Lifestyle

ย้อนความหลัง'อยุธยา+เปอร์เซีย'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศิลปวัฒนธรรม : ย้อนความหลัง อยุธยา+เปอร์เซีย

          "อิหร่าน" ประเทศในตะวันออกกลางที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยเปลี่ยนชื่อจากประเทศเปอร์เซียมาเป็นอิหร่านเมื่อปี พ.ศ. 2463 (ค.ศ. 1920) และสถาปนาเป็น “สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน” เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2522 ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเปอร์เซียมีมาตั้งแต่โบราณกว่า 400 ปี ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ช่วงปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ. 2133-2148) เมื่อเรือสำเภาบรรทุกสินค้าของ เฉกอะหมัด กูมี และน้องชายคือ มะหะหมัด ซาอิด ได้เข้ามาเทียบท่าที่ป้อมเพชร ตำบลท้ายคู  และในจดหมายเหตุประถมวงศ์สกุลบุนนาค ระบุว่า “เข้ามาตั้งห้างค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุธยาสยามประเทศ เมื่อจุลศักราช 964 ปีขาล จัตวาศก”  ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2145

          จากนั้นชาวเปอร์เซียได้ขยายชุมชนและมีบทบาททางการค้า-การเมืองในกรุงศรีอยุธยามากขึ้น  บางคนดำรงตำแหน่งขุนนางระดับสูง และได้เป็นเจ้าเมืองสำคัญหลายเมือง พร้อมกันนั้น วัฒนธรรมเปอร์เซียก็มีอิทธิพลต่อคนไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในราชสำนักของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เช่น วัฒนธรรมการแต่งกาย อาทิ ฉลองพระองค์ครุยของพระมหากษัตริย์ หรือเสื้อครุยของขุนนางในราชสำนักอยุธยา มีรูปแบบที่สันนิษฐานว่าน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากเสื้อคลุม “Chuga” ที่ใช้ในราชสำนักเปอร์เซีย หรือฉลองพระบาทเชิงงอน เป็นรูปแบบที่มีหลักฐานแน่ชัดว่านำเข้ามาโดยชาวเปอร์เซีย และยังคงเป็นหนึ่งในเครื่องราชกุธภัณฑ์ของพระมหากษัตริย์ไทย 

          โดยมีการสันนิษฐานกันว่าในสมัยสุโขทัยก็น่าจะมีการค้าขายกับเปอร์เซียแล้ว จากข้อความบางตอนในศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่มีคำว่า “ตลาดปสาน” ซึ่งนักปราชญ์ด้านโบราณคดีและภาษาศาสตร์ให้ความเห็นว่ามาจากคำว่า “บอซัร” หรือ “บาซาร์” ที่แปลว่า “ตลาด” และคำว่า “เหรียญ” ที่ไทยและเขมรใช้เรียกเงินตรานั้นก็มาจากคำว่า “เรียล” ซึ่งเป็นภาษาเปอร์เซีย  นอกจากนี้ หลักฐานทางโบราณวัตถุต่างๆ ที่ขุดพบ บ่งบอกว่าพ่อค้าชาวเปอร์เซียเคยติดต่อค้าขายกับอาณาจักรจามปาและลังกาสุกะ ตลอดทั้งหมู่เกาะในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และไทยกับอิหร่านได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 เป็นต้นมา 

          นั่นเองจึงเป็นที่มาให้พ่อเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจัดงาน “อยุธยามรดกโลก เทศกาลความสัมพันธ์อยุธยา-เปอร์เซีย” เพื่อย้อนรำลึกถึงความสัมพันธ์อันยาวนานและแน่นแฟ้นที่มีต่อกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์วัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ประจำกรุงเทพฯ ในการจัดการแสดงด้านศิลปวัฒนธรรมต่างๆ นำคณะนักดนตรี นักแสดงที่มีชื่อเสียง ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญสาธิตงานหัตถกรรมจากประเทศอิหร่านราว 50 คนมาร่วมเป็นครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมทั้งการออกร้านจำหน่ายสินค้าและของที่ระลึกที่ขึ้นชื่อ  อาหารหลากประเภท การจัดแสดงเครื่องแต่งกายของชนเผ่าต่างๆ นิทรรศการประวัติศาสตร์ การท่องเที่ยว ฯลฯ บริเวณลานหน้าหอศิลป์แห่งชาติหรือศาลากลางหลังเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ในวันที่ 22-24 มิถุนายน นี้  ตั้งแต่เวลา 11.00-22.00 น.   

          วิทยา  ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้รายละเอียดว่า ภายในงานจะผสมผสานบรรยากาศของอยุธยาและเปอร์เซียอย่างกลมกลืน โดยมีการแสดงต่างๆ มากมายที่เป็นเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมของทั้งสองชาติ จัดให้แสดงสลับกันไปในแต่ละช่วงเวลา  ซึ่งจะสร้างความตื่นตาตื่นใจแก่นักท่องเที่ยวและผู้มาร่วมงาน  ไฮไลท์ของงานมีทั้งการแสดงแสง เสียง และสื่อผสม ชุด “เฉกอะหมัด ราษฎร์รัฐสัตย์ซื่อถือความภักดี” ที่นำเสนอเรื่องราวของเฉกอะหมัด กุมมี หรือออกญาบวรราชนายก ผู้เป็นต้นตระกูล “บุนนาค” การแสดงดนตรีพื้นเมือง และการแสดงทางวัฒนธรรมประจำชาติของอิหร่าน  พร้อมทั้งการแสดงศิลปวัฒนธรรมของอยุธยา 

          ด้าน มุศฏอฟา นัจญาริยอน ซอเดะห์ ที่ปรึกษาฝ่ายวัฒนธรรม และผู้อำนวยการ ศูนย์วัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งอิหร่าน ประจำกรุงเทพฯ กล่าวว่า เราได้คัดสรรคณะศิลปิน นักแสดง และผู้เชี่ยวชาญการแสดงศิลปวัฒนธรรมและหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงของอิหร่านมาร่วมงานนี้เป็นพิเศษเพื่อให้งานนี้มีคุณค่าและสมบูรณ์แบบในทุกด้าน โดยเตรียมการแสดงที่ ไม่เคยจัดมาก่อนในประเทศไทย เช่น “ซาราคส์” (Sarakhs) ที่เป็นการแสดงเต้นรำแบบพื้นบ้าน ผลงานศิลปหัตถกรรมที่ขึ้นชื่ออย่างพรมเปอร์เซีย เครื่องปั้นและเครื่องเคลือบดินเผา งานแกะสลักไม้ อาหารยอดนิยมของอิหร่านที่จะมีให้ลิ้มรสในงานนี้ คือ “เชโลกะบาบ” (Jhelo Kabab) ด้วย

 

 

--------------------------------------

(ศิลปวัฒนธรรม : ย้อนความหลัง อยุธยา+เปอร์เซีย)

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ