเป็นประโยคที่นิยมใช้ทดสอบแป้นพิมพ์

                                                                    
                                                                                   แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ
                                                                                    
                                                                                      ผศ. ชลาธิป  ชาญชัยฤกษ์

                                                      

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ