Lifestyle

มหกรรม"ศิลปะ-ดนตรี-การแสดง" ครั้งที่ 9

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สื่อสารถึงวัฒนธรรมประจำชาติผ่านท่วงท่าที่สวยงามและเครื่องแต่งกายอันวิจิตรบรรจง

         ในโอกาสที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 ซึ่งสอดคล้องกับมติที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 ณ เมืองยอกยาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ได้เห็นชอบการกำหนดให้ปี 2562 เป็นปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Cultural Year 2019) นับว่าเป็นปีแห่งโอกาสสำคัญที่สถาบันการศึกษาร่วมกันบูรณาการทางวิชาการด้านศิลปกรรมนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการเพิ่มขีดความสามารถของอาจารย์ผู้สอน และนิสิต นักศึกษา ให้สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดให้สอดคล้องกับหน้าที่ของตัวเองอย่างเหมาะสม

มหกรรม"ศิลปะ-ดนตรี-การแสดง" ครั้งที่ 9

         ด้วยเหตุนี้ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) จัดงาน “มหกรรมศิลปะ ดนตรี และการแสดง ครั้งที่ 9” (The 9th International Festival of Arts and Culture 2019) ภายใต้โครงการเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการและมหกรรมศิลปะดนตรี และการแสดง ครั้งที่ 9 และองค์กรเครือข่ายความร่วมมือทางด้านศิลปวัฒนธรรม สถาบันการศึกษาทั้งภายในประเทศและต่างประเทศกว่า 10 ประเทศ ร่วมเสนอความคิดสร้างสรรค์ผสานศิลปวัฒนธรรมประจำชาติผ่านการแสดงสุดตระการตาจำนวนกว่า 50 ชุด การแสดง เป็นการสร้างแรงบันดาลใจคนรุ่นใหม่เรียนรู้วัฒนธรรมและการแสดงต่างชาติ พร้อมเสริมความแข็งแกร่งทางวิชาการด้านศิลปกรรม

มหกรรม"ศิลปะ-ดนตรี-การแสดง" ครั้งที่ 9

         ศิริพรรณ ทองเจิม ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ประธานการจัดงาน กล่าวว่า มหกรรมศิลปะ ดนตรี และการแสดง นอกจากความร่วมมือของนานาประเทศ และสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ในประเทศไทยแล้ว กระทรวงวัฒนธรรมก็เข้ามามีบทบาทสนับสนุนงานมหกรรมครั้งนี้ ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของกระทรวงที่พร้อมให้การสนับสนุนกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม และวัฒนธรรม ในเชิงการอนุรักษ์ผ่านการส่งเสริมและเผยแพร่

มหกรรม"ศิลปะ-ดนตรี-การแสดง" ครั้งที่ 9

         ซึ่งงานมหกรรมศิลปะ ดนตรี และการแสดง ในครั้งที่ 9 นี้ได้รับความร่วมมือจากนานาประเทศเข้าร่วม อันได้แก่ บังกลาเทศ, บัลกาเรีย, ฟิจิ, อินเดีย, อินโดนีเซีย, อิตาลี, เกาหลี, ฟิลิปปินส์, รัสเซีย และ ประเทศไทย อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากสถาบันอุดมศึกษาในไทย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์, มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี, มหาวิทยาลัยนเรศวร, สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์, มหาวิทยาลัยศรีปทุม, มหาวิทยาลัยทักษิณ และ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

มหกรรม"ศิลปะ-ดนตรี-การแสดง" ครั้งที่ 9

          ด้าน ผศ.ดร.ระวิวรรณ วรรณวิไชย คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดเผยว่า คณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว มุ่งเน้นการขับเคลื่อนความเป็นศิลปกรรมศาสตร์และก้าวสู่ความเป็นสากล สำหรับมหกรรมศิลปะ ดนตรี และการแสดง ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการเครือข่ายศิลปกรรมวัฒนธรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ ถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญ และได้มีการจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 และยังได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรจาก 10 ประเทศนำศิลปะการแสดงเข้าร่วมทำการแสดง ซึ่งในบางประเทศก็มาร่วมทำการแสดงต่อเนื่องหลายปี แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งด้านเครือข่ายของโครงการ

มหกรรม"ศิลปะ-ดนตรี-การแสดง" ครั้งที่ 9

          และถือเป็นโอกาสอันดีที่นิสิตของ มศว หรือนักศึกษาจากสถาบันอื่นๆ จะมีโอกาสได้รับชมไปพร้อมกับการศึกษาเรียนรู้ด้านศิลปะ ดนตรี และนาฏศิลป์ของนานาชาติ ในขณะที่นักแสดงจากแต่ละประเทศก็จะมีโอกาสได้เรียนรู้ศิลปะการแสดงจากประเทศเรา ซึ่งอธิบายความเป็นมาของวัฒนธรรม ประเพณี ประจำชาติได้เป็นอย่างดี ถือเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สำหรับสิ่งชี้วัดความสำเร็จของโครงการในปัจจุบัน เราดูได้จากความร่วมมือจากต่างประเทศที่ต่อเนื่องและเพิ่มจำนวนขึ้นในทุกปี และการพัฒนาขีดความสามารถของนักวิชาการ อาจารย์ ที่ได้เรียนรู้ศิลปะการแสดงจากต่างประเทศและสามารถนำไปต่อยอดสู่การพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอนต่อไป

มหกรรม"ศิลปะ-ดนตรี-การแสดง" ครั้งที่ 9

        นักแสดงจากนานาประเทศรวมทั้งในประเทศไทย ได้นำเอาการแสดงอันมีรากเหง้าจากวัฒนธรรม ประเพณี มาเผยแพร่ในงานมหกรรมศิลปะ ดนตรี และการแสดงในครั้งที่ 9 ได้อย่างตระการตา แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์และการสื่อสารให้เห็นถึงวัฒนธรรมประจำชาติ ผ่านท่วงท่าที่สวยงาม และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ได้รับการออกแบบอย่างวิจิตรบรรจง

มหกรรม"ศิลปะ-ดนตรี-การแสดง" ครั้งที่ 9

         สำหรับมหกรรมศิลปะ ดนตรี และการแสดง เป็นหนึ่งกิจกรรมภายใต้โครงการเครือข่ายศิลปกรรมวัฒนธรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ เป็นเวทีแห่งโอกาสให้เยาวชน นิสิต นักศึกษา นักวิชาการ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมจากนานาชาติ นำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถทางวิชาการ ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบเครื่องแต่งกาย การแสดง สร้างเสริมการเรียนรู้ด้านศิลปกรรมศาสตร์สู่ความชำนาญในสาขาอาชีพการแสดง ดนตรี นาฎศิลป์แนวร่วมสมัยและดั้งเดิม และสามารถแสดงให้นานาประเทศได้เห็นถึงอารยธรรมอันงดงามและมีควรค่าแก่การอนุรักษ์อย่างยั่งยืนสืบไป
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ