Lifestyle

พลายชุมพลเนื้อนาบุญแห่งพญาคชสารของตระกูลแก้วคง เมืองพัทลุง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... ตามรอย...ตำนานแผ่นดิน โดย... เอก อัคคี facebook.com/ake.akeakkee


 

          พัทลุงเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ดังปรากฏหลักฐานจากการค้นพบขวานหินขัดในท้องที่ทั่วไปหลายอำเภอว่าเก่าแก่ถึงในสมัยศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔)

 


          อย่างที่หลายคนอาจจะทราบกันบ้างแล้วครับว่า พัทลุงเป็นแหล่งชุมชนของพราหมณ์ ที่ได้เดินทางมาจากเมืองพาราณสี อินเดีย ก่อนที่พระพุทธศาสนาจะเผยแผ่มาถึง ในสมัยก่อนชื่อเมืองพัทลุง ไม่ได้เขียนอย่างที่ปรากฏให้เห็นอยู่ทุกวันนี้ จากหลักฐานพบว่าบนเหรียญอีแปะพัทลุง พ.ศ. ๒๔๒๖ เขียนว่า พัททะลุง และพัตลุง ในเอกสารของไทย ใช้ต่างกันมากมายได้แก่ พัตะลุง พัดทลุง พัทธลุงพัตลุง พัฒลุง พัทลุง

 

พลายชุมพลเนื้อนาบุญแห่งพญาคชสารของตระกูลแก้วคง เมืองพัทลุง

พิธีกรรมไหว้ตาหมอช้าง และจัดพิธีรำคล้องช้างถวายหน้าศาลเพียงตา

 


          ในเอกสารเบอร์นีของอังกฤษสมัยรัชกาลที่ ๓ เขียนว่า Bondelun และในเอกสาร Merdelong ของนายลามาร์ วิศวกรชาวฝรั่งเศส สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เขียนว่า Bourdelun ความหมายของชื่อเมืองหมายถึงเมืองช้างหรือเมืองเกี่ยวเนื่องด้วยช้าง ซึ่งตรงกับข้อเท็จจริงหลายประการ คำว่า “พัต-พัท-พัทธ” แต่ผมไม่อาจทราบได้ว่าคำเดิมเขียนอย่างไร คำไหน ทราบเพียงว่าใช้เป็นคำขึ้นต้น


          ส่วนคำพื้นเมืองที่เรียกว่า “ตะลุง” แปลว่าเสาล่ามช้าง หรือ ไม้หลักผูกช้าง ชื่อบ้านนามเมืองของพัทลุง ที่เกี่ยวกับช้างมีมาก หรือจะเรียกว่าเป็น “เมืองช้าง” ก็ได้ โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลาในแถบบ้านชะรัดซึ่งอยู่ติดกับเทือกเขาบรรทัด มีช้างป่าชุกชุม และในตำนานนางเลือดขาวตำนานเมืองพัทลุงกล่าวว่า ตาสามโม ยายเพชรเป็นหมอสดำหมอเฒ่านายกองช้าง เลี้ยงช้างส่งเจ้าพระยากรุงทองทุกปี ต่อมาพระกุมารกับนางเลือดขาวก็ได้รับมรดกเป็นนายกองเลี้ยงช้างส่งส่วย

 

พลายชุมพลเนื้อนาบุญแห่งพญาคชสารของตระกูลแก้วคง เมืองพัทลุง

พิธีกรรมไหว้ตาหมอช้าง และจัดพิธีรำคล้องช้างถวายหน้าศาลเพียงตา

 

 

          ซึ่งในปัจจุบันชาวบ้านในท้องถิ่นยังคงนับถือ “ตาหมอช้าง” ส่วนช้างพลายชุมพลนั้น เป็นช้างของ นายชื่น ชูหนู ชาวสวนโหนด จ.พัทลุง เดิมนายชื่น เป็นคนเลี้ยงช้างหลวงที่บ้านสวนหลวง ศรีนครินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยต่อมานายชื่น ได้มีช้างที่สืบมาตั้งแต่พ่อของท่านไว้ ๒ เชือก คือ พลายชุมพล และพังภักดี เพื่อเป็นช้างที่ใช้ในการตรวจตราและควบคุมช้างหลวง นำมาเลี้ยงไว้ที่บ้านสวนหลวง


          จนในที่สุดพลายชุมพลอายุมากเข้าและล้มด้วยสิ้นอายุขัย นายชื่นและบรรดาควาญช้าง จึงนิมนต์พระมาสวดตามพิธีและทำการฝังตามธรรมเนียม

 

 

พลายชุมพลเนื้อนาบุญแห่งพญาคชสารของตระกูลแก้วคง เมืองพัทลุง

พิธีกรรมไหว้ตาหมอช้าง และจัดพิธีรำคล้องช้างถวายหน้าศาลเพียงตา

 

          แต่เล่ากันว่า...ในวันที่ฝังร่างของพลายชุมพลที่หลับตาสนิท กลับลืมตาขึ้นต่อหน้าต่อตาพระอธิการสังข์ ซึ่งเป็นพระเกจิในสมัยนั้น พระอธิการสังข์เลยพูดว่า.."ช้างนี้แม้ตัวตายแต่ใจมันยังไม่ตาย ช้างเชือกนี้จะมีดีแน่ในอนาคตข้างหน้า”


          หลังจากฝังเสร็จ ผ่านไปเพียงหนึ่งคืนนายชื่นฝันว่า..มีคนแก่นุ่งชุดขาว มีผ้าขาวม้ารั้งคอและถือตะขอสับช้างขี่ช้างพลายชุมพลตัวที่ตายมาหาแล้วบอกว่า..

 

          "เราอนุญาตให้มึงขุด แล้ว เอาหนัง เอางวง เอาปาก เอาหาง ไว้ตั้งหิ้งบูชาครบ ๑๐๐ วัน ค่อยขุดเอากระดูก นิมนต์พระมาสวดอีกรอบ แล้วเก็บกระดูกไว้เถิด.."

 

 

พลายชุมพลเนื้อนาบุญแห่งพญาคชสารของตระกูลแก้วคง เมืองพัทลุง

ขี้ผึ้งหุ่นพระปิดตาคเณศฤษีพญาฉัททันต์บรรพต

 

 

          สิ้นคำในฝันนายชื่นก็ตกใจตื่นทันที และนึกถึงคำพระอธิการสังข์ว่าช้างเชือกนี้มีดีในตัว จึงชวนพรรคพวกขุดเพื่อทำตามที่ในฝันและเมื่อเอาหนัง เอางวง เอาหาง และส่วนต่างๆ ตามที่ฝันแล้ว ปรากฏว่าตาของซากพลายชุมพลที่ลืมตาอยู่ก็ปิดลงสนิท


          คนในละแวกนั้นจึงลือกันว่า ช้างเชือกนี้คงอยากอยู่กับควาญ พอครบ ๑๐๐ วันก็มีการทำบุญอีกรอบและขุดเอากระดูกมาเก็บไว้ ลูกหลานก็มีการแบ่งไปบูชาคนละชิ้นสองชิ้น ส่วนงานายชื่นเป็นผู้เก็บไว้... ครั้นต่อมาเมื่อสิ้นนายชื่นของนี้จึงตกทอดมาสู่นายลับ แก้วคง ผู้เป็นน้องชาย (ลูกพี่ลูกน้องกันกับนายชื่น) โดยนายลับ แก้วคง ก็เป็นผู้สืบทอดหิ้งบูชาครูหมอเฒ่าหรือครูหมอช้างที่คนใต้ใช้เรียกกัน ในปัจจุบันทุกปีจะมีการบูชาตาหมอช้าง และจัดพิธีรำคล้องช้างถวายหน้าศาลเพียงตา โดยจัดขึ้นในช่วงเดือน 4 ของทุกปี หลังจากผ่านพิธีปีใหม่พราหมณ์แล้ว...ครับ


          เพราะข้อมูลส่วนหนึ่งที่ผมได้มาจาก อ.สิทธิชัย โหรบัณฑิต หรือชื่อจริงคือ อ.สิทธิชัย แก้วคง ผู้เป็นทายาทนั้นเอง ซึ่งมีการมอบมวลสารทุกอวัยวะของพญาช้างพลายชุมพลให้ผมเพื่อหลอมรวมเป็นร่างพระปิดตาคเณศฤษีพญาฉัททันต์ เขาอ้อ


          เพราะการที่ผมจะสร้างวัตถุมงคลสักรุ่นผมคิดเยอะในพิธีกรรม แต่ไม่คิดมากในเรื่องกำไร-ขาดทุน คำว่าคิดเยอะคือ คิดให้ละเอียดรอบคอบในเรื่องมวลสารที่จะหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน


          คำว่าไม่คิดมากคือผมรู้ดีว่าวัตถุมงคลผมไม่มีราคาในสนามพระหรอก เพราะมันประเมินคุณค่าไม่ได้ ซึ่งนั่นคือเจตนาผม


          อ.สิทธิชัย โหรบัณฑิตฆราวาสสายพราหมณ์พัทลุงแจ้งมาว่า ท่านยินดีจะมอบมวลสารพญาช้างทุกส่วนของพลายชุมพล ช้างเก่าแก่โบราณที่ล้มลงด้วยวัยชราทั้งงา, งวง, กระดูก, เนื้อหนัง, ขน, เล็บ ฯลฯ เพื่อผสมกับว่าน ๑๐๘ ที่ผ่านการหุงเคี่ยวในน้ำมัน ในถ้ำฉัททันต์บรรพต เขาอ้อ เพื่ออุดในฐานพระปิดตาคเณศฤษีพญาฉัททันต์ เขาอ้อ เพราะให้ครบสูตรการหลอมร่างเป็นมหาเทพพญาคชสารผู้ทรงฤทธิ์

 

 

พลายชุมพลเนื้อนาบุญแห่งพญาคชสารของตระกูลแก้วคง เมืองพัทลุง

อวัยวะส่วนต่างๆ ของช้างโบราณ พลายชุมพล

 

 


          ตรงตามหลักมูลกรรมฐาน เป็นกรรมฐานให้รู้จักพิจารณาความไม่งามของสังขาร อันได้แก่ “เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ” หรือที่เรียกกันในภาษาชาวบ้านว่า “ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง” เพราะพระปิดตาคือปริศนาธรรม


          บูรพาจารย์สายเขาอ้อมักสร้างพระปิดตา เพราะนี่คือการปิดทวาร ได้แก่ ตา หู จมูก ปาก โดยไม่ให้กองกิเลสเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นรัก โลภ โกรธ หลง ที่เกิดจากการปรุงแต่งซึ่งย่อมกระทบมาทางทวาร คือ ตา หู จมูก ปาก จึงต้องปิดทวาร เช่น ดวงตาเอาไว้นั่นเองซึ่งการปิดทวารนั้นไม่ได้หมายถึงการไม่มองเห็นรูป ไม่ดมกลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่ได้ยินอะไรเลย แต่หมายถึง การปิดโดยการไม่ลุ่มหลงไม่มัวเมาไปกับสิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน ได้สัมผัส หรือได้ดมกลิ่นอันทำให้เกิดความชอบความชังขึ้นมา ส่วนพุทธด้านมหาอุดเป็นผลพลอยได้ !


          ท่าน อ.สิทธิชัยคงมองว่าผมมีความตั้งใจจริงที่จะสืบสานตำนานเขาอ้อเลยร่วมส่งเสริมก็เลยขออนุโมทนาในกุศลครั้งนี้ด้วย
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ