Lifestyle

ธุรกิจบัณฑิตย์โพลเผยคนกรุงฯเชื่อคำสอนสุภาษิตน้อยลง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ธุรกิจบัณฑิตย์โพล เผยคนกรุงฯ เชื่อหลักคำสอนตามสุภาษิตน้อยลง โดยเฉพาะเรื่อง “เดินตามหลังผู้ใหญ่ หมาไม่กัด -มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท” สะท้อนเด็กรุ่นใหม่ไม่สนคำเตือนผู้ใหญ่ ไม่สนการเก็บออมทีละเล็กน้อย ขณะที่เชื่อคนประสบความสำเร็จได้ต้องพึ่งบุญ วาสนามากว่าความ

 ดร.อภิชัย    อภิชาตบุตร นักวิจัยอาวุโส มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เปิดเผยว่า ธุรกิจบัณฑิตย์โพล ศูนย์วิจัย มธบ.ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของชาวกรุงเทพฯ ที่มีต่อความเชื่อในสุภาษิตที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยทุกๆ 3 เดือน สำหรับการสำรวจครั้งที่ 7 นี้ ได้ทำการสำรวจเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2552 โดยสอบถามชาวกรุงเทพฯ จำนวน 1,118 คน กระจายไปตาม เพศ อายุ อาชีพ และระดับการศึกษา พบว่า ปัจจุบันความเชื่อในสุภาษิตไทยโดยรวมของชาวกรุงเทพฯ ลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 1.66

  สำหรับความเชื่อต่อสุภาษิต ของชาวกรุงเทพฯ ที่ทางมหาวิทยาลัยได้สำรวจนั้น มีทั้งหมด 15 เรื่อง ได้แก่ 1.มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท 2.ตนเป็นที่พึ่งแห่งต้น 3.ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน4.เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด 5.ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก 6.รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา 7.อดเปรี้ยวไว้กินหวาน 8.อย่าหวังน้ำบ่อหน้า 9.คับที่อยู่ได้คับใจอยู่ยาก10.ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม

 11.อย่าจับปลาสองมือ12.รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม13.กันไว้ดีกว่าแก้14.แข่งเรือแข่งพายแข่งได้ แข่งบุญแข่งวาสนาแข่งไม่ได้ และ15.คนรักเท่าผืนหนัง คนซังเท่าผืนเสื่อ ซึ่งจากผลสำรวจ พบว่า เรื่องที่ชาวกรุงเทพมีความเชื่อน้อยลงมากที่สุด ได้แก่ เรื่อง “เดินตามหลังผู้ใหญ่ หมาไม่กัด” ลดลงถึงร้อยละ 4.90 สะท้อนให้เห็นว่าคนกรุงเทพฯ ไม่เชื่อว่าการทำตามคำสั่งสอนของผู้ใหญ่จะทำให้ประสบความสำเร็จ อีกทั้งคนหนุ่มสาวในปัจจุบันมีความคิดเป็นของตัวเอง กล้าคิด กล้าตัดสินใจได้เร็วกว่าผู้ใหญ่หรือคนแก่ ทั้งนี้ ยังมี สุภาษิตเรื่อง “มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท” ลดลงร้อยละ 4.01 เรื่องนี้จากการสอบถาม ส่วนหนึ่งไม่เชื่อและไม่ปฎิบัติตาม เพราะวิกฤตเศรษฐกิจ การแข่งขันกันทำมาหากิน และค่านิยมฟุ้มเฟ้อ ทำให้คนกรุงเทพไม่คิดจะอดออมทีละเล็กน้อย

 นักวิจัยอาวุโส มธบ. กล่าวอีกว่า ส่วนสุภาษิตที่ชาวกรุงเทพ เชื่อตามมีเพียงเรื่อง“แข่งเรือแข่งได้ แข่งบุญแข่งวาสนาแข่งไม่ได้” พบว่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 6.83 ทำให้เห็นได้ว่า ชาวกรุงเทพ มีความเชื่อมั่นในตัวเอง ความพยายามลดน้อยลง และมักคอยบุญวาสนา คิดว่าคนที่ประสบความสำเร็จเกิดจากบุญวาสนา มากกว่าความพยายาม มุมานะ ซึ่งสุภาษิตเหล่านี้ ล้วนเป็นข้อเตือนใจให้แก่ประชาชนได้มาก แต่ด้วยปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ทำให้ความเชื่อในเรื่องที่ดีลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานติดต่อมาทั้งหมด 7 ครั้ง ซึ่งตั้งแต่ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา จนถึงครั้งนี้ ภาพรวมสุภาษิตในหลายๆเรื่อง ทำให้เห็นว่าสังคมไทยยังมีความเชื่อในเรื่องของหลักการปฏิบัติชีวิตที่ดีอยู่บ้าง แม้มีความเชื่อลดน้อยลงอยู่บ้าง

     

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ