ข่าว

พ.ร.บ.ข้าว พิสูจน์! สนช.ฝักถั่ว

พ.ร.บ.ข้าว พิสูจน์! สนช.ฝักถั่ว

15 ก.พ. 2562

เรื่องราวที่แปลกประหลาดใน ช่วงปลายสมัยรัฐบาลนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นต้องบอกว่าเยอะมากๆ

คอลัมน์อยู่บนภู ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 16 ก.พ.2562 โดย...กระบี่เดียวดาย

 

พ.ร.บ.ข้าวตราบาป 'ลุงตู่'

ทุกข์ซ้ำชาวนา

 

          ช่วงปลายสมัยรัฐบาลนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา เต็มไปด้วยเรื่องราวที่แปลกประหลาดเยอะมาก บางเรื่องแปลกประหลาดจนน่ากังวล โดยเฉพาะการเสนอกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ดูเหมือนเร่งรัดรีบร้อนจนน่าวิตก

          ต้องไม่ลืมว่ากฎหมายที่จะออกมามีผลบังคับใช้กับคนทั่วไป ประชาชนทุกคนต้องปฏิบัติตามกรอบกฎหมาย กระบวนการออกกฎหมายจึงต้องรัดกุม รอบคอบ ยุติธรรม ถ่วงดุลสังคม ให้เกิดความสงบเรียบร้อยไม่เอียงข้างเลเพลาดพาดไปทางใดทางหนึ่ง

          เหมือนกับ พ.ร.บ.ข้าวก็เหมือนกัน กฎหมายฉบับนี้ถูกเสนอโดยนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะกับคณะให้กับสนช.ลงมติวาระที่ 1 รับหลักการเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 61

          เจตนาของผู้ร่างต้องการให้กฎหมายฉบับนี้ มีการบริหารจัดการข้าวแบบครบวงจร พัฒนาตั้งแต่ให้ความรู้ ส่งเสริมอาชีพ และไปดูถึงพื้นที่ทำนาที่ไม่เหมาะสม ทั้งนี้หากแบ่งการทำนา จะแบ่งเป็น 2 รอบ รอบละ 4 เดือน รวม 8 เดือน มีเวลาว่างเว้นการทำนา 4 เดือน  ร่างฯฉบับนี้จะมีการส่งเสริม ในช่วงช่องว่างนี้ว่า ชาวนาอยากจะทำอะไร ตามความต้องการไม่บังคับ แต่จะมีการส่งเสริม เช่น หาแหล่งทุน วัสดุต่างๆ  หรือว่าภาคประมง จะเลี้ยงปู เลี้ยงปลา จะมีหน่วยงานเข้าไปดูแลเพื่อเพิ่มรายได้ โดยเจตนาฟังดูดี

          ภายหลังเขียนไปเขียนมาระยะหนึ่ง เสมือนขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่แต่เหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชาซะอย่างนั้น เมื่อกฎหมายเอื้อมไปกดขี่กระทบสิทธิชาวนาเสียเองในบางมาตรา กรณีกำหนดให้พันธุ์ข้าวต้องได้รับการตรวจสอบจากกรมการข้าวและประกาศในราชกิจจานุเบกษาจึงจะจำหน่ายได้ และการจะจำหน่ายได้ต้องเป็นพันธุ์ที่ได้รับการรับรองเท่านั้น

          หลักนี้หลักเดียวสะเทือนไปทั่วท้องทุ่ง ประหนึ่งคนร่างไม่ได้เข้าใจวิถีชีวิตชาวนาเลย ว่าพวกเขาได้พัฒนาพันธุ์ แลกเปลี่ยนพันธุ์ ซื้อขายข้ามทุ่งข้ามถิ่นกันมาเป็นร้อยปี ถ้ากฎหมายนี้ผ่านไปก็จะไปจำกัดสิทธิในการพัฒนาพันธุ์และการค้าขายพันธุ์ของพวกเขาทันที พวกเขาอาจต้องถูกปรับและติดคุก

          โดยรวมแล้วในหมวดนี้กฎหมายให้คณะกรรมการข้าว มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ทั้งการจดทะเบียนและการพักใช้หรือเพิกถอนการจดทะเบียนพันธุ์ข้าว การควบคุมและกำกับพันธุ์ข้าว การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว รวมทั้งการผลิต พัฒนา และกำหนดมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าว และการกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งทั้งหมดนี้มีอยู่ในกฎหมายพ.ร.บ.พันธุ์พืชอยู่แล้ว

          ถัดมากฎหมายยังเขียนไปถึงการลักลอบนำข้าว ข้าวเปลือกให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ยึดและทำลายข้าวดังกล่าว ซึ่งซ้ำซ้อนกับกฎหมายศุลกากรและกฎหมายการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักร

          ร่างกฎหมายยังกำหนดให้ผู้รับซื้อข้าวเปลือก ทั้งโรงสี ผู้รวบรวมข้าว(หยง)ต้องออกใบรับซื้อข้าวและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กำหนด และต้องเก็บหลักฐานไว้เป็นเวลา 5 ปี เข้าใจว่าโดยเจตนาต้องการให้ทราบที่มาที่ไปของข้าวทุกเมล็ด แต่ไม่ทราบจุดหมายปลายทางของข้าวเมื่อต้องไปกองรวมกัน ไม่สามารถแยกได้ว่ามาจากที่นาแปลงใดของใคร    

          การกำหนดลงไปเช่นนี้จึงเป็นการเพิ่มภาระผู้ซื้อข้าวเปลือกสูงขึ้น ต้องทำรายงาน ทำบัญชี เมื่อภาระเพิ่มขึ้น โรงสี หยงก็ต้องผลักภาระไปที่ชาวนาด้วยการกดราคาซื้อเพื่อชดเชยต้นทุนส่วนนี้ สุดท้ายปลายทางชาวนาก็ยังถูกกดราคาอยู่ดี ลดความเหลื่อมล้ำไม่ได้อยู่ดี ขัดกับเจตนารมย์ของการร่างกฎหมายหรือไม่

          มีเพียงประเด็นเดียวที่พอเป็นข้อดีของกฎหมายฉบับนี้อยู่บ้าง เห็นจะเป็นการให้ผู้แทนชาวนาเข้าไปนั่งในคณะกรรมการข้าว หรือคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าว (นบข.) ในยุคนี้ คณะกรรมการข้าวแห่งชาติ (กขช.) ในอดีต ที่ผ่านมามักไม่ค่อยมีผู้แทนชาวนาได้มีโอกาสเข้าไปนั่งในคณะกรรมการนี้ ซึ่งมีอำนาจมากที่สุดในการดูแลข้าวทั้งวงจร

          มือของ สนช. ถูกปรามาสมานานแทบทุกยุคทุกสมัย ว่าเป็นฝักถั่วมาจากการแต่งตั้ง ร่างอะไรมา เขียนอะไรขึ้นก็แล้วแต่มักจะผ่านๆๆโดยง่ายดาย

          เที่ยวนี้ทั้ง สนช.ทั้งสภาและพล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อาจจะต้องลงไปกำกับดูแลด้วยตัวเอง อย่าปล่อยให้ร่าง พ.ร.บ. ข้าวที่กำลังเข้าสู่วาระ 2-3 ในสัปดาห์หน้าผ่านออกมาบังคับใช้

          ชาวนาพวกเขาเจ็บปวดมามากแล้วกับโครงการจำนำข้าวอื้อฉาวฉ้อฉลจากหยาดเหงื่อแรงกายของพวกเขา 

          ลุงตู่ อย่าไปสร้างตราบาปและทุกข์ซ้ำให้กับชาวนาอีกเลย!!!