ข่าว

รถไฟความเร็วสูง 2 แสนล้าน คุ้มค่าต่อกลุ่มซีพีแค่ไหน!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ฉบับที่แล้วผมเขียนเรื่อง "ทุกขลาภไฮสปีด 3 สนามบิน/กลุ่มซีพีแบกดอกเบี้ยบานตะไท" ปรากฏว่าหลายคนตั้งคำถามกับผม

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3461 ระหว่างวันที่ 14-17 เม.ย.2561 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

รถไฟความเร็วสูง 2 แสนล้าน

คุ้มค่าต่อกลุ่มซีพีแค่ไหน!

 

            ฉบับที่แล้วผมเขียนเรื่อง “ทุกขลาภไฮสปีด 3 สนามบิน/กลุ่มซีพีแบกดอกเบี้ยบานตะไท” ปรากฏว่าหลายคนตั้งคำถามกับผมดังๆว่า พิลึก ผมคิดผิดแน่ๆ ถ้าเขาขาดทุนขนาดนั้นแล้ว “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์-เจ้าสัวคีรี กาญจนพาสน์” จะชิงประมูลสัมปทานรถไฟความเร็วสูงกันทำไมให้เมื่อยตุ้ม! ผมขอบอกว่า ที่นำเสนอไปนั้นเป็นเรื่องตัวเลขดอกเบี้ยที่เอกชนลงทุนไปก่อน แล้วรัฐบาลมาตั้งงบประมาณเพื่อจ่ายคืนให้เป็นรายปีทีหลังเป็นเวลา 10 ปี จึงได้อธิบายให้เห็นภาระบนบ่าของกลุ่มซีพี กับพันธมิตรที่มาร่วมกันประมูล ซึ่งต้องบอกว่า ผมก็ตั้งข้อสงสัยเช่นกันว่า เห็นต้นทุนขนาดนั้น เห็นรายจ่ายขนาดนั้น ทำไมเจ้าสัวจึงต้องการคว้าเค้กก้อนนี้พร้อมหนี้อันมหาศาลไป...    

            นักการเงินบอกผมว่า...ความแตกต่างของคนจนกับคนรวย อยู่ที่การมองเห็นโอกาส และแง่มุมความคิด และการตัดสินใจ!           

            คนจนมักเห็นอะไรเมื่อเบ่งบานแล้ว แต่ถึงตอนนั้นจะคว้าอะไรไปก็ไม่ได้แล้ว    

            ขณะที่คนรวย เศรษฐี มักเห็นโอกาส และผลตอบแทนที่ซ่อนเร้นอยู่เสมอ!       

            อาจจะเป็นเช่นนั้นจริง! เพราะถึงตอนนี้ผมยังมองอะไรไม่เห็นจริงๆ    

            ผมอาจเหมือนคนอื่นที่เห็นแค่มูลค่าด้านพาณิชย์ของที่ดินมักกะสัน 150 ไร่ แปดริ้ว ศรีราชา ที่จะถูกนำมาพัฒนาขึ้นมาเป็นคอมเพล็กซ์เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่า การเก็บค่าโดยสารในราคาแค่ 80-100 บาท เห็นถึงการเป็นเจ้าของสัมปทานการเดินรถไฟความเร็วสูงที่กินยาวไปถึงลูก หลาน เหลน โหลน เห็นถึงความมุ่งมั่นของเจ้าสัวซีพีและพันธมิตรที่จะสร้างอนุสาวรีย์ในการลงทุนรถไฟความเร็วสูงของประเทศไทยขึ้นมาให้จงได้ 

            ผมไปค้นความเป็นไปได้ของโครงการนี้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดทำขึ้นและมอบให้กับผู้ประมูลโครงการไปใช้ในการตัดสินใจ พบข้อมูลที่น่าสนใจและน่าจะทำให้หลายคนมีมุมมองในเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของกลุ่มซีพีแตกต่างออกไป    

            โครงการไฮสปีดเทรนนี้ใช้เงินลงทุนจริง 224,544 ล้านบาท รัฐประกาศตามมติครม.เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561ว่าจะร่วมลงทุนด้วยเป็นจำนวนเงิน 119,425 ล้านบาท โดยจะตัดจ่ายให้รายปีนับตั้งแต่มีการก่อสร้างเสร็จและเปิดให้บริการเป็นเวลา 10 ปี แต่เอกชนคือกลุ่มซีพีและพันธมิตรเสนอราคาประมูลมาว่าขอให้รัฐจ่ายเงินมาร่วมลงทุนแค่ 117,227 ล้านบาท เพื่อคว้าสัญญาสัมปทานยาว 50 ปี ลำพังจ่ายดอกเบี้ยก็หนักหนาสาหัส

            ใครได้โครงการนี้ไป รัฐจะจ่ายเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายในการเวนคืนที่ดินเพื่อการก่อสร้างและส่งมอบที่ดินให้เป็นจำนวนเงิน 3,570 ล้านบาท     

            รัฐหรือ รฟท.จะรับภาระหนี้โครงสร้างพื้นฐานของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ของ รฟท. ให้เอกชนที่รับแอร์พอร์ตลิงค์ไปบริหารเป็นจำนวนเงิน 22,558 ล้านบาท     

            ในหนังสือข้อแนะนำโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้ศึกษาความเป็นไปได้ทางการเงินเอาไว้ ดังนี้  

            1. ผลตอบแทนทางการเงินของการดำเนินโครงการเกี่ยวกับรถไฟ ระยะเวลา 50 ปี 

            2. ผลตอบแทนทางการเงินของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟและกิจการทางพาณิชย์                      

            3. ผลตอบแทนรวมทั้งโครงการ                   

            4. ผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ของการดำเนินโครงการเกี่ยวกับรถไฟ 

            5. ผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนการบริการและด้านพาณิชย์            

            6. ผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์รวมของโครงการ

 

รถไฟความเร็วสูง 2 แสนล้าน คุ้มค่าต่อกลุ่มซีพีแค่ไหน!

            เห็นข้อมูลทางการเงินที่ทำการศึกษาออกมาและส่งมอบให้ผู้สนใจลงทุนได้เห็นความคุ้มค่าของการลงทุนแล้วคิดเห็นอย่างไรครับ...  

            ผมถึงบอกว่า เป็นทุกขลาภของกลุ่มซีพีและพันธมิตรในการคว้างานนี้ไปแลกกับสัมปทานการเดินรถไฟเป็นเวลา 50 ปี และมีสิทธิในการต่อสัญญายาวไปอีก 50 ปี เพราะถือว่าร่วมทุกข์ร่วมสุข ร่วมสร้างไฮสปีดเทรนกันมา...           

            ใครเห็นอะไรช่วยบอกหน่อย เพื่อจะได้มีมุมมองแบบเศรษฐีบ้างครับ!

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ