Lifestyle

ประติมากรรมลอยตัวพญาฉัททันต์บรรพต เขาอ้อ (1)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  ตามรอย...ตำนานแผ่นดิน  โดย...  เอก อัคคี (facebook.com/ake.akeakkee)

 

 

 

          ถ้ำฉัททันต์บรรพตเขาอ้อสำคัญไฉน ?


          ถ้ำฉัททันต์บรรพต เป็นถ้ำโบราณดึกดำบรรพ์ ตั้งอยู่ที่เขาอ้อ ซึ่งถ้ายึดตามข้อมูลของนักธรณีวิทยาที่เคยวิเคราะห์ความเก่าแก่ของอายุหินปูนยุคไทรแอสซิกในถ้ำนี้ก็มีอายุราว ๒๕๐ ล้านปี !!

 

 

          ปากถ้ำหันไปทางทิศใต้ สาเหตุที่เรียกว่าถ้ำฉัททันต์ เนื่องจากบริเวณผนังถ้ำตอนหน้า มีหินงอกออกมาคล้ายหัวช้างที่มีงวง


          ซึ่งคนสมัยโบราณคงหมายถึง พญาช้างฉัททันต์ อดีตชาติของพระพุทธเจ้า แห่งพระพุทธศาสนา...ที่มาถึงวันนี้ก็ ๒,๕๖๒ ปี

 

 

 

ประติมากรรมลอยตัวพญาฉัททันต์บรรพต เขาอ้อ (1)

 


          แต่ถ้ำนี้เคยเป็นที่บำเพ็ญของพวกพราหมณ์ ฤาษีโยคีมาก่อน?


          เพราะพวกพราหมณ์เข้ามาแผ่อิทธิพลในถิ่นนี้ก่อนพุทธศาสนา ฉะนั้น พญาช้างที่อยู่คู่กับถ้ำมาตั้งแต่ก่อนกำเนิดยุคพราหมณ์แต่เมื่อในยุคที่พราหมณ์รุ่งเรือง พญาช้างคงเป็นองค์พระคเณศเทพเจ้าของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ผมว่าน่าเป็นไปได้กระมัง ?


          และคงเป็นเหตุสำคัญที่ถ้ำนี้ถูกเลือกให้เป็นสถานฝึกปฏิบัติบำเพ็ญเพียรภาวนาดุจเทวาลัย วิหารที่ประทับของปวงเทพ !!


          แน่นอนว่า การบันทึกเรื่องราวต่างๆ นั้น มาบันทึกกันในสมัยที่พุทธศาสนารุ่งเรืองแล้ว จึงเรียกถ้ำนี้ว่า “ถ้ำฉัททันต์บรรพต”


          แต่ผมเชื่อเอาเองว่า ยุคพันกว่าปีก่อนอาจจะเรียกถ้ำคเณศก็ได้


          ถ้ำแห่งนี้มีความกว้างประมาณ ๗ เมตร ยาวประมาณ ๓๐ เมตร ปากถ้ำเดิมก่อด้วยอิฐถือปูน มีบานประตูทำด้วยไม้ทึบ ๑ บาน ปัจจุบันได้รับการบูรณะใหม่แล้ว มีการปูกระเบื้องมีไฟสว่างไสว

 

 

 

ประติมากรรมลอยตัวพญาฉัททันต์บรรพต เขาอ้อ (1)

 


          แต่กับสมัยก่อน พ่อครูเปลี่ยน หัทยานนท์ เคยเล่าว่า ภายในถ้ำมืดสนิท มีค้างคาวอาศัยอยู่มากมาย สภาพในถ้ำจึงสกปรกมีหินขรุขระเพราะไม่มีใครอยู่ นอกจากนักพรต ดาบสฤาษีในอดีต และถัดมาก็จะมีเฉพาะครูบาอาจารย์เจ้าอาวาสเท่านั้นที่จะเข้ามานั่งสมาธิหรือทำพิธีแช่ว่านรางยาให้ลูกศิษย์ใกล้ชิด โดยการใช้เรือมาวางแบบรางใส่ว่านและน้ำว่านลงไปให้คนลงไปนอนแช่ ต่อมาเมื่อปรับพื้นถ้ำให้เรียบก็ขุดพื้นแล้วก่ออิฐโบกปูนเป็นรางถาวรเอาไว้


          เมื่อถึงฤดูทำนาชาวบ้านจะเข้าไปขุดมูลค้างคาวตามผนังถ้ำ จึงมีเขม่าไฟตะเกียงติดดำไปหมด ตอนลึกที่สุดของถ้ำมีปล่องอากาศทะลุยอดเขา ทำให้เกิดแสงสว่างขึ้นในส่วนนี้ของถ้ำ

 



          สิ่งที่น่าสนใจภายในถ้ำนี้ ได้แก่ พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยจำนวน ๑๑ องค์ พระสาวกพนมมือจำนวน ๒ องค์ พระพุทธรูปเหล่านี้ ประดิษฐานเรียงรายไปตามผนังถ้ำด้านซ้ายมือของถ้ำ

 

 

ประติมากรรมลอยตัวพญาฉัททันต์บรรพต เขาอ้อ (1)

 


          ตามหลักฐานสารตราของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช มีมาถึงพระยาแก้วโกรพยพิชัยภักดีบดินทรเดโชชัย อภัยพิริยพาหะ เจ้าเมืองพัทลุง เขียนลงวันเสาร์ เดือน ๙ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีระกา จุลศักราช ๑๑๐๓ (พ.ศ.๒๒๘๔) ตรงกับสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา มีใจความตอนหนึ่งว่า


          “ด้วยขุนศรีสมบัตินายกองสุราไปฟ้องว่า ที่วัดเขาอ้อนี้เป็นวัดสร้างมาก่อน แล้วกลับรกร้างสิ่งก่อสร้างชำรุดเสื่อมโทรมลงคราวหนึ่ง พระมหาอินทราชมาจากเมืองปัตตานี ได้มาเป็นเจ้าวัด และได้จัดการปฏิสังขรณ์วัดขึ้นใหม่ โดยมีปะขาวขุนแก้วเสนา ขุนศรีสมบัติเป็นหัวหน้าฝ่ายคฤหัสถ์ ช่วยกันซ่อมพระพุทธรูปภายในถ้ำ ๑๐ องค์ ซึ่งปรักหักพังเสร็จแล้ว ดำเนินการสร้างเสนาสนะอื่นๆ”


          จึงเป็นที่ยุติได้ว่าพระพุทธรูปสร้างมาก่อน พ.ศ.๒๒๘๔ แต่เกิดชำรุดปรักหักพังขึ้นตามกาลเวลาจึงได้บูรณะขึ้นใหม่


          ซึ่งรูปพระสาวกทั้ง ๒ องค์ กับพระพุทธรูปอีก ๑ องค์ จึงเข้าใจว่าจะมาต่อเติมเมื่อภายหลังและคงจะมีการซ่อมแซมกันมาหลายครั้ง จนเปลี่ยนแปลงลักษณะเดิมไปหมด ปัจจุบันพระพุทธรูปถูกพอกปูนใหม่ดูไม่สวยงาม แบบฝีมือช่างพื้นบ้าน

 

 

 

ประติมากรรมลอยตัวพญาฉัททันต์บรรพต เขาอ้อ (1)

 


          ส่วนตรงกลางถ้ำประดิษฐานรูปปูนปั้นพระอาจารย์แห่งเขาอ้อหลายคนสันนิษฐานว่าคือ พระอาจารย์ทองเฒ่า หรือพระอาจารย์ทองในถ้ำ บ้างก็ว่า พระอาจารย์ทองหูยาน ก็สุดแท้แต่ไม่สรุป


          เอาเป็นว่า ตั้งแต่สมัยโบราณนานมามีการประกอบพิธีกรรมทางไสยศาสตร์นานาของที่นี่ ตั้งแต่สมัยเป็นตักศิลาจนมาเป็นวัดพุทธมักนิยมทำกันภายในถ้ำแห่งนี้ ไม่ยากจะจินตนาการว่าดวงจิตของนักบวช นักพรต ฤาษี โยคี พระสงฆ์มากน้อยที่สถิตในที่นี้


          จึงยึดถือว่าเป็นถ้ำศักดิ์สิทธิ์มาก การปลุกเสกพระเครื่องรางของขลัง ที่ต่างนิยมปลุกเสกพระเครื่องรางของขลังภายในโบสถ์ที่เรียกว่า มหาอุด คืออุโบสถที่มีแค่ทางเข้า....ด้านหลังอุดตัน ทำให้เชื่อว่าจะทำให้เครื่องรางของขลังศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น เป็นคติที่ยึดถือปฏิบัติต่อกันมาจนปัจจุบันและถ้ำแห่งนี้ก็ตรงตามสูตร !!


          ถ้ำฉัททันต์นอกจากจะเป็นถ้ำที่มีเด่นทางไสยศาสตร์แล้ว ยังมีความสำคัญทางด้านศิลปะ โบราณคดีของพุทธศาสนา เนื่องจากได้มีการค้นพบพระพุทธรูปบูชาขนาดเล็กภายในถ้ำตามซอกโพรงหินหน้าถ้ำจำนวนหลายสิบองค์


          ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยเงิน และเงินยวง เท่าที่ค้นพบแล้วมี ๒ ปาง คือ ปางเปิดโลกและปางมารวิชัย ปางเปิดโลกชาวบ้าน เรียกว่า “พระทิ้งดิ่ง” ส่วนใหญ่เป็นฝีมือช่างพื้นบ้าน ลักษณะไม่ค่อยสวยงาม มีอายุเก่าในราวสมัยอยุธยาตอนปลาย


          ถ้ำฉัททันต์จึงมีพลังงานลี้ลับและมีหินงอกย้อย ปรากฏกายของพญาช้างฉัททันต์ในศาสนาพุทธ(พระคเณศในศาสนาพราหมณ์)


          ถือว่าภายในถ้ำแห่งนี้ อบอวลไปด้วยพลังมหัศจรรย์เหนือจักรวาลอย่างสุดจินตนาการและยังเป็นการบันทึกตำนานสถานที่ขลังสำนักตักศิลาเขาอ้อตราบนิรันดร์ไม่มีทางเลือนหาย


          (อ่านต่อสัปดาห์หน้า)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ