Lifestyle

ชู“ป.อ. ปยุตฺโต- ชวน”ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วธ.ยกย่อง “ป.อ. ปยุตฺโต- ชวน” ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ส่วน “กิตติ สิงหาปัด-เปลว สีเงิน คว้าผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น “เบิร์ด-บี้” รับรางวัลชมเชย ขับร้องเพลงไทยสากลชาย “ปาน” คว้าชนะเลิศขับร้องเพลงไทยสากลฝ่ายหญิง รับรางวัลจาก “นายกฯ” วันภาษาไทยแห่งชาติ 29 ก.ค.นี้

เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2552 นายธีระ    สลักเพชร    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวแถลงข่าววันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี 2552 ว่า วธ. ได้ทำการคัดเลือกบุคคลที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น และผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น ประจำปี 2552 แล้ว ดังนี้ รางวัลปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ได้แก่ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ศ.เกียรติคุณเจตนา นาควัชระ  นายชวน หลีกภัย น.อ.ทองย้อย แสงสินชัย นายสมบัติ พลายน้อย (ส.พลายน้อย) ศ.กิตติคุณสุมน อมรวิวัฒน์ ศ. (พิเศษ) เสถียรพงษ์  วรรณปก และรางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น นายกิตติ สิงหาปัด นายกุลชาติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา นายชูชาติ ชุ่มสนิท นายธงชัย ประสงค์สันติ ร.ศ.ประพนธ์ เรืองณรงค์ ร.อ.นายแพทย์ยงยุทธ มัยลาภ ศ.รื่นฤทัย สัจจพันธ์ นายโรจน์ งามแม้น (เปลว สีเงิน) และผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น (ชาวต่างประเทศ) นายยูจิโร อิวากิ ส่วนรางวัลผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น นายเจริญ มาลาโรจน์ (มาลา คำจันทร์) นางบัวซอน ถนอมบุญ นายณรงค์ พงษ์ภาพ (นภดล ดวงพร) นางราตรี ศรีวิไล นายสาทร ดิษฐสุวรรณ นายเอกชัย ศรีวิชัย

 นายธีระ  กล่าวอีกว่า สำหรับรางวัลการประกวดเพลงในโครงการเพชรในเพลง กรมศิลปากร ปี 2552 ผู้ที่ได้รับรางวัล มีดังนี้ รางวัลเชิดชูเกียรติผู้ประพันธ์เพลงดีเด่นในอดีต ประเภทเพลงไทยสากล ได้แก่ เพลงค่าน้ำนม ผู้ประพันธ์ นายไพบูลย์ บุตรขัน ประเภทเพลงไทยลูกทุ่ง ได้แก่ เพลงยอยศพระล ผู้ประพันธ์ นายพยงค์ มุกดา ประเภทเพลงสร้างสรรค์สำหรับเด็ก ได้แก่ เพลงเจ้าผีเสื้อเอย ผู้ประพันธ์ นายกิตติพงษ์ ขันธกาญจน์ และนายวีระศักดิ์ ขุขันธิน ขณะที่การขับร้องเพลงไทยสากล ชาย ไม่มีผู้สมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ แต่มีผู้ได้รับรางวัลชมเชยได้แก่ นายธงไชย แมคอินไตย์ ขับร้องเพลง ไปเที่ยวกัน และ นายสุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว (บี้ เดอะสตาร์) ขับร้องเพลง เจ็ดวันที่ฉันเหงา ส่วนผู้ขับร้องเพลงไทยสากล หญิง รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางสาวธนพร แวกประยูร (ปาน ธนพร) ขับร้องเพลง รักของเราอย่าให้เขาทำลาย ทั้งนี้ ผู้ได้การยกย่องทั้งหมดจะเข้ารับรางวัลจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในงานวันภาษาไทยแห่งชาติ 29 ก.ค. ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

 รมว.วัฒธรรม  กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ วธ.ยังได้สำรวจความคิดเห็นเด็ก และเยาวชน อายุระหว่าง 15-18 ปี จำนวน 6,625 คน เกี่ยวกับวันภาษาไทยแห่งชาติ พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 73.70 ทราบว่าวันภาษาไทยแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี แต่ร้อยละ 26.30 ไม่ทราบ ขณะที่เด็กและเยาวชน ร้อยละ 87.45 เห็นว่า นอกจากการเรียนการสอนภาษาไทยในชั้นเรียนแล้ว ควรจะมีการอ่านหนังสือเพิ่มเติมอีก โดยอันดับ 1 อ่านเพิ่มวันละ 3-4 หน้า รองลงมา 1-2 หน้า และอันดับ3 อ่านเพิ่ม 10 หน้าขึ้นไป ส่วนการรู้จักความหมายหรือที่มาของคำดั้งเดิม/คำโบราณ โดยร้อยละ 78.40 บอกว่า รู้จักคำว่า เรือน ร้อยละ 72.10 รู้จักคำว่า บางกอก ร้อยละ 70.70 รู้จักคำว่า สยาม

 "สื่อที่เด็ก เยาวชน และประชาชนสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับภาษาไทยได้มากที่สุด คือ โทรทัศน์ ร้อยละ 68.40 รองลงมาอินเทอร์เน็ต ร้อยละ18.10 และร้อยละ 7.70 รับรู้จาก วิทยุ ส่วนกลุ่มบุคคลที่มีส่วนทำให้เกิดความผิดพลาดในการใช้ภาษาไทยมากที่สุด ร้อยละ 48.30 คือ วัยรุ่นทั่วไป รองลงมาร้อยละ 24.50 คือ ดารา/นักแสดง และร้อยละ 12.30คือ ครู/อาจารย์ ขณะที่ รายการโทรทัศน์ที่เกิดความผิดพลาดในการใช้ภาษาไทยมากที่สุด คือ ละคร ร้อยละ 35.60 รองลงมาร้อยละ 29.50 คือ รายการ เกมโชว์ และร้อยละ 22.50 คือ รายการวาไรตี้ สำหรับ กิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมให้คนไทยเห็นความสำคัญของการใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง กลุ่มตัวอย่าง เห็นว่า ร้อยละ 49.40 ควรประกวดการอ่านภาษาไทย รองลงมาร้อยละ 18.00 การสอนภาษาไทยให้มากขึ้น และร้อยละ17.00 ประกวดคัดลายมือ นอกจากนี้ประชาชนร้อยละ 80.90 เห็นว่า หน่วยงานที่มีความสำคัญต่อการส่งเสริมการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง คือ กระทรวงศึกษาธิการ รองลงมาร้อยละ 67.70 กระทรวงวัฒนธรรม และร้อยละ40.40 สำนักงานคณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติ”นายธีระ กล่าว

   รมว.วัฒนธรรม  กล่าวด้วยว่า กลุ่มตัวอย่างยังได้ให้ข้อเสนอแนะว่า นโยบายด้านการศึกษารัฐบาลควรให้ความสำคัญกับวิชาภาษาไทยให้มากกว่าที่เป็นอยู่ โดยสถานศึกษาต้องเป็นต้นแบบที่ดีและทำจริงในจัดการเรียนการสอนภาษาไทยให้มากขึ้น เน้นทักษะการวิเคราะห์ เพราะเป็นพื้นฐานในเรื่องอื่นๆ รวมทั้งควรตั้งคณะกรรมการสอดส่องดูแลการใช้ภาษาไทยไม่ให้ผิดเพี้ยน ควรให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับรายการโทรทัศน์ตรวจสอบการใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้องและควรตรวจสื่อสิ่งพิมพ์ ขอความร่วมมือให้เขียน ใช้ พูดภาษาไทยให้ชัดเจน เหมาะสม โดยเฉพาะ การพูด ร, ล ไม่ชัด

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ