Lifestyle

"ด้วยพลังแห่งรัก"จาก"สมเด็จพระพันปีหลวง"สู่"ปวงพสกนิกร"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไม่ใช่แค่พระราชทานเงิน แต่ทรงสอนให้เขาพึ่งพาตัวเองสร้างงานอาชีพและส่งต่อให้ลูกหลาน

        “การไปเยี่ยมราษฎรทุกครั้ง ทำให้เราทั้งสองมีความสุข และชุ่มชื่นในไมตรีจิตของประชาชน...ความจริงที่เราได้ประสบกับตัวเองเช่นนี้ ทำให้เราทั้งสองตั้งใจแน่วแน่ว่า จะพยายามกระทำทุกสิ่งอย่าง เพื่อตอบแทนบุญคุณและน้ำใจของประชาชนที่มีต่อเรา และครอบครัวของเรา...” สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2515 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา

        เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 87 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม 2562 โอกาสนี้ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้จัดนิทรรศการขึ้นใหม่ ได้แก่ นิทรรศการ “ด้วยพลังแห่งรัก” เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ นับตั้งแต่ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี เมื่อพุทธศักราช 2493 เป็นต้นมา โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงเปิดนิทรรศการ ณ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันก่อน

"ด้วยพลังแห่งรัก"จาก"สมเด็จพระพันปีหลวง"สู่"ปวงพสกนิกร"  

"ด้วยพลังแห่งรัก"จาก"สมเด็จพระพันปีหลวง"สู่"ปวงพสกนิกร"

         ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ โดย ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และ ปิยวรา ทีขะระ เนตรน้อย ผู้อำนวยการ พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ร่วมจัดงาน “ไพรเวท วิว” ขึ้น ซึ่งภายในงานยังมี อลิสา ใสเศวตวารี ภัณฑารักษ์ บอกเล่าถึงนิทรรศการ “ด้วยพลังแห่งรัก” พร้อมด้วยผู้ที่เคยถวายงานด้านต่างๆ ได้แก่ ธีระพันธ์ วรรณรัตน์, พิจิตรา บุณยรัตพันธุ์ แฟชั่นดีไซเนอร์ชื่อดัง, จินตนา กฤติพร ทายาทของ น้อย กฤติพร ช่างฉลองพระองค์ ร่วมเล่าถึงประสบการณ์การถวายงาน 

"ด้วยพลังแห่งรัก"จาก"สมเด็จพระพันปีหลวง"สู่"ปวงพสกนิกร"

        ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ เผยว่า พสกนิกรคือพลังที่ทำให้สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ ไปทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าฝนจะตกฟ้าจะร้อง ที่ใดมีราษฎรเฝ้าคอยพระองค์ท่านอยู่ ไม่ทรงย่อท้อ จะเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยม และเมื่อประทับอยู่ท่ามกลางประชาชน พระองค์ทรงพระสำราญ ทรงมีความสุขที่ได้ทรงงาน ทรงเห็นประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น เลี้ยงตัวเองได้ด้วยงานผ้า จะเสด็จฯ กลับไปติดตามงาน ไม่ใช่แค่พระราชทานเงิน แต่ทรงสอนให้เขาพึ่งพาตัวเองสร้างงานอาชีพและส่งต่อให้ลูกหลาน ชักชวนเพื่อนบ้านให้ทำงานฝีมือ ในแต่ละปีเวลาประทับในพระนครไม่มากเท่าที่เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎร เพราะคนที่อยู่ตามชายขอบชายแดน ชนบทที่ห่างไกลความเจริญเข้าไม่ถึง ทรงอยากไปพระราชทานกำลังใจ และสนับสนุนให้ประชาชนมีอาชีพ ชื่อนิทรรศการด้วยพลังแห่งรักจึงเหมาะสมที่สุด เพราะพระองค์เสด็จฯ ไปด้วยความรักจริง

"ด้วยพลังแห่งรัก"จาก"สมเด็จพระพันปีหลวง"สู่"ปวงพสกนิกร"

        ปิยวรา ทีขะระ เนตรน้อย กล่าวถึงการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ครั้งนี้ว่า ด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชปณิธานที่จะขจัดทุกข์บำรุงสุขแก่พสกนิกรชาวไทยในฐานะคู่พระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาตลอดระยะเวลาเกือบ 70 ปี ทรงพระวิริยอุตสาหะในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจและทรงอุทิศพระองค์ช่วยเหลือพสกนิกรอย่างไม่ทรงเห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ด้วยพลังแห่งรักที่มีต่อแผ่นดินและประชาชนชาวไทยโดยแท้ โดยนิทรรศการ “ด้วยพลังแห่งรัก” เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 จนถึงปี 2565 เป็นระยะเวลา 3 ปี แต่ในระหว่างนี้จะมีการผลัดเปลี่ยนฉลองพระองค์ด้วย เพราะคอนเซ็ปต์ของพิพิธภัณฑ์ผ้าจะเปลี่ยนนิทรรศการในทุกๆ ปี

"ด้วยพลังแห่งรัก"จาก"สมเด็จพระพันปีหลวง"สู่"ปวงพสกนิกร"

         ในฐานะภัณฑารักษ์ อลิสา ใสเศวตวารี บอกเล่าถึงนิทรรศการ “ด้วยพลังแห่งรัก” ว่า การจัดนิทรรศการได้ศึกษาพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เกือบ 70 ปีที่ทรงงานเพื่อชาติและพสกนิกร ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ ทั้งด้านการแพทย์ การศึกษา และการส่งเสริมอาชีพ อันเป็นที่มาของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ล้วนเกิดจากจุดเริ่มต้นเดียวกันนั่นคือ ความรัก นิทรรศการนี้จะเป็นการบอกเล่าจากจุดเริ่มต้นของ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยห้องที่หนึ่งบอกเล่าถึงความรักของสองพระองค์ผ่านภาพวาดฝีพระหัตถ์ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ และบทเพลงพระราชนิพนธ์ จัดแสดงฉลองพระองค์ควบคู่กับพระฉายาลักษณ์ที่พระองค์ทรงเป็นแบบ จากนั้นในระหว่างทางเชื่อมเข้าสู่ห้องที่สอง ได้จำลองบรรยากาศขบวนรถไฟสื่อถึงการเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ. 2498 จากนั้นเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรทั่วประเทศ ซึ่งบอกเล่าถึงความรักของพระองค์ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย

"ด้วยพลังแห่งรัก"จาก"สมเด็จพระพันปีหลวง"สู่"ปวงพสกนิกร"

"ด้วยพลังแห่งรัก"จาก"สมเด็จพระพันปีหลวง"สู่"ปวงพสกนิกร"

          สำหรับไฮไลท์ประกอบด้วย “ฉลองพระองค์ชุดราตรี” พ.ศ. 2528 ตัดเย็บโดยห้องเสื้อบัลแมง โดยนายอีริก มอร์เทนเซน ฉลองพระองค์ตัดเย็บจากพระภูษาเยียรบับของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระภูษา (แบบกระโปรง) ตัดเย็บจากผ้าไหมซาติน ทรงฉลองพระองค์องค์นี้เป็นแบบให้พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงฉายพระฉายาลักษณ์, “ฉลองพระองค์แบบสากล” พ.ศ. 2517 ตัดเย็บจากผ้าชาวไทยภูเขาเผ่าเมี่ยน (เย้า) และเผ่าม้ง ผ้าฝ้ายและผ้าลูกไม้ ทรงในโอกาสเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับ ณ​ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ระหว่างการเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรภาคเหนือ, “ฉลองพระองค์แบบผสมผสานไทย” พ.ศ. 2528 จากห้องเสื้อบัลแมง โดยนายปีแอร์ บัลแมง ฉลองพระองค์ตัดเย็บจากผ้าแพรวา ผ้าสนับเพลา (แบบโจงกระเบน) ตัดเย็บจากผ้าไหมพื้น และ “กลุ่มฉลองพระองค์สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขณะเสด็จฯ ทรงงานศิลปาชีพ ช่วยเหลือราษฎร” อาทิ ฉลองพระองค์แบบสากล พ.ศ. 2526 ห้องเสื้อภา โดย คุณหญิงอังศุภา ปัณยาชีวะ ในโอกาสทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาสหรัฐอเมริกาและคณะเข้าเฝ้าฯ ณ ศูนย์ศิลปาชีพพิเศษบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น

"ด้วยพลังแห่งรัก"จาก"สมเด็จพระพันปีหลวง"สู่"ปวงพสกนิกร"

         นิทรรศการ ด้วยพลังแห่งรัก เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 จนถึงปี 2565 ณ ห้องจัดแสดง 1-2 พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบรมมหาราชวัง เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 09.00-16.30 น. ปิดจำหน่ายบัตรเข้าชมเวลา 15.30 น. บัตรเข้าชมสำหรับผู้ใหญ่ ราคา 150 บาท ผู้สูงอายุ (65 ปีขึ้นไป) ราคา 80 บาท นักเรียนหรือนักศึกษา (โปรดแสดงบัตรประจำตัว) และเด็กอายุ 12-18 ปี ราคา 50 บาท เด็กอายุต่ำว่า 12 ปี ไม่เสียค่าใช้จ่าย
   

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ