Lifestyle

ตามล่า...ใครคือไอ้โม่งจ้องงาบงบฯเอสพี2สธ.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“ผมเป็นคนบรรจุรายการครุภัณฑ์ที่มีการร้องเรียน เพราะมีคนสั่ง” คำสารภาพของข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขผู้หนึ่งกลางที่ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงรายการครุภัณฑ์ ที่มี นพ.เสรี หงษ์หยก

 ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เป็นประธาน ย้ำชัดว่าการจัดทำรายการครุภัณฑ์เพื่อเสนอของบประมาณ ภายใต้โครงการแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 (เอสพี2) หรือไทยเข้มแข็งในส่วนของสธ. ไม่ธรรมดา มีคนสั่ง

 และดูเหมือนว่าการจัดทำรายการครุภัณฑ์จะเกิดความไม่ปกติ ตั้งแต่ขั้นตอนการสำรวจความต้องการครุภัณฑ์ ซึ่ง "คม ชัด ลึก" ได้เปิดประเด็นเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม โดยเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย(สอ.)แห่งหนึ่งร้องเรียนว่าการดำเนินการเป็นไปอย่างเร่งรีบผิดสังเกต ให้เวลาเพียง 3 วันซึ่งเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ อาจทำให้ได้รายการครุภัณฑ์ที่ไม่ตรงกับความต้องการที่แท้จริง ต่อมาจึงมีการออกมาเปิดเผยข้อมูลความไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง

 ถึงวันนี้แม้งบประมาณราว 8.6 หมื่นล้านบาท ยังไม่ผ่านการอนุมัติจากวุฒิสภา ทว่า กลับพบเงื่อนงำที่อาจจะส่อไปในทางทุจริต ด้วยการกระทำการอย่างน้อย 4 รูปแบบ เพื่อเปิดทางเอื้อให้บางคน บางกลุ่ม งาบงบประมาณก้อนนี้

 รูปแบบแรก สอดไส้รายการครุภัณฑ์ให้โรงพยาบาลจัดซื้อทั้งที่ไม่ได้ต้องการ จากการเปิดเผยของ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท มีประมาณ 3 รายการ ได้แก่ 1.เครื่องทำลายเชื้อโรคด้วยระบบแสงอัลตราไวโอเลตระบบปิด หรือยูวี แฟน ราคาเครื่องละ 4 หมื่นบาท จำนวน 800 ตัว 2.เครื่องตรวจสารชีวเคมีในเลือด (ออโตเมด) ที่เป็นเครื่องตรวจวัดระดับสารต่างๆ ในเลือด เครื่องละ 3 ล้านบาท จำนวน 38 ตัว และ 3.เครื่องตรวจวัดปริมาณเม็ดในเลือด (ซีบีซี ออโตเมด) เครื่องละ 8 แสนบาท จำนวน 16 ตัว โดยสองรายการนี้ ปกติจะซื้อเพียงน้ำยา และบริษัทเจ้าของน้ำยาจะนำเครื่องมือมาติดตั้งให้โรงพยาบาล แต่โครงการนี้ กลับมีการเสนอขอซื้อเครื่อง

 ทั้งนี้ ข้อมูลโครงสร้างการบริหารงานสธ. ในช่วงเวลาที่มีการจัดทำรายการครุภัณฑ์ สำนักงานบริหารงานภูมิภาค(สบภ.) ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) เป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูลรายการครุภัณฑ์ที่จะจัดซื้อในโรงพยาบาลชุมชน ทั่วไปและศูนย์ ส่วนสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์(สนย.)รับผิดชอบงานการสำรวจความต้องการในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)

 พญ.ศิริพร กัญชนะ อดีตรองปลัดสธ.ด้านบริหาร เป็นผู้รับผิดชอบโครงการไทยเข้มแข็งของสป.สธ. นพ.ปราชญ์  บุณยวงศ์วิโรจน์ อดีตปลัดสธ. เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดฝ่ายข้าราชการประจำ และนายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสึข ฝ่ายการเมือง แม้ผลสอบจะยังไม่แน่ชัดใครสั่งการ แต่ว่ากันว่า มือทำงานก็คือ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคนหนึ่ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองใหญ่ในจังหวัดทางภาคเหนือตอนล่าง หัวหน้าก๊วนในพรรคร่วมรัฐบาล

 รูปแบบที่ 2 ล็อกสเปก โดยการกำหนดรายละเอียดครุภัณฑ์ในบัญชีรายการครุภัณฑ์ที่เสนอไปยังสำนักงบประมาณ แทนที่จะกำหนดในทีโออาร์เช่นเดียวกับการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ตามปกติ ซึ่งสำนักงบฯ ท้วงติงกลับมายังสธ.อย่างน้อย 3 รายการ คือ 1.เครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมปริมาตร ความดัน และเวลา ราคาเครื่องละ 1.5 ล้านบาท ที่ระบุพร้อมระบบวัดความจุของปอด (vital capacity) ทำให้นักวิชาการเห็นว่ามีบริษัทเพียงแห่งเดียวที่จะสามารถเข้าประมูลได้

 2.เครื่องดมยาสลบพร้อมเครื่องช่วยหายใจ ชนิด 3 gas vaporizer พร้อมอุปกรณ์เครื่องติดตามการทำงานของหัวใจ และเครื่องวิเคราะห์ก๊าซระหว่างดมยาสลบ ครบชุด ราคาตัวละ 3 ล้านบาท โดยระบุว่าพร้อมระบบ Electronic Charting เป็นระบบที่ใช้สำหรับการดมยาเพื่อการผ่าตัดใหญ่ ซึ่งโรงพยาบาลชุมชนอาจจะไม่มีวิสัญญีแพทย์ในการใช้เครื่องนี้ และ 3.เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและสัญญาณชีพแบบรวมศูนย์ (Cental monitor with 8 Besides) ที่ระบุพร้อมเชื่อมต่อระบบไอซียูเดิมที่มีอยู่ ที่จะทำให้ต้องซื้อจากบริษัทเดิมที่เคยซื้อ และอีกรายการเพิ่มให้มีชนิดชุดวัดถอดแยกและมีจอแสดงรูปคลื่นขณะเคลื่อนย้ายผู้ป่วย

 ไม่เพียงการล็อกสเปกในบัญชีรายการครุภัณฑ์เท่านั้น ช่วงที่ผ่านมามีใบปลิวกล่าวหา นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู หรือแม่เลี้ยงติ๊ก อดีตเลขานุการรมว.สธ. นายมานิต นพอมรบดี รมช.สธ. นพ.กฤษดา มนูญวงศ์ อดีตที่ปรึกษารมว.สธ. และผู้ตรวจราชการบางคน ติดต่อไปยังโรงพยาบาลและสำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศ ให้จัดซื้อครุภัณฑ์จากบริษัทที่อ้างว่าใกล้ชิดรัฐมนตรี

 รูปแบบที่ 3 ล็อกจำนวนรายการครุภัณฑ์ โดยนายไพศาล บางชวด นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข บอกว่า การที่สนย.กำหนดรายการครุภัณฑ์ 46 รายการ ให้สอ.ที่จะยกระดับเป็นรพ.สต.เลือกจัดซื้อภายใต้งบฯ แห่งละ 8.55 แสนบาท ทำให้ไม่ได้ครุภัณฑ์ตรงตามความต้องการที่แท้จริง เช่น ให้ซื้อรถกระบะ แต่สอ.บางแห่งอาจจะต้องการเรือหางยาว เป็นต้น

 และรูปแบบสุดท้าย การตั้งราคากลางสูงเกินจริง ตามที่ นพ.เกรียงศักดิ์ เปิดเผย ได้แก่ เครื่องยูวีแฟน ตั้งราคาไว้ 4 หมื่นบาท ขณะที่บางแห่งซื้อได้เพียงราคา 5,000-6,000 บาท รถพยาบาล ราคา 1.8 ล้านบาท พื้นที่ซื้อได้ในราคา 1.7 ล้านบาท และค่าก่อสร้างที่มีการตั้งราคาเพิ่มสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 30% เช่น หอพักพยาบาลและเสาธง โดย สนย.และ สบภ.ทำหน้าที่ในการกำหนดราคาภายใต้ราคาตามที่สำนักงบฯ กำหนดและสอบถามจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.)

 แน่นอน กระบวนการต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่คณะกรรมการชุดหมอเสรี ที่ได้รับอำนาจตรวจสอบรายการครุภัณฑ์ที่มีการร้องเรียนอย่างเต็มที่จากนายวิทยา ต้องดำเนินการเร่งรีบหาตัว “ไอ้โม่ง” ที่กระทำการหรือร่วมกันกระทำการโดยเร็วที่สุด เพื่อนำมาสอบถามเหตุผลว่าเป็นไปอย่างสมเหตุสมผลหรือสมประโยชน์ของใคร
     0 พวงชมพู ประเสริฐ 0

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ