Lifestyle

คติโบราณราชประเพณี พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ร่วมกับ สถาบันไทยคดีศึกษา และคณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จัดเสวนา "ราชพัสตราบรมราชาภิเษก ในสมัยรัตนโกสินทร์"

          เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์ และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ร่วมกับ สถาบันไทยคดีศึกษา และคณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรมเสวนา “ราชพัสตราบรมราชาภิเษก ในสมัยรัตนโกสินทร์” ที่หอประชุมศรีบูรพา ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันก่อน

คติโบราณราชประเพณี พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

บรรยากาศกิจกรรมเสวนา

          โดยผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้แก่ ศ.เกียรติคุณ ดร.ม.ร.ว.สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีด้านวัฒนธรรมและวิเทศสัมพันธ์ ม.สยาม ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ที่มาให้ความรู้ในหัวข้อ “ขอบเขตและความหมายของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” อ.เผ่าทอง ทองเจือ นักประวัติศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผ้าไทย และ อ.วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ครูศิลป์ของแผ่นดินผ้าทอไหมยกทอง และหัวหน้ากลุ่ม “ผ้าทอยกทองจันทร์โสมา” จ.สุรินทร์ ร่วมถ่ายทอดเรื่องราวของ “เครื่องบรมราชภูสิตาภรณ์ พัสตราภรณ์ และผ้าที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก”

คติโบราณราชประเพณี พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ศ.เกียรติคุณ ดร.ม.ร.ว.สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์

          ศ.เกียรติคุณ ดร.ม.ร.ว.สุริยวุฒิ กล่าวว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกนับเป็นพระราชพิธีที่มีความสำคัญที่สุดของทุกประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ขั้นตอนสำคัญที่สุดคือ พระมหากษัตริย์ทรงรับน้ำอภิเษกจากพราหมณ์ ตามประวัติศาสตร์ สมัยรัชกาลที่ 5 ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกถึง 2 ครั้ง เช่นเดียวกับรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 6 จำนวนครั้งในการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและพระราชอัธยาศัยส่วนพระองค์ ส่วนขั้นตอนการประกอบพระราชพิธีฯ ไทยไม่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียโดยตรง แต่รับผ่านจากเขมรโบราณ เมื่อสมัยพระเจ้าอู่ทอง อาณาจักรอยุธยาไปทำศึกกับเขมรโบราณจึงได้นำวัฒนธรรมประกอบพิธีบรมราชาภิเษกมาใช้ คือการนับถือว่า กษัตริย์เป็นเทวราชา กษัตริย์ไม่ได้เป็นมนุษย์อีกต่อไป

           คติโบราณราชประเพณี พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

คติโบราณราชประเพณี พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

อ.เผ่าทอง ทองเจือ 

          ในส่วนของรายละเอียดภูษาราชพัสตราบรมราชาภิเษก ที่ใช้ในการพระราชพิธี อ.เผ่าทอง เล่าว่า ในพระราชพิธีอาบน้ำพระมูรธาภิเษกในรัชกาลที่ 6 ทรงฉลองพระองค์ครุยขาวขลิบกุ๊นแถบด้วยทอง เช่นเดียวกับฉลองพระองค์ในรัชกาลที่ 9 บางพระบรมฉายาลักษณ์ในหมายของรัชกาลที่ 7 หลังจากสรงน้ำมูรธาภิเษกแล้วเสด็จฯ ไปประทับที่พระแท่นอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ทรงพระสนับเพลาเชิงงอน ทรงพระภูษาเขียนทองพื้นสี น้ำเงิน ฉลองพระองค์ตาดเงินประดับดาราเครื่องราชฯ ทั้ง 6 ทรงสายสะพายมหาจักรีพร้อมพระสังวาล ฉลองพระองค์ครุยกรองทองริ้วปัตหล่าที่ชั้นนอก ในรัชกาลที่ 9 ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ระบุว่าเป็นฉลองพระองค์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทำจากไหมทองสลับไหมสีฟ้ากลัดกระดุมนพรัตน์ 7 กระดุมและจีบหลัง 2 กระดุม ทรงฉลองพระองค์เป็นเสื้อฝรั่งครุยริ้วทองพื้นสีเหลืองอ่อน

คติโบราณราชประเพณี พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

อ.วีรธรรม ตระกูลเงินไทย

          ขณะที่ อ.วีรธรรม กล่าวว่า พระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงผ้าสะพักซึ่งมีกำหนดในกฎมณเฑียรบาลตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ที่กำหนดให้พระอัครมเหสีห่มสะพัก 2 พระอังสา ถือเป็นการห่มที่มีพระอิสริยยศสูงในฝ่ายใน หรือพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 5 เสด็จเลียบพระนคร ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์มีเพียงภาพเดียว ทรงฉลองพระองค์เครื่องต้นแบบโบราณทรงฉลองพระองค์สองชั้น โดยมีฉลองพระกรน้อยอยู่ด้านใน สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพมีพระราชวินิจฉัยว่าเป็นฉลองพระองค์ที่หนักและน่าจะทำเพื่อความงามส่งเสริมความเป็นสมมุติเทพของพระมหากษัตริย์สำหรับประทับนิ่งๆ ในยุคหลังจึงเปลี่ยนไป

คติโบราณราชประเพณี พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

           “เครื่องต้น หรือพระบรมราชสิตาภรณ์ เปรียบเทียบได้จากภาพจิตรกรรมจากวัดช่องนนทรี จะเห็นพระมหากษัตริย์ทรงฉลองพระองค์ 2 ชั้นมาตั้งแต่โบราณ โดยมีพระสนับเพลา และพระภูษาโจงในยุครัตนโกสินทร์ก็ยังเครื่องทรงสืบทอดกันมา ประกอบด้วยฉลองพระองค์ตัวในเรียกว่า ฉลองพระองค์พระกรน้อย ฉลองพระองค์นอกแขนสั้น และยังมีฉลองพระองค์ทรงประพาส ทรงพระสนับเพลาและทับด้วยพระภูษาอีกชั้นหนึ่ง หรือภาพจิตรกรรมในวัดพุทไธสวรรย์ในสมัยรัชกาลที่ 1 ยังแต่งพระองค์ตามโบราณราชประเพณี จนถึงรัชกาลที่ 4 ในยุคที่มีภาพถ่าย พระเครื่องต้นยังทรงแบบโบราณที่สืบทอดกันมา ประกอบด้วย พระสนับเพลาเชิงงอน พระภูษาทรง ฉลองพระศอ ฯลฯ เป็นเครื่องทรงมาตรฐาน” ครูศิลป์ของแผ่นดินผ้าทอไหมยกทอง อธิบาย

คติโบราณราชประเพณี พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

คติโบราณราชประเพณี พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ห้องจัดนิทรรศการ

          นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ได้จัดนิทรรศการ “ราชพัสตราบรมราชาภิเษก” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเป็นการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพระราชพิธีดังกล่าว ตลอดจนเครื่องแต่งพระองค์ที่เกี่ยวเนื่องเพื่อให้ผู้สนใจประวัติศาสตร์ราชประเพณีไทยได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ด้วยเป็นพระราชพิธีที่ว่างเว้นไปนานถึง 69 ปี นิทรรศการจัดขึ้น ที่ห้องประชุม พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ณ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่วันนี้-31 สิงหาคมนี้

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ