Lifestyle

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาจารึกบนเหรียญแรกของชาติสยาม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญประวัติศาสตร์ที่จารึกบนเหรียญแรกของชาติสยาม : เรื่องไตรเทพ ไกรงู ภาพ มาโนช ธรรมไชย

             วันพืชมงคลจะมีพิธี “แรกนาขวัญ” เป็นพิธีทางพุทธศาสนา ในปีนี้เป็นวัน ขึ้นสี่ค่ำเดือนหก ตรงกับวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙ พระราชพิธีนี้เริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ ส่วนพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีพราหมณ์มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย นอกจากนี้ วันพืชมงคลยังเป็น “วันเกษตรกรไทย” เพื่อระลึกถึงความสำคัญของเกษตรกรรมของไทย พิธีนี้เป็นพิธีเริ่มต้นของการไถเพื่อหว่านเมล็ดข้าว เป็นจุดเริ่มของฤดูกาลทำนา และเพาะปลูก

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาจารึกบนเหรียญแรกของชาติสยาม

             ในอดีตพระราชพิธีทั้งสองนี้ได้หยุดไปหลังจาก พ.ศ.๒๔๗๙ จนมาถึง พ.ศ.๒๔๙๐ ได้มีการฟื้นฟูพระราชพิธีมงคลนี้ขึ้นมาอีกครั้ง แต่จะมีเฉพาะพระราชพิธีพืชมงคลเท่านั้น จนต่อมา พ.ศ.๒๕๐๓ จึงได้จัดให้มีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ(พิธีไถและหว่านข้าว) ร่วมกับพระราชพิธีพืชมงคล มาจนถึงปัจจุบันนี้

             นายศราวุฒิ วรพัทธ์ทวีโชติ หรือ “คุณเจมส์” เจ้าของกิจการ ร้าน Siam Coin & Antiques “ร้านกษาปณ์เมืองสยาม” หรือ “ร้าน Siamcoin” และเลขานุการสมาคมเหรียญที่ระลึกไทย ได้ให้ข้อมูลว่า เมื่อกรุงสยามทำสนธิสัญญาบาวริ่งกับจักรวรรดิบริตตาเนียอังกฤษในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ การค้าขายกับต่างชาติมีปริมาณสูงขึ้นอย่างมากมายมหาศาล

             ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานแนชันนาลเอกษฮิบิชัน (National Exhibition) ขึ้นที่ท้องสนามหลวง ในคราวฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ ๑๐๐ ปี พ.ศ. ๒๔๒๕ เพื่อรวบรวมบรรดาผลผลิตในกรุงสยามทั้งมวลมาจัดแสดงเพื่อส่งเสริมให้ชาวต่างชาติได้รู้จักสินค้าไทยมากยิ่งขึ้น

             งานดังกล่าว เริ่มจัดตั้งแต่วันที่ ๒๖ เมษายน ถึงวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๒๕ เป็นเวลา ๕๒ วัน ณ บริเวณท้องสนามหลวง ในการนี้ได้มีการจัดสร้างเหรียญที่ระลึกสำหรับพระราชทานให้แก่ผู้ช่วยในการแนชัลแนลเอกษฮีบิชั่น เหรียญมีลักษณะทรงกลมขนาด ๕๙ มิลลิเมตร ด้านหน้า พระบรมรูปครึ่งองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า และสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา ริมขอบมีข้อความ “จุฬาลงกรณ์ บรมราชาธิราช สว่างวัฒนา บรมราชเทวี”

             ด้านหลัง ตราจักรีล้อมรอบด้วยรัศมี ตรงกลางเป็นรูปเทวดา ๒ องค์ ยืนบนแท่นถือผ้าเหนือช้างไอราพต ริมขอบมีข้อความว่า “การแนชัลนาลเอกษฮีบิชัน ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ ๑๒๔๔” ด้านล่างมีข้อความว่า “สำหรับพระราชทานผู้ช่วยในการ”

             เหรียญที่ระลึกรุ่นนี้มี ๓ ชนิดคือ ๑.ทองคำ พบน้อยมากปัจจุบันมีบันทึกพบเพียงแค่ ๑ เหรียญเท่านั้น ๒.เงิน พบจำนวนค่อนข้างน้อยไม่กี่สิบเหรียญ ๓.ทองแดง มีพบพอสมควรเชื่อว่ามีเหลือมีไม่ถึง ๑๐๐ เหรียญ ในวงการ ขอขอบคุณภาพและข้อมูลการแสดงงานกสิกรรมจากคุณนิรันดร วิศิษฎ์สิน ประธานที่ปรึกษาสมาคมเหรียญที่ระลึกไทยพิธีแรกนาขวัญบนเหรียญแรกของชาติสยาม

             นอกจากนี้แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดงานประกวดพันธุ์ข้าวขึ้นหลายครั้ง โดยครั้งที่ ๑ จัดขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๕๐ ที่เมืองธัญบุรี เพื่อคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีแจกจ่ายให้ชาวนาได้ใช้แทนพันธุ์ข้าวธรรมดา การประกวดครั้งนี้ได้ผลเป็นที่น่าพอใจมาก ลุปีรัตนโกสินทร์ศก ๑๒๙ พ.ศ. ๒๔๕๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงเกษตราธิการจัดงานการแสดงกสิกรรมแลพานิชการ ครั้งใหญ่ขึ้นที่สระปทุม (ปัจจุบันสถานที่จัดงานเป็นที่ตั้งของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์) ระหว่างวันที่ ๑๖-๒๔ เมษายน รวม ๙ วัน

             ผลของงานครั้งนี้ได้ขยายขอบเขตการจัดให้กว้างขวางยิ่งขึ้นกว่าครั้งก่อน โดยให้ทุกมณฑล ส่งผลผลิตทางการเกษตรเข้าร่วมประกวด จำแนกประเภทผลิตภัณฑ์เป็น ๖ แผนก คือ พันธุ์ข้าว พืชผลต่างๆ สัตว์พาหนะและปศุสัตว์ เครื่องจักรทำนา เครื่องมือหัตถกรรม และเครื่องทอผ้าต่างๆ พระองค์เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงาน เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ร.ศ. ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๓) ในการประกวดครั้งนี้พระราชทานเหรียญและเงินรางวัลดังนี้

             รางวัลที่ ๑ ได้รับพระราชทานเหรียญทอง เงินรางวัล ๒๐ บาท พร้อมด้วยประกาศนียบัตร

             รางวัลที่ ๒ ได้รับพระราชทานเหรียญเงิน เงินรางวัล ๑๒ บาท พร้อมด้วยประกาศนียบัตร

             รางวัลที่ ๓ ได้รับพระราชทานเหรียญทองแดง เงินรางวัล ๘ บาท พร้อมด้วยประกาศนียบัตร

             เหรียญรางวัลการแสดงกสิกรรม

             สำหรับผู้ชนะการประกวดประเภทสัตว์พาหนะ คุณเจมส์ บอกว่า จะได้รับพระราชทานใบโพธิ์ทอง และเงินตามลำดับ ลักษณะเหรียญรางวัล เหรียญกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓.๑ เซนติเมตร ด้านหน้า รูปพระพลเทพถือคันไถจูงพระโคคู่ ด้านหลัง ข้อความว่า “รางวัลการแสดงกสิกรรมแลพานิชการ รัตนโกสินทร์ ศก ๑๒๙" เหรียญรางวัลที่พระราชทานในคราวนั้นมีดังนี้คือ

             ๑.เหรียญทองคำจำนวน ๒๘ เหรียญ ๒.เหรียญเงิน จำนวน ๔๕ เหรียญ ๓.เหรียญบรอนซ์ จำนวน ๘๘ เหรียญ เหรียญรางวัลนี้ ในปัจจุบันพบเจอเพียงแค่เนื้อเงิน และเนื้อบรอนซ์เท่านั้น นอกจากปี ร.ศ.๑๒๙ นี้แล้ว ยังพบเหรียญรางวัลในปี ร.ศ.๑๓๐ อีกด้วย

             เมื่อเสร็จงานแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพันธุ์ข้าวที่ชนะการประกวดแก่ราษฎรเพื่อขยายพันธุ์ต่อไป คุณภาพของข้าวไทยในกาลต่อมาจึงมีคุณภาพดีขึ้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อชาวสยามที่ทำให้พสกนิกรของพระองค์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

             สำหรับปัจจุบันนอกจากจะมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้ดูแลเกษตรกรเป็นหลักแล้ว ยังมีสภาเกษตรกรแห่งชาติที่เป็นองค์กรที่มีผู้แทนเกษตรกรมาจากทุกระดับ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน, ตัวแทนระดับตำบล และระดับอำเภอ ซึ่งจะเป็นสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด โดยมีประธานสภาเกษตรกรจังหวัดเป็นสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ ผู้แทนเกษตรกรระดับจังหวัดนี้จะมีมาจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ

             ส่วนของภายในจังหวัดนั้นจะมีสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดทำหน้าที่เป็นเลขานุการและรับผิดชอบด้านงานธุรการของสภาเกษตรกรจังหวัดซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ สำหรับจังหวัดนครปฐมจะมี นายวรินทร์พงศ์ ศรีสันต์ เป็นประธานสภาเกษตรกรจังหวัด พี่น้องชาวเกษตรกรสามารถติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ ๐๓๔-๒๔๑-๖๑๑ ได้ทุกวันตามวันและเวลาราชการ หรือทาง LINE ID :@npt1


ธนบัตรรุ่น “ไถนา”

             ธนบัตรรุ่น “ไถนา” เป็นธนบัตรแบบแรกที่เริ่มพิมพ์ทั้งสองด้าน ด้านหน้าเป็นภาพลายเฟื่องประกอบรัศมี ๑๒ แฉก ด้านหลังเป็นภาพพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงมักเรียกกันว่า "ธนบัตรแบบไถนา” ธนบัตรแบบ ๒ มี ๒ รุ่น ๖ ชนิดราคา ได้แก่ ๑ บาท ในปัจจุบันราคา ๘๐๐-๕,๐๐๐ บาท, ชนิดราคา ๕ บาท ปัจจุบันราคา ๗,๐๐๐-๖๕,๐๐๐บาท, ชนิดราคา ๑๐ บาท ปัจจุบันราคา ๕,๐๐๐-๘๐,๐๐๐ บาท

             ชนิดราคา ๒๐ บาท ปัจจุบันราคา ๖,๐๐๐-๘๐,๐๐๐ บาท, ชนิดราคา ๑๐๐ บาท ปัจจุบันราคา ๕,๐๐๐-๖๐,๐๐๐ บาท และชนิดราคา ๑๐๐๐ บาท ปัจจุบันราคา ๔๐,๐๐๐-๕๐๐,๐๐๐ บาท ธนบัตรรุ่นนี้ พิมพ์ที่บริษัท โทมัส เดอ ลา รู จำกัด ประเทศอังกฤษ เริ่มทยอยออกใช้ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๖๘ ในรัชกาลที่ ๖ จนถึงรัชกาลที่ ๗

             ขอขอบคุณภาพธนบัตรจากธนาคารแห่งประเทศไทย สำหรับผู้ที่สนใจในเรื่องของเหรียญสามารถติดตามได้จาก เพจ siamcoin.com ทาง LINE ID: @siamcoin หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ ๐๘-๔๔๕๙-๐๙๖๕ ชมวิดีโอให้ความรู้ได้ทางช่อง Siamcoin ใน Youtube.com

             ท่านสามารถติดตามสาระเรื่องเหรียญกษาปณ์ เหรียญที่ระลึกและบทความได้จาก เพจ siamcoin.com สอบถามข้อมูลได้ทาง LINE ID :@siamcoin (อย่าลืมใส่@ข้างหน้าด้วยนะครับ) หรือโทรศัพท์หมายเลข ๐๘-๔๔๕๙-๐๙๖๕


 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ