ไลฟ์สไตล์

‘อาบัติ’ฉายได้แล้ว!ตัดเนื้อเปลี่ยนชื่อเป็น‘อาปัติ’

16 ต.ค. 2558

‘อาบัติ’ฉายได้แล้ว!ตัดเนื้อเปลี่ยนชื่อเป็น‘อาปัติ’ ติดเรต 18+ เริ่มลงโรงทันทีตั้งแต่ 20.00 น.

               หลังจากบริษัทสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่อง “อาบัติ” ได้นำเรื่องกลับไปแก้ไขและนำมาส่งให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ของสำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ตรวจพิจารณาใหม่อีกครั้ง โดยผู้สร้างได้เปลี่ยนชื่อภาพยนตร์จาก “อาบัติ” เป็น “อาปัติ” ซึ่งเป็นคำที่เขียนตามภาษาบาลี แต่มีความหมายเหมือนเดิม ซึ่งทางสำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ได้นัดประชุมคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เพื่อตรวจพิจารณาหนัง “อาปัติ” ฉบับแก้ไขของสหมงคลฟิล์มในวันที่ 16 ตุลาคม เวลา 13.30 น. ที่สำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ โดยคณะกรรมการที่ตรวจพิจารณาครั้งนี้เป็นคนละชุดกับการตรวจพิจารณาครั้งแรก แต่ทางสำนักได้เชิญคณะกรรมการทุกชุดเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย

               ล่าสุด เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 16 ตุลาคม ทางสหมงคลฟิล์มได้ส่ง  นายปรัชญา ปิ่นแก้ว โปรดิวเซอร์ และ น.ส.ขนิษฐา ขวัญอยู่ หรือฝน ผู้กำกับภาพยนตร์ เข้ารับฟังคำพิจารณาที่อาคารสำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)  คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ชุดที่ 1ได้ประชุมเพื่อตรวจพิจารณาภาพยนตร์เรื่องอาปัติ ซึ่งใช้ระยะเวลานานกว่า 2.30 ชั่วโมง
 
               ทั้งนี้ บริษัทสหมงคลฟิล์มได้ส่งจดหมายแจงสื่อมวลชนมีใจความว่า ในที่สุดก็ผ่านกระบวนการพิจารณาการจัดเรตภาพยนตร์ โดยคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์มีความเห็นชอบให้ภาพยนตร์ที่กำลังเป็นกระแสร้อนอยู่ในขณะนี้ อย่างเรื่อง “อาปัติ” ของสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล ผ่านการพิจารณาใหม่อีกครั้ง โดยได้เรต น18+ (เหมาะสำหรับผู้ชมอายุ 18 ปีขึ้นไป/ต่ำกว่า 18 ปี ดูได้แต่ควรมีผู้ปกครองแนะนำ)

              นายปรัชญา  กล่าวว่า หลังจากที่คณะกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ได้มีมติไม่ให้จัดฉายภาพยนตร์ เรื่องอาบัติ จึงได้มีการตัดต่อภาพยนตร์ใหม่ แต่ยังคงเนื้อหาเดิมไว้ และนำมาเสนอใหม่ภายใต้ชื่ออาปัติ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องข้อกฎหมายที่ไม่สามารถเสนอชื่อเดิมที่ถูกสั่งห้าม ฉายแล้ว จากนั้นได้นำมาเสนอให้คณะกรรมการตรวจพิจารณาใหม่ และเมื่อทราบว่า คณะกรรมการตรวจพิจารณาให้ผ่านแล้ว

              “ผมก็รู้สึกดีใจที่ภาพยนตร์ที่ ตั้งใจสร้างครั้งนี้ สามารถจัดฉายได้แล้ว ส่วนกรณีที่ยังใช้โปสเตอร์ชื่ออาบัติอยู่นั้น  ผมจะรีบปรับเปลี่ยนเป็นชื่อและภาพเป็นอาปัติโดยเร็วเพื่อไม่ให้ถูกดำเนินคดี ตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม จากเดิมที่ไม่ได้ตั้งเป้ายอดรายได้จากการฉายเอาไว้แต่เนื่องจากขณะนี้กระแส ของผู้ชมแรงก็คาดว่าจะสามารถทำได้รายได้มากกว่า 30 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับต้นทุนการผลิต”นายปรัชญา กล่าวในที่สุด
 
             อย่างไรก็ตามนายสมบัติ ภู่กาญจน์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดิทัศน์ชุดที่ 1 เปิดเผยภายหลังการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ว่าผู้สร้างได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่สำนักพิจารณาตรวจพิจารณาภาพยนตร์ว่าเป็นการตัดต่อเนื้อหาใหม่ทั้งหมดและเปลี่ยนชื่อ ส่งให้ตรวจพิจารณาเรื่องใหม่เป็นชื่อเรื่องอาปัติโดยที่ประชุมได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิด้านศาสนา และคณะกรรมตรวจพิจารณาภาพยนตร์ชุดเดิมมาร่วมพิจารณาตามภาพและเสียงที่เสนอมาใหม่ ทั้งนี้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ฯ จำนวน 5 คน ได้มีติเป็นเอกฉันท์อนุญาตให้ภาพยนตร์เรื่องอาปัติในเรต ผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งไม่พบว่ามีฉากที่ล่อแหลม และไม่มีภาพที่น่าวิตกกังวล ขณะเดียวกันพระสงฆ์ที่ได้ร่วมพิจารณาภาพยนตร์เรื่องอาบัติครั้งที่แล้ว ได้เข้าร่วมชมและยืนยันว่า มีหลายฉากที่ไม่เหมาะสม ล่อแหลม และน่ากลัวได้ถูกตัดออกไปแล้ว


             “และเนื้อหาที่ส่งมาใหม่เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระ และผี โดยเป็นคนที่เข้าไปอยู่ในพระพุทธศาสนาบวชเป็นสามเณรด้วยความไม่เต็มใจ เกิดล่วงละเมิดพระธรรมวินัย และต้องต้องรับผลกรรมที่ทำไว้ ผู้สร้างพยายามแสดงให้เห็นว่า หากวันหนึ่งมีผู้ที่ไม่ดีเข้าไปอยู่ในพระพุทธศาสนาแล้วจะเป็นเช่นไร ดังนั้นจึงมีมติอนุญาตให้ฉายความยาว 86 นาทีได้” นายสมบัติ กล่าว

             นายสมบัติ กล่าวต่อว่า สำหรับการพิจารณาครั้งนี้จะอนุญาตให้จัดฉายในชื่อของอาปัติเท่านั้น หากผู้สร้างนำไปจัดฉายโดยใช้ชื่อเรื่องอาบัติ หรือ มีการสับเวอร์ชั่นเก่าเข้ามา จะถือว่ามีความผิดตามกฎหมายภาพยนตร์และวีดิทัศน์มาตรา 77 และ 78 หากผู้ใดนำไปจัดฉายจะมีโทษปรับ 2 แสนถึง 1 ล้านบาท ส่วนผู้จัดสร้างมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 1 แสนบาท ทั้งนี้ยืนยันว่าคณะกรรมการทั้งหมดทำงานตามกฎหมาย มีหลักเกณฑ์ วิธีการเงื่อนไข โดยใช้หลักความรู้และวิจารณญาณในการชมภาพยนตร์ และได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ตามเนื้อเรื่องของอาปัติ และยืนยันว่าไม่ได้มีการขัดแยังกับคณะกรรมการชุดแรกแต่อย่างใด เพราะไม่มีฉากแบบในภาพยนตร์เรื่องอาบัติอีกแล้ว ส่วนตัวเห็นว่าหนังก็แรงจริง แต่ก็สะท้อนให้เห็นบาปบุญคุณโทษ อย่างไรก็ตาม การพิจารณาภาพยนตร์จะกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรให้เป็นบรรทัดฐานเลยคงทำได้ยาก เพราะในพ.ร.บ.ภาพยนตร์จะกำหนดภาพกว้างๆ ไว้เท่านั้น ซึ่งก็ให้คณะกรรมการใช้ดุลยพินิจพิจารณา เพราะหนังไม่มีสูตรสำเร็จจึง ต้องมีการถกเถียงกันเพื่อให้ได้ความเหมาะสมที่สุด