Lifestyle

ใช้ภาษาให้สนุก "Goldilocks principle"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เกร็ดภาษาวันละนิดกับ English Today สถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

      Goldilocks เป็นชื่อของเด็กหญิงในนิทานสำหรับเด็กเรื่อง Goldilocks and the Three Bears ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับหนูน้อยผมทองคนหนึ่งที่ไปเดินเล่นในป่าและพบเข้ากับบ้านของหมีพ่อ แม่ ลูก สามตัวที่บังเอิญไม่อยู่บ้านในวันนั้น โกลดิลอคส์เดินเข้าไปในบ้านและเห็นชามข้าวต้ม 3 ชามวางอยู่บนโต๊ะ จึงลองชิมดูและพบว่า ข้าวต้มในชามของพ่อหมีร้อนเกินไป ขณะที่ชามของแม่หมีก็เย็นเกินไป แต่ชามของลูกหมีอุ่นกำลังดี เธอจึงกินจนเกลี้ยงชาม เมื่ออิ่มท้อง โกลดิลอคส์เดินต่อไปยังห้องนอนเพื่อพักผ่อน แต่เมื่อล้มตัวลงนอนก็พบว่าเตียงของพ่อหมีแข็งเกินไป ส่วนของแม่หมีนั้นนิ่มเกินไป ขณะที่เตียงของลูกหมีนั้นนุ่มพอดี เธอจึงนอนหลับสบายบนเตียงนั้น

ใช้ภาษาให้สนุก "Goldilocks principle"

ใช้ภาษาให้สนุก "Goldilocks principle"

     Goldilocks หรือ goldilocks ถูกนำมาใช้เป็นคำคุณศัพท์ขยายคำนาม (ใช้วางหน้าคำนามได้เพียงอย่างเดียว) เพื่ออธิบายบุคคล สิ่งของ หรือสถานการณ์ที่มีคุณสมบัติหรือสภาพที่เหมาะสมลงตัวที่สุด ไม่สุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง หรือที่เรียกกันว่า Goldilocks principle ซึ่งสอดคล้องกับคำสอนในพุทธศาสนาที่ว่า อันว่าสายพิณนั้นหากขึงตึงนักมักขาด ขึงหย่อนนักมักไม่ดัง แต่หากขึงพอเหมาะเพราะจับใจ มาดูประโยคตัวอย่างกันค่ะ

     -In light of mounting concerns over political uncertainty, the nation seems to need a goldilocks prime minister candidate more than ever.

     ความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น ทำให้ดูเหมือนประเทศจะต้องการว่าที่นายกรัฐมนตรีที่เหมาะสมลงตัวที่สุดกว่าครั้งใด ๆ

     -Bangkok is considered a goldilocks tourist destination.

กรุงเทพมหานครถือเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่ลงตัวที่สุด

     ในทางเศรษฐศาสตร์ Goldilocks ถูกนำมาใช้ ในวลี Goldilocks economy หมายถึง สภาวะเศรษฐกิจที่เหมาะสม เช่น มีการขยายตัวสม่ำเสมอ ไม่ร้อนแรงเกินไป มีอัตราดอกเบี้ยต่ำหรืออัตราเงินเฟ้อต่ำ เป็นต้น

ใช้ภาษาให้สนุก "Goldilocks principle"

     นอกจาก Goldilocks แล้ว ยังมีคำที่มาจากนิทานหรือเทพนิยาย (fairy tales) ที่นำมาใช้ในความหมายที่แตกต่างจากเดิมอีกเป็นจำนวนมาก อาทิ

     ogre เดิมหมายถึง ยักษ์กินคนเหมือนตัวการ์ตูนเชร็คในภาพยนตร์แอนนิเมชันเรื่อง Shrek ของบริษัทดรีมเวิร์ก แต่ปัจจุบันหมายถึง คนที่น่ากลัว น่ารังเกียจ

     troll เดิมหมายถึง สิ่งมีชีวิตรูปร่างหน้าตาน่าเกลียดที่อาศัยอยู่ตามถ้ำตามคติความเชื่อของชาวสแกนดิเนเวียน ซึ่งอาจเป็นยักษ์หรือคนแคระก็ได้ แต่ปัจจุบันถูกนำมาใช้ในความหมายว่า พวกเกรียนคีย์บอร์ดที่คอยก่อกวนคุกคามผู้อื่นในโลกออนไลน์

ใช้ภาษาให้สนุก "Goldilocks principle"

     fairy godmother เดิมหมายถึง นางฟ้าที่มีมนต์วิเศษคอยให้ความช่วยเหลือแก่คนใดคนหนึ่งเหมือนพ่อแม่หรือที่ปรึกษา เช่น นางฟ้าใจดีในเทพนิยายเรื่องซินเดอเรลล่าที่โบกไม้กายสิทธิ์ (wave a magic wand) เสกสิ่งของ ต่าง ๆ ให้แก่ซินเดอเรลล่า แต่ปัจจุบันหมายถึงผู้ที่เอื้อเฟื้อช่วยเหลือผู้อื่น ส่วน wave a magic wand เป็นสำนวนหมายถึง แก้ไขปัญหาที่ยากลำบากอย่างได้ผลเหมือนโบกไม้กายสิทธิ์

ใช้ภาษาให้สนุก "Goldilocks principle"

     -The traffic in Bangkok is a nightmare. It’s simply impossible to wave a magic wand and make the problem go away.

      การจราจรในกรุงเทพมหานครเลวร้ายมากจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะโบกไม้กายสิทธิ์เพียงครั้งเดียวแล้วปัดเป่าปัญหานี้ให้หมดไป

ใช้ภาษาให้สนุก "Goldilocks principle"

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ

ผศ. ชลาธิป ชาญชัยฤกษ์

English Today

สถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ