Lifestyle

พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ...เริ่มพินัยกรรมชีวิต...เขียน "ขอตาย"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อถึง "วาระสุดท้าย" ของชีวิต ควรให้หมอยืดความตายต่อไปดีหรือไม่ ? หากเป็น 20-30 ปีที่แล้ว คำถามนี้คงไม่สร้างความตึงเครียดให้ผู้ป่วยหรือญาติมากนัก เพราะเครื่องมือแพทย์ประเภทช่วยยืดชีวิตผู้ป่วยขั้นโคม่าได้ไม่กี่วัน แต่ปัจจุบันห้องไอซียูของโรงพยาบาลใหญ่เก

จากการต่อสู้มายาวนานกว่า 10 ปี ของกลุ่มแพทย์สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในที่สุดผู้ป่วยโรคร้ายแรงหรือบาดเจ็บสาหัสจนไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หรือที่เรียกว่าผู้ป่วยระยะสุดท้าย ก็มีทางเลือกใหม่ตามมาตรา 12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่อนุญาตให้ทำ "พินัยกรรมชีวิต" หรือ "หนังสือแสดงสิทธิปฏิเสธการรักษา" (Living Wills) หมายถึงการไม่ขอรับการรักษาที่ทำไปเพื่อยืดการตาย หรือยื้อชีวิตที่ไม่อาจฟื้นกลับมาเหมือนเดิมได้ เป็นการขอให้แพทย์รักษาผู้ป่วยอย่างดีที่สุด แต่เมื่อถึงเวลาก็ต้องปล่อยให้เสียชีวิตไปตามธรรมชาติ เช่น ขอให้หมอไม่ต้องเจาะคอใช้เครื่องช่วยหายใจ ไม่ต้องใส่สายยางให้อาหาร ไม่ต้องใช้เครื่องไฟฟ้ากระตุ้นหัวใจ ฯลฯ

 นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการ สช. ยืนยันถึงจุดประสงค์หลักที่ผู้ป่วยจะไม่ต้องทนทรมานในห้องไอซียูอีกต่อไป และแพทย์ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องการรักษาที่ไม่หายขาด ยิ่งไปกว่านั้น ยังลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และการใช้ทรัพยากรที่เกินความจำเป็น ไม่เป็นภาระแก่ลูกหลานหรือคนในครอบครัว รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยที่ไม่ใช่วาระสุดท้ายได้ใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่อย่างจำกัด เรื่องนี้ในต่างประเทศมีมานานแล้ว แม้แต่ประธานาธิบดีบารัก โอบามาแห่งสหรัฐและภรรยา ก็ทำพินัยกรรม เพื่อใช้สิทธิปฏิเสธการรักษาไว้แล้วเช่นกัน

 ทั้งนี้ ข้อความในมาตรา 12 ระบุอย่างชัดเจนว่า "บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข ที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้...เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง"

 ขณะนี้ มาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มีผลบังคับใช้แล้ว เพียงแต่รอกฎหมายลูกหรือกฎกระทรวง เพื่อกำหนดรายละเอียดปลีกย่อยอีกครั้ง คาดว่าไม่เกินเดือนตุลาคม จะสามารถเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และก่อนสิ้นปี 2552 จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้

 นพ.อำพล ขยายความถึงการใช้สิทธิตามเจตนาข้างต้นว่า มี 2 วิธี คือ 1.ผู้ป่วยเขียนหรือพิมพ์หนังสือแสดงเจตนาด้วยตัวเอง 2.กรณีที่ผู้ป่วยเขียนหนังสือไม่ได้ ให้แสดงเจตนาเป็นคำพูดต่อหน้าแพทย์-พยาบาลที่ให้การรักษา รวมถึงญาติหรือผู้ใกล้ชิด แล้วให้ผู้อื่นช่วยเขียนหรือพิมพ์ข้อความให้ แล้วลงท้ายด้วยชื่อผู้เขียนและพยาน หากเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เช่น ผู้ป่วยเด็กที่เป็นมะเร็งหรือได้รับบาดเจ็บร้ายแรงจากอุบัติเหตุ ก็สามารถทำหนังสือแสดงเจตนาได้เช่นกัน แต่ต้องให้พ่อแม่ หรือผู้ปกครอง ให้ความยินยอมร่วมกับเด็กด้วย

 ผู้ป่วยที่ทำพินัยกรรมปฏิเสธการยื้อชีวิต แต่ญาติไม่ยอมหรือไม่เห็นด้วย แพทย์จะต้องปฏิบัติตามความต้องการของผู้ป่วยเป็นหลัก ซึ่งเนื้อความในมาตรา 12 จะระบุความคุ้มครองแพทย์ไว้ชัดเจนว่า ไม่มีความผิดทางอาญา เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย หรือจริยธรรมแต่อย่างใด ถือว่าทำไปด้วยเจตนาดี

 ไม่เฉพาะผู้ป่วยธรรมดาที่จะทำพินัยกรรมชีวิตนี้ได้ ทว่าที่โรงพยาบาลสงฆ์เปิดโอกาสให้พระอาพาธแสดงเจตนาแบบนี้มานานแล้ว พญ.วราภรณ์ ภูมิสวัสดิ์ ผอ.โรงพยาบาลสงฆ์ เล่าว่า พระสูงอายุที่ป่วยระยะสุดท้ายมักประสบปัญหาไม่มีญาติมิตรใกล้ชิด เนื่องจากออกบวชมานาน หรือถ้ามีก็ไม่อยากสึกออกไปให้ญาติดูแล ครั้นจะกลับไปวัดก็จะเป็นภาระพระรูปอื่นเกินไป ดังนั้น เมื่อพระรูปใดที่อาพาธหนักจนถึงวาระสุดท้าย ห้องไอซียูจะมีเอกสารเอ็นอาร์ (NR-No Resuscitation) ให้ญาติกับผู้ป่วยยืนยันตรงกันว่า ไม่ต้องการใช้เครื่องมือกู้ชีพ เมื่อก่อนทำเป็นวาจา แต่เดี๋ยวนี้ทำเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น ไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ ไม่ใช้เครื่องมือกระตุ้นหัวใจ ฯลฯ

 "พินัยกรรมชีวิตช่วยให้แพทย์ไม่ต้องลำบากใจและมีกฎหมายคุ้มครอง เพราะผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่บนเตียง และใช้ยาแก้ปวดชนิดรุนแรงทุกวัน บางคนปอดพังหมดแล้วต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจเท่านั้น แต่แพทย์ก็ไม่กล้าเอาออก ตอนนี้ที่เมืองนอกเริ่มระมัดระวังการใส่เครื่องช่วยหายใจให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายแล้ว เพราะถ้าใส่แล้วเวลาถอดออกจะทำได้ยากมาก ญาติจะไม่เข้าใจ และยังทำให้อุปกรณ์ไม่เพียงพอสำหรับคนไข้อื่นด้วย"

 พญ.วราภรณ์ ยังเล่าถึงโครงการใหม่ที่เริ่มขึ้นเมื่อปี 2550 เน้นการดูแลรักษาแบบ "ประคับประคอง" (Palliative Care) คือ การให้ผู้ป่วยกับญาติเป็นศูนย์กลาง เพราะส่วนใหญ่โรงพยาบาลจะเน้นรักษาคนไข้อย่างเดียว แต่ในหอผู้ป่วยประคับประคองที่มี 10 เตียง จะเป็นพระอาพาธใกล้มรณภาพ แล้วไม่สามารถออกจากโรงพยาบาลได้ ส่วนใหญ่จะอยู่ได้อีก 3-6 เดือน จึงจัดให้มีกิจกรรมสวดมนต์ เน้นทำตามความต้องการผู้ป่วยและญาติ เช่น บางรูปขอให้พากลับไปเยี่ยมวัดเป็นครั้งสุดท้าย ที่สำคัญคือ ญาติมาช่วยดูแลได้ทั้งวัน เน้นกิจกรรมให้ญาติไม่โศกเศร้าเมื่อผู้ป่วยต้องจากไป ซึ่งได้ผลดีมาก เพราะสภาพจิตใจของทุกฝ่ายดีขึ้น โรงพยาบาลไหนสนใจสามารถติดต่อเข้ามาดูงานได้

 นอกจากเมืองไทยแล้ว ประเทศอื่นๆ ก็อนุญาตให้ทำพินัยกรรมชีวิตได้เช่นกัน ล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา ศาลออสเตรเลียยอมรับให้คนไข้มีสิทธิปฏิเสธการรักษาได้ เนื่องจาก "คริสเตียน รอสซิเตอร์" อดีตนายหน้าค้าหุ้นวัย 49 ปี ผู้ชื่นชอบการผจญภัยกลางแจ้ง เกิดอุบัติเหตุจนแขนขาเป็นอัมพาต เขาและทนายความพยายามต่อสู้ เพื่อให้หยุดการให้อาหารและน้ำทางสายยาง เพราะเชื่อว่ามนุษย์มีสิทธิควบคุมแนวทางการรักษาของตัวเอง ในที่สุดผู้พิพากษาของออสเตรเลียก็ระบุในคำพิพากษา ให้สถานพยาบาลไม่มีความผิดทางอาญา หากจะหยุดให้อาหารและน้ำแก่คริสเตียน
 
 ทั้งคนปกติและคนป่วยต่างก็ทำพินัยกรรมชีวิตได้ เพียงแต่มีหลักฐานยืนยันว่า ขณะทำมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ส่วนจะปฏิเสธการยื้อชีวิตแบบใดบ้าง ก็กำหนดข้อความรายละเอียดลงไปในหนังสือพินัยกรรม เช่น อยากกลับไปเสียชีวิตที่บ้าน หรือต้องการให้พระสงฆ์มาสวดมนต์ นอกจากการทำเป็นหนังสือแล้ว ยังสามารถใช้มัลติมีเดียอย่างอื่นเป็นหลักฐานได้ เช่น วีซีดี หรือวิดีโอคลิป เพื่อยืนยันความต้องการของผู้ป่วยระยะสุดท้าย
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ