Lifestyle

ครูศิลป์อาสาแบ่งปัน "ปักผ้า" เพื่อชายขอบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ให้ความรู้และพัฒนาฝีมือด้านการปักผ้าให้แก่ชาวไทยภูเขาใน อ.แม่สรวย

         งานศิลปหัตถกรรมเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างงานสร้างรายได้ และหากมีการพัฒนาฝีมือให้เชี่ยวชาญก็ยิ่งสร้างมูลค่าเพิ่ม ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ “SACICT” มุ่งมั่นพัฒนาฝีมือช่างศิลป์แขนงต่างๆ นอกเหนือจากภารกิจหลักด้านการอนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอด โดยล่าสุดจัดโครงการจิตอาสา “SACICT จิตอาสา” เพื่อเฉลิมพระเกียรติและแสดงความจงรักภักดี น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 น้อมนำแนวพระราชดำริด้านจิตอาสา พร้อมสืบสานพระราชปณิธานในการส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมไทย ของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประเดิมด้วยกิจกรรมจิตอาสาสัญจร "SACICT จิตอาสา พัฒนาอาชีพ" พาวิทยากรจิตอาสาไปให้ความรู้และพัฒนาฝีมือด้านการปักผ้าให้แก่ชาวชุมชนใน ต.แม่สรวย อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เมื่อวันก่อน

ครูศิลป์อาสาแบ่งปัน "ปักผ้า" เพื่อชายขอบ

อัมพวัน พิชาลัย

         อัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กิจกรรมนี้สอดคล้องกับภารกิจของ SACICT ในการอนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอดศิลปหัตถกรรมไทย ภายใต้กลยุทธ์ “หัตถศิลป์ของชีวิตปัจจุบัน” โดยจะจัดทั้งหมด 10 ครั้ง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2562 ใน 2 รูปแบบคือ “SACICT จิตอาสา พัฒนาอาชีพ“ สร้างอาชีพแก่ผู้ด้อยโอกาส เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนชายขอบ และกลุ่มประชาชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งจะจัด 8 ครั้งใน 4 ภูมิภาค และกิจกรรมที่สองคือ ”SACICT จิตอาสา นำพาความสุข” สร้างการรับรู้ให้สังคมไทยว่างานศิลปหัตถกรรมสามารถสร้างความสุข ฝึกสมาธิ และช่วยบำบัดความเครียดแก่กลุ่มบุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือเยียวยา เช่น กลุ่มผู้ป่วย กลุ่มผู้สูงอายุ ตามสถานพยาบาลในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 2 ครั้ง นอกจากจะสะท้อนความจงรักภักดีและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ยังสะท้อนจิตวิญญาณของจิตอาสา เป็นความสุขจากการเป็นผู้ให้อย่างแท้จริง

ครูศิลป์อาสาแบ่งปัน "ปักผ้า" เพื่อชายขอบ

ครูสิริวัฑน์ เธียรปัญญา

          กิจกรรมจิตอาสาตามรอยการพัฒนา “ผ้าปัก” กับชุมชนชายขอบครั้งนี้  เริ่มด้วย ครูสิริวัฑน์ เธียรปัญญา ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2554 หรือที่ใครๆ เรียกขานว่า “ลุงปุ๊” ผู้มีฝีมือในการออกแบบลวดลายผ้าปักล้านนา นำชมพิพิธภัณฑ์หอพลับพลาเจ้าดารารัศมีที่ละลานตาไปด้วยผ้าทอพื้นเมืองสมบัติล้ำค่าของลุงปุ๊ที่สะสมมากว่า 40 ปี บางผืนอายุกว่า 100 ปี แต่ละผืนมีเรื่องเล่าและความเป็นมาน่าสนใจทั้งสิ้น อาทิ ผ้าซิ่นบ้านโป่ง จาก สปป.ลาว, ผ้าซิ่นลื้อ บ้านน้ำเกิง-หาดบ้าย, ผ้าซิ่นลื้อ เมืองงา, ผ้าซิ่นลื้อนาแล, ผ้าซิ่นลื้อ เมืองล้าเชียว เวียดนาม, ผ้าเจ็ต หรือผ้าเช็ดปาก, ผ้ากั้นประตู จากสปป.ลาว เป็นต้น

ครูศิลป์อาสาแบ่งปัน "ปักผ้า" เพื่อชายขอบ

ชนิตา เยเบี่ยง (ขวา)

         ซึ่งลุงปุ๊บอกว่าผ้าทอแต่ละแหล่งไม่สามารถแบ่งแยกได้ เพราะมีลักษณะใกล้เคียงกัน จะแตกต่างกันตามเทคนิคเท่านั้น เช่น บางบ้านใช้เทคนิคการจกทั้งผืน บางบ้านปัก บางบ้านยก บางบ้านขิด แต่การสร้างแพทเทิร์นลายจะอยู่ตรงกลางเหมือนกัน และนั่นเป็นแรงบันดาลใจให้ตัวเองอยากศึกษาเรื่องการปักผ้าอย่างจริงจังแล้วคิดรังสรรค์งานศิลป์บนผืนผ้า โดยเอาผ้าทอพื้นๆ มาปักลวดลายที่ได้แรงบันดาลใจมาจากลายทองในโบสถ์และลายปูนปั้นจากวัดต่างๆ ในแถบภาคเหนือแล้วประยุกต์เป็นสไตล์ของตัวเอง

ครูศิลป์อาสาแบ่งปัน "ปักผ้า" เพื่อชายขอบ

ลุงปุ๊ ถ่ายทอดงานปักผ้า

        จากนั้นคณะครูศิลป์จิตอาสาเดินทางสู่ชุมชนชายขอบ บ้านหนองขำ ของกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ และชุมชนโป่งแขมของชาวอาข่า เพื่อถ่ายทอดความรู้เรื่องการปักผ้าสไตล์ลุงปุ๊ให้ชาวบ้าน โดยลุงปุ๊ เล่าว่าตัวเองเป็นครูช่างของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศมากว่า 10 ปี ที่ผ่านมาได้เดินทางไปแทบทุกที่ใน จ.เชียงราย เพื่อสอนงานปักผ้าให้ชาวบ้าน เป็นการสร้างอาชีพให้มีรายได้เสริมจากการทำไร่ทำนาซึ่งเป็นเป็นอาชีพหลัก ชาวบ้านไม่ต้องลงทุนอะไร ใช้เพียงฝีมือเท่านั้น 

ครูศิลป์อาสาแบ่งปัน "ปักผ้า" เพื่อชายขอบ

ลายปักเชิงชายผ้าถุงของลุงปุ๊

         “วันนี้มาสอนปักผ้าง่ายๆ แบบลูกโซ่ สำหรับปักเชิงชายผ้าถุงเป็นลวดลายต่างๆ หรือผ้าคลุมไหล่ โดยจะวาดลายและกำหนดสีก่อนปัก มีชาวบ้านประมาณ 40 คนสนใจมาเรียน จะแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ 3 กลุ่ม มีครูผู้ช่วยอีก 2 คนมาช่วยสอน เริ่มจากการเดินเส้นด้ายสีขาวก่อนแล้วจึงใส่สีสันที่เรียกว่า “ใส่ใจ” เช่น สีแดง ชมพู เหลือง เขียว ฟ้า เป็นต้น ค่อยๆ เรียนรู้ไปไม่ยาก ปกติชาวบ้านก็มีงานปักเสื้อผ้าสไตล์ชนเผ่าอยู่แล้ว ที่นำมาสอนนี้จะเป็นงานเสริมอีกทาง พอมีฝีมือแล้วก็จะนำงานมาป้อนให้ทำเรื่อยๆ” ครูศิลป์ด้านการปักผ้า กล่าว

ครูศิลป์อาสาแบ่งปัน "ปักผ้า" เพื่อชายขอบ

ทีมจิตอาสาขณะลงมือสอนชาวเขาปักผ้า

          หลังจากฝึกทักษะการปักผ้าแบบลูกโซ่แล้ว นา แสงตุ้ย อายุ 39 ปี ชาวเขาเผ่าลาหู่เหลือง หมู่ 9 บ้านหนองขำ บอกว่างานปักแบบนี้ง่ายกว่างานปักของชนเผ่าที่เคยทำ เพราะแบบเดิมจะปักซับซ้อนและใช้เวลานาน ดีใจที่จะมีงานเสริมทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ปกติปักผ้าถ้าขยันก็มีรายได้เป็นหมื่นต่อปี แบบไม่ได้เลยก็ 4-5 พันบาท  ขณะที่ ชนิตา เยเบี่ยง อายุ 43 ปี ชาวเขาเผ่าอาข่า หมู่ 16 บ้านโป่งแขม บอกว่าปกติทำไร่ข้าวโพด สับปะรด มันสำปะหลัง เสร็จจากไร่นาก็จะรับจ้าง อย่างงานปักผ้าก็เป็นอาชีพเสริมได้ดี แต่นานๆ จะมีคนส่งงานมาให้ วันนี้ลุงปุ๊นำงานมาให้รู้สึกดีใจ ปกติปักผ้าเป็นผ้าปูโต๊ะ ผ้ารองจาน ได้ค่าแรง 2,500 บาท ถ้ามีงานเพิ่มก็มีรายได้เพิ่มใช้จ่ายในครอบครัวและส่งลูกเรียนหนังสือ
          นับเป็นอีกหนึ่งภารกิจของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพฯ ที่ช่วยให้เกิดวัฏจักรของงานศิลปหัตถกรรมที่ยั่งยืน สร้างคุณค่า และมูลค่าได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ...

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ